COLUMNISTS

เรียนรู้จาก ‘The Great Hack’ กับปริศนา ‘คนไทยถูกปั่นหัวตั้งแต่ยุคต้มยำกุ้ง?’

Avatar photo
4809

เมื่อไม่นานมานี้มีโอกาสได้ดู The Great Hack ภาพยนตร์สารคดีจากเน็ตฟลิกซ์ ที่พยายามตีแผ่ความน่ากลัวของโลกโซเชียล ที่เราอาจรู้สึกแต่ไม่ทันรู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวแต่ไม่ตื่นตัวมากพอที่จะตระหนักถึงอันตรายจากเทคโนโลยี จนขาดความระมัดระวังในการนำเข้าระบบออนไลน์ต่างๆ ทั้งข้อมูลส่วนตัว ตลอดจนพฤติกรรมขณะใช้
แอปพลิเคชันว่า ทุกข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีของเรา มีทั้งสายตา และ หูที่มองไม่เห็นคอยจับจ้อง อิงแอบแนบฟังอยู่ตลอดเวลา แลุะสามารถดูดไปใช้ประโยชน์ในทางธุรกิจเพื่อขายข้อมูลแก่ลูกค้า โดยที่เราไม่ได้ยินยอม

The Great Hack

ตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราสนใจเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำ แค่เริ่มคีย์คำๆ นี้ลงไปในกูเกิล หรือแม้กระทั่งแค่เอ่ยปากกับเพื่อนในวงสนทนา เพียงไม่กี่นาทีต่อจากนั้นก็จะมีโฆษณาเครื่องกรองน้ำโผล่มาให้เห็นทั้งในเฟซบุ๊ก และยูทูบ เนื่องจาก ปัญญาประดิษฐ์  หรือเอไอ (AI : Artificial Intelligence) จะวิเคราะห์พฤติกรรม และนำโฆษณาที่เกี่ยวข้องมาแสดงบนหน้าฟีดของเรา

ก่อนที่จะดูสารคดีเรื่องนี้ก็ไม่ทันคิดอย่างจริงจังมากนัก เพราะบางครั้งเราก็พร้อมที่จะบดบังสติปัญญาของเราไปกับความสะดวกสบายที่โดนใจแบบไม่คาดฝัน จนลืมเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และความน่ากลัวของการจารกรรมข้อมูล ที่นำไปสู่อาชญากรรมทางสิทธิทางข้อมูล ที่มีผลต่อพฤติกรรมการเมืองของเราไปเสียสนิท

The Great Hack  สร้างขึ้นจากเรื่องจริงว่าด้วยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผ่านเฟซบุ๊ก  ของบริษัท เคมบริดจ์ อะนาไลติกา (ซีเอ) ที่ใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้ง จนทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ และกลายเป็นคดีอื้อฉาวที่สะเทือนถึงธรรมาภิบาลในการประกอบธุรกิจของเฟซบุ๊ก จนคณะกรรมการการค้ายุติธรรม หรือ Federal Trade Commission มีคำสั่งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้เฟซบุ๊กจ่ายค่าปรับราว 5,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.5 แสนล้านบาทด้วยข้อหา “ปล่อยให้ข้อมูลผู้ใช้กว่า 50 ล้านคนถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต”

สารคดีเรื่องนี้เปิดฉากให้เห็นถึงการตั้งข้อสังเกตของตัวเดินเรื่องคือ เดวิด คาร์โรล นักวิชาการที่ฟ้องร้องเคมบริดจ์ อะนาไลติกา เกี่ยวกับโฆษณาที่ยิงตรงมาแบบโดนใจเราอย่างประหลาด ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่ากำลังมีการดักฟังเกิดขึ้นหรือไม่ และที่น่าตกใจคือการดักฟังนั้น เกิดจากเครื่องมือสื่อสารที่ใกล้ตัวเราที่สุดคือ “ไมโครโฟนในโทรศัพท์มือถือของเรานี่เอง”

“ใครเคยเห็นโฆษณาที่ทำให้คุณเชื่อว่า ไมโครโฟนในโทรศัพท์ของคุณกำลังฟังการสนทนาของคุณอยู่” เป็นคำถามที่ตัวเดินเรื่องหลักถามกับนักศึกษา ผลที่ได้รับคือนักศึกษาในห้องเกือบทั้งหมดยกมือ ตามด้วยการสรุปที่ว่า “พฤติกรรมของเราถูกคาดเดาได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ฉะนั้นพวกโฆษณาที่เหมือนจะตรงใจเราอย่างประหลาดที่จะต้องแอบฟังพวกเราอยู่ เป็นเหมือนหลักฐานมากกว่าที่บอกว่าการเลือกกลุ่มเป้าหมายได้ผล และมันคาดเดาพฤติกรรมของเรา” ก่อนจะทิ้งท้ายในช่วงต้นด้วยท่าทีไม่ยี่หระของนักศึกษาสาวรายหนึ่งที่บอกว่า

“อาจเป็นเพราะฉันโตมากับอินเทอร์เน็ตที่เป็นเหมือนโลกแห่งความจริง พวกโฆษณาเลยไม่ได้รบกวนฉันขนาดนั้น มันเป็นปัญหาตั้งแต่เมื่อไหร่คะ”

เป็นคำพูดที่น่าจะอยู่ในความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ยังมองไม่ออกถึงความร้ายแรง จากการฉกฉวยข้อมูลผ่านโลกโซเชียลไปใช้ประโยชน์ ทั้งในทางอุตสาหกรรม และธุรกิจเลือกตั้ง ที่นำไปสู่อำนาจทางการเมือง

social footprint anshullabs e1484130272837 1024x645

ไม่เพียงแต่จะหาเงินค้ากำไรได้จากร่องรอยทางดิจิทัลที่เราทิ้งไว้ในโลกอินเทอร์เน็ตมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ต่อปีเท่านั้น แต่ยังถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางการเมือง ด้วยการเข้าบงการความคิด นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมทั้งในชีวิตประจำวัน และการเมือง ผ่านการลักลอบนำข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลพื้นที่ ที่อยู่ และพฤติกรรมการเสพข่าวสาร รวมถึงการออกแบบสำรวจบุคลิกภาพ มาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนก่อนการเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับการผลิตข่าวปลอม (Fake News) ใส่ลงในระบบและเผยแพร่ไปยังกลุ่มคนที่ยังไม่ตัดสินใจ ด้วยการนำ “จิตวิทยาพฤติกรรม ข้อมูลขนาดใหญ่ และเป้าหมายที่ต้องการ” มาวิเคราะห์แล้วเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมของเป้าหมายให้เชื่อตามที่กลุ่มลูกค้าต้องการ (Behavioral Psychology + Big Data + Targeted Engagement = Behavior Change)

กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2559 ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้านการเมือง แทรกแซงพฤติกรรม ส่วนตัวของบุคคลที่เชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ และผลิตข่าวปลอมโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพื่อพลิกผลการเลือกตั้ง จนเกิดเป็นคดีความทำให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กต้องชี้แจงต่อสภาคองเกรส

“โลกแห่งความเป็นจริงกลายเป็นซากปรักหักพังที่ถูกแบ่งแยก” เป็นอีกวรรคทองสำคัญในหนังเรื่องนี้ ที่สะท้อนถึงความน่ากลัวของข่าวปลอม ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่งในโลก แต่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย ที่เผชิญกับข่าวปลอมอย่างรุนแรง มาตั้งแต่ยุครัฐบาลชวน 2 ที่เข้าไปบริหารประเทศเพื่อฟื้นเศรษฐกิจจากวิกฤติต้มยำกุ้ง

ในช่วงเวลานั้นมีสารพัดข่าวเท็จใส่ความรัฐบาลประชาธิปัตย์ อาทิ เป็นผู้กู้เงินจากไอเอ็มเอฟ เกิดการทุจริตมโหฬารจากการประมูลขายทรัพย์สินของปรส. ซึ่งผู้เขียนได้พบความจริงระหว่างการสืบค้นข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อตีแผ่ข้อมูลอีกด้านผ่าน พ็อคเก็ตบุ๊กชื่อ “วิกฤติต้มยำกุ้ง ความจริงไม่อิงวาทกรรม” ซึ่งพยายามจะเขียนให้เสร็จเร็วๆ นี้ว่า มีข้อมูลเท็จเต็มไปหมดอยู่ในโลกโซเชียล จึงไม่น่าแปลกใจที่คนใช้อินเทอร์เน็ตจะหลงเชื่อว่าความเท็จเป็นเรื่องจริง

ช่วงเวลาที่ค้นข้อมูลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผู้เขียนในขณะนั้นเชื่อโดยสนิทใจว่า มีการทำเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ ผ่านการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่า ต้องการตั้งประเด็นไหนให้คนหลงเชื่อ คล้อยตาม จนในที่สุดก็เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเลือกตั้งของประชาชน นำไปสู่ชัยชนะของพรรคไทยรักไทย และทักษิณ ชินวัตร ได้ผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ

ในช่วงกลาง ๆ ของสารคดีเรื่องนี้ ทำให้เกิดปริศนาชวนคิดว่า คนไทยถูกปั่นหัวอย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นยุทธวิธีเดียวกับที่ทำให้โดนัล ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี มาก่อนคนอเมริกันหรือไม่ เพราะปรากฏภาพ ชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีพร้อมระบุปี 2540 ในช่วงที่มีการบรรยายว่าเคมบริดจ์ อะนาไลติกา ใช้หลักการนำสงครามข้อมูลข่าวสารมาใช้ในสนามเลือกตั้ง มาทำแคมเปญในหลายประเทศที่กำลังพัฒนา พร้อมระบุชัดเจนว่า “ทั้งหมดเป็นการฝึกใช้เทคโนโลยีใหม่หรือกลลวง วิธีการโน้มน้าวผู้คน วิธีการปราบหรือเพิ่มผู้ชุมนุม” ซึ่งไทยก็รวมอยู่ในนั้นด้วย

ทำให้เกิดคำถามในใจว่า ร่องรอยจากข้อมูลเท็จที่ปล่อยอย่างเป็นระบบทั้งในโลกออนไลน์ และการพูดเท็จผลิตซ้ำช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง คือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่เคมบริดจ์ อะนาไลติกา เข้ามามีบทบาทวางแผนให้ใครหรือไม่ มีอะไรเกี่ยวพันกับชัยชนะทางการเมืองหลังจากนั้นหรือเปล่า เพราะเป็นที่รับทราบกันดีว่า ไทยรักไทยที่ใช้การตลาดนำการเมือง จนประสบความสำเร็จ มีที่ปรึกษาสำคัญเป็นชาวต่างชาติ ปริศนาเรื่องนี้ คนที่ให้คำตอบดีที่สุดคือ ทักษิณ

thumbnail fake news
ภาพ : .abs-cbn.com

สำหรับการเลือกตั้งของไทยเมื่อช่วงต้นปี ก็เต็มไปด้วยสงครามข้อมูลข่าวสาร และน่าจะเป็นช่วงที่มีการเผยแพร่ข่าวปลอมมากที่สุดอีกช่วงเวลาหนึ่ง ด้วยการใช้ปฏิบัติการสารสนเทศ (IO : Information Operation) สร้างบางพรรคให้เติบโตอย่างรวดเร็ว และยังคงเดินหน้าด้วยกลยุทธ์ลับเดิม ๆ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ดาบอีกคมหนึ่งของปฏิบัติการแบบนี้คือ บางทีคนทำอาจหลงไปกับ IO ของตัวเอง จนทำให้สูญเสียการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลไปแบบไม่ทันรู้ตัวได้ด้วยเช่นเดียวกัน หากปราศจากความระมัดระวังและการตักเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา

เกมเปิดศึกเพื่อชิงอำนาจทั้งในปัจจุบันและอนาคต จึงเคลื่อนตัวสู่โลกโซเชียล และกำลังขยายตัวเป็นการทำสงครามข้อมูลข่าวสารกันอย่างเข้มข้น ใครเข้าถึง เข้าใจ พฤติกรรมของผู้คนในโลกโซเชียลได้มากกว่า ก็มีสิทธิกำชัยชนะเหนือคู่แข่งได้ไม่ยากนัก โดยที่ประชาชนอาจไม่รู้ตัวเลยว่า ที่คิดว่าเขาพูดถูกใจ ไม่ใช่เพราะเขาคิดได้เอง แต่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบถึงความต้องการของประชาชน จนกลั่นกรองไปเป็นคำพูดที่โดนใจต่างหาก

วินาทีที่เรากำลังนั่งเล่นเฟซบุ๊กกันอยู่นี้ อาจมีคนบางกลุ่ม บางบริษัทนำข้อมูลของเราไปขายทำกำไร เพื่อใช้ประโยชน์ทางธุรกิจเลือกตั้งในอนาคตแล้วก็ได้ และสิ่งที่เราเห็นในโลกออนไลน์อาจไม่ได้มาจากความบังเอิญ แต่อาจเป็นความภูมิใจของบางฝ่าย บางพวก ที่พยายามอัดข้อมูลข่าวสารเท็จ เพื่อโน้มน้าวความสนใจ บงการความคิดจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่คนเหล่านั้นต้องการ

การใช้เทคโนโลยีเพื่อแทรกแซงประชาธิปไตยในอนาคต อาจจะน่ากลัวจนใช้คำว่า “ขนหัวลุก” ก็ยังไม่พอ