COLUMNISTS

‘ไม่มีเวลา’ หรือ ‘ไม่บริหารเวลา’ กันแน่

Avatar photo
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
1389

ปาลาชหนุ่มใหญ่วัยกลางคนบินมาจากอินเดียพร้อมกับสุนัขคู่ใจสายพันธุ์บีเกิ้ล เพื่อเข้าร่วมประกวดสุนัขสวยงามระดับนานาชาติ ที่อิมแพค เมืองทองธานีเมื่อกลางปีที่ผ่านมา นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเขา ถ้านับเฉพาะในอินเดีย เขาเดินทางมาแล้วเกือบทุกรัฐที่มีการจัดงานประกวดสุนัข สิ่งที่บ่งบอกว่าเขาเป็นคนคลั่งไคล้สุนัขอย่างสุดๆ คือการส่งสุนัขที่เขาเพาะพันธุ์เข้าประกวด จนได้ตำแหน่งสุนัขบีเกิ้ลอันดับหนึ่งของประเทศอินเดียติดต่อกันมาแล้ว 2 ปีซ้อน

time 731110 340

สิ่งที่ผมสงสัยคือ เขาเอาเวลาที่ไหนมาทำกิจกรรมเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่เขามีงานประจำต้องทำ มีลูกน้องเกือบ 500 คนต้องดูแล และเป็นเจ้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม มีออฟฟิศอยู่ที่เมืองชัมเศทปุระ รัฐฌารขัณฑ์

ผมเลยถามเขาไปตรงๆ ว่า งานไหนคืองานประจำกันแน่ ระหว่างงานประกวดสุนัขกับงานที่บริษัท ปาลาชตอบว่า ไม่สำคัญหรอกว่างานไหนคืองานประจำหรืองานไหนคืองานอดิเรก เพราะเขาให้ความสำคัญทั้งสองอย่างเท่ากัน งานที่บริษัทมีผลตอบแทนเป็นรายได้ให้ความสุขทางกาย ส่วนงานอดิเรกมีผลตอบแทนเป็นความสุขทางใจ เขาทำทั้งสองอย่างได้อย่างไร้ปัญหา เพราะรู้จักใช้เวลาให้เป็น

ปาลาชบอกว่าเขามีหลัก 3 ประการในการบริหารเวลา คือ อย่าทิ้งเศษเวลา หาไพรม์ไทม์ให้เจอ ไม่เผลอติดเวลาแห่งความรู้สึก

อย่าทิ้งเศษเวลา

ปาลาชบอกว่าเขาไม่เคยทิ้งเศษเวลาให้สูญเปล่า ถ้าเอาเศษเวลาในแต่ละวันมารวมกันครบหนึ่งสัปดาห์ ก็เกือบเท่ากับเวลาบินจากนิวเดลีไปวอชิงตันดีซีเลยทีเดียว เวลาที่เสียไประหว่างรอประชุม รอพบลูกค้า รออาหารมื้อกลางวัน รอคิวตัดผม รอลูกที่โรงเรียน รอภรรยาซื้อของ เวลาเหล่านี้แหละที่เขาเรียกว่า “เศษเวลา” ปาลาชจะใช้เวลาช่วงนี้ในการเช็คอีเมล โทรสั่งงานลูกน้อง นัดหมายลูกค้า และอ่านรายงานการต่างๆ เขาทำจนเป็นนิสัย และพบว่า เวลาในชีวิตเพิ่มขึ้น

หาไพรม์ไทม์ให้เจอ

ปาลาชจะไม่ยอมให้ใครมาขโมยไพรม์ไทม์ของเขาเด็ดขาด ไพรม์ไทม์ในวงการโทรทัศน์ของไทยคือหลังสองทุ่มจนถึงสี่ทุ่มครึ่ง คือ ชั่วโมงทองที่สถานีหวังสร้างรายได้จากโฆษณา ปาลาชเองก็มีชั่วโมงทองของตัวเองเช่นกัน เขาไม่ได้หวังรายได้ แต่เขาหวังจะได้สมาธิ ดังนั้นเขาจะไม่อนุญาตให้ใครเข้ามายุ่งย่ามในช่วงเจ็ดโมงถึงแปดโมงเช้า ประตูห้องและอุปกรณ์สื่อสารจะถูกปิด เพราะเป็นช่วงที่เขาต้องการโฟกัสเพื่อวางแผน และกำหนดกลยุทธ์ว่า วันนี้ต้องทำอะไรและมีอะไรบ้างที่จะไม่ทำ ปาลาชบอกว่าทุกคนมีไพรม์ไทม์ของตัวเอง หาให้เจอ และติดป้าย Do Not Disturb เอาไว้ เพื่อใช้เวลาช่วงนั้นให้เต็มที่

1 n6bJOKQEaDwLw7maS4DXAQ

ไม่เผลอติดเวลาแห่งความรู้สึก

ปาลาชเตือนตัวเองเสมอว่าอย่าติดเวลาแห่งความรู้สึก เวลาตามนาฬิกากับเวลาแห่งความรู้สึกไม่เหมือนกัน คนส่วนใหญ่เมื่อได้ทำในสิ่งที่ชอบ มักจะบ่นว่าเวลาน้อยไป แต่ถ้าต้องทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ มักจะบ่นว่าเวลานานไป เหมือนกับที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เปรียบเทียบไว้อย่างชัดเจนว่า “การเอามือไปวางไว้บนเตาร้อนๆ แค่ 1 นาที ให้ความรู้สึกแสนทรมานเหมือน 1 ชั่วโมง แต่ถ้าได้นั่งคุยกับสาวสวยนาน 1 ชั่วโมง กลับรู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปเพียง 1 นาที” ดังนั้นหากเราเผลอใช้เวลาไปทำในสิ่งที่เราชอบแต่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น เล่นเฟซบุ๊ก ดูยูทูบ หรือตั้งวงเม้าท์คนอื่น เราจะหมดเวลาไปโดยไม่รู้ตัว

ปาลาชให้แง่คิดทิ้งท้ายไว้ว่า การบริหารเวลาเป็นเรื่องของนิสัย ถ้าเราทำเป็นประจำ เวลาจะอยู่ภายใต้การควบคุมของเรา แต่ถ้าเราไม่บริหารมัน มันจะบริหารเรา และเรามักจะอ้างว่า “ฉันไม่มีเวลา” ซึ่งความจริงคือ “ฉันไม่บริหารเวลา” ต่างหาก