COLUMNISTS

การตายของ ‘มาเรียม’ อาจนำไปสู่ความตายของคุณในอนาคต

Avatar photo
28482

เรื่องของ “มาเรียม” พะยูนน้อยกำพร้าแม่ แสนน่ารัก ที่เป็นขวัญใจคนไทยได้แค่ช่วงสั้นๆ ไม่กี่เดือน แต่ต้องมาตายด้วย “ถุงพลาสติก” ไม่ได้นำมาซึ่งความโศกเศร้าของคนไทยเท่านั้น แต่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก หลังพระเอกหนุ่มฮอลลีวูดชื่อดัง ลีโอนาร์โด ดิคาปรีโอ โพสต์ภาพ “มาเรียม”ที่ถ่ายโดย ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพชาวไทยลงในอินสตาแกรมส่วนตัว และยังแชร์ข้อความจากวอชิงตันโพสต์ ที่รายงานเกี่ยวกับสาเหตุการเสียชีวิตของมาเรียมว่ามาจากชิ้นส่วนพลาสติกอุดตันในลำไส้จนทำให้ลำไส้อักเสบ นำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือด กระทั่งช็อคและจากไปในที่สุด

107284385 sin3165

สิ่งที่เกิดขึ้นกับมาเรียมสะท้อนถึงปัญหาขยะว่ากำลังเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลมากกว่าที่ใคร ๆ จะคาดถึง และการทิ้งขยะไม่เป็นที่ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของคนมักง่าย แต่รุนแรงถึงขนาดเรียกได้ว่า ทิ้งขยะไม่เป็นที่ก็ไม่แตกต่างจากฆาตกรที่นำความตายไปสู่สัตว์ที่ไร้เดียงสา และกำลังเป็นภัยเงียบที่ย้อนกลับมาสู่มนุษย์โดยที่เราไม่ทันรู้ตัวด้วย

จากข้อมูลในบทความ “ขยะ” ระเบิดเวลาสิ่งแวดล้อม ของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุว่า มีการประมาณการว่าภายในปี 2568 มหาสมุทรจะมีปริมาณขยะพลาสติก 1 ตันต่อปริมาณปลาทะเล 3 ตัน ซึ่งขยะเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศตลอดจนห่วงโซ่อาหารทั้งมหาสมุทรทั่วโลกอย่างมหาศาล ที่น่าตกใจคือประเทศไทยเป็นประเทศอันดับที่ 5 ในการปล่อยขยะลงมหาสมุทรมากที่สุดในโลก

ในบทความชิ้นเดียวกันยังระบุด้วยว่าในปี 2593 ขยะจะมีมากกว่าปลาในมหาสมุทร และมีการอ้างถึงการแบ่งสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายากของดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ขณะที่ดำรงตำแหน่งผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลไว้ว่า โลมาและวาฬกินขยะร้อยละ 60 ส่วนเต่าพบปัญหาขยะในทะเลติดพันขาและลำตัวสูงถึงร้อยละ 70 โดยภัยร้ายที่สะสมในระบบนิเวศทางทะเลคือ พลาสติกขนาดจิ๋ว หรือไมโครพลาสติก ซึ่งในบทความนี้ชี้ว่า พบไมโครพลาสติกในกระเาพของสัตว์น้ำหลายชนิด อาทิ ปลา หอย เต่า แมวน้ำ เม่นทะเล ไส้เดือนทะเล เป็นต้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดกับสัตว์ทะเลเท่านั้น แต่รวมถึงมนุษย์ที่บริโภคสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนสารพิษจากขยะด้วย จึงถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องหันมาตระหนักถึงการจัดการปัญหาขยะอย่างเป็นระบบ

จากสถิติของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุไว้ว่า “ถุงพลาสติก” มีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 คิดเป็นร้อยละ 16.35 ของขยะในทะเลไทยทั้งหมด รองลงมาคือกล่องโฟมใส่อาหาร , ห่อหรือถุงอาหาร , ถุงก๊อบแก๊บ และขวดแก้ว และส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งหนึ่ง ล้วนเป็นขยะที่มีส่วนประกอบจากพลาสติกที่ย่อยสลายยากทั้งสิ้น ขณะที่ขยะในทะเลไทยมีมากกว่า 11 ล้านตันต่อปี แม้จะมีพื้นที่ทะเลไม่เยอะเหมือนกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งย้ำเตือนว่าทางการไทยจะนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ต้องผลักดันเรื่องนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” บนหลักคิดว่าทำอย่างไรที่จะมีการกำจัดขยะอย่างถูกต้องและนำไปรีไซเคิลเพื่อกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด

S 25739272

แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างถูกต้อง คือการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วย “โรงงานไฟฟ้าขยะ” ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558 – 2579 โดยเข้าใจว่าหลายฝ่ายคงคาดหวังให้เป็นเหมือนประเทศสวีเดน ที่จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพจนต้องนำเข้าขยะจากต่างประเทศมาเป็นพลังงาน

แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ ประชาชนไม่ไว้วางใจโรงงานไฟฟ้าขยะ มีการต่อต้านหลายพื้นที่ เพราะมีโอกาสส่งผลกระทบมลพิษต่อพื้นที่จริง จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องสำรวจผลกระทบและให้โรงงานไฟฟ้าขยะทุกแห่งจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA) รวมถึงกำหนดผังพื้นที่โรงงานไฟฟ้าให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด เพราะหากสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชนไม่ได้ โรงไฟฟ้าขยะก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นจริง

ส่วนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะขึ้นค่าธรรมเนียมเก็บขน-กำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลจาก 20 บาท เป็น 80 บาทต่อเดือน เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ โดยให้เหตุผลเพื่อดูแลพนักงานและปรับปรุงระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อจัดการยานพาหนะขนขยะที่ทันสมัยขึ้น เพิ่มความถี่ในการเก็บขยะให้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะกำจัดขยะได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพหรือไม่

การจัดการปัญหาขยะในทะเล ต้องเริ่มจากต้นทางด้วยการสร้างจิตสำนึกคนไทยให้หันมาตระหนักถึงปัญหาขยะมากขึ้น เพราะความจริงแล้วขยะในทะเลส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดในทะเล แต่เป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์บนบก ทิ้งลงแม่น้ำ สุดท้ายไหลลงทะเลทั้งสิ้น หากจัดการที่มนุษย์ด้วยกันได้ ช่วยลดขยะ แยกขยะให้เป็นที่ ก็จะทำให้การจัดการปัญหาขยะในรูปแบบอื่นๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินโครงการ “มาเรียมโปรเจกต์” เพื่อใช้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะ รณรงค์ ลด ละ เลิก ใช้พลาสติก จึงถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ดี แต่ต้องควบคู่ไปกับการจัดการปัญหาขยะรูปแบบอื่นๆด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุมเข้มตรวจสอบสถานที่ท่องเที่ยวตามเกาะต่าง ๆ ว่ามีการบริหารจัดการขยะอย่างไร เพราะหลายพื้นที่มักง่ายแอบทิ้งขยะลงทะเล จึงต้องมีมาตรการจัดการที่เคร่งครัด และเอาจริงเอาจัง มากกว่าแค่การรณรงค์สร้างจิตสำนึก แต่ต้องมีบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่มักง่ายทำลายสิ่งแวดล้อม จนลืมไปว่าสุดท้ายความมักง่ายนั้นจะกลับมาทำลายตัวเอง

qwe 4

เรื่องของขยะในทะเลไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังถือเป็นปัญหาของภูมิภาคด้วย เพราะมีอาณาเขตเชื่อมต่อหลายประเทศ ขยะที่เห็นกันอยู่อาจจะลอยมาจากประเทศอื่นวนกันไปมา ขยะบ้านเราอาจไปเกยฝั่งประเทศอื่น ขยะประเทศอื่นอาจเกยมาฝั่งบ้านเราก็มีจำนวนมาก จึงต้องยกระดับให้มีความร่วมมือในระดับภูมิภาค ต้องกำหนดให้เป็น “วาระแห่งอาเซียน” เพื่อวางแผนการจัดการขยะร่วมกันทั้งบนบกและในทะเล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาไทย ยกขึ้นมาระหว่างกล่าวเปิดประชุมสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ด้วย และอาเซียนเองก็เริ่มจริงจังเกี่ยวกับการแก้ปัญหานี้ หลังจากการประชุมการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN Confererence on Reducing Marine Debris in ASEAN region) เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

คำกล่าวที่ว่า “แค่ทิ้งขยะคนละชิ้น มหาสมุทรก็สิ้นแล้ว” จากคำนิยามที่คุณอรยุพา สังขะมาน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ระบุไว้ในการเอ่ยถึงสถานการณ์ขยะในแผ่นพับสถานการณ์ป่าไม้ไทยประจำปี  2559-2560 เป็นการย้ำเตือนไม่ให้มองข้ามภัยร้ายจากขยะ ซึ่งส่วนตัวแล้วคิดว่า ขยะไม่เพียงแต่จะทำให้มหาสมุทรสูญสิ้น แต่มนุษย์ซึ่งอยู่ชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหารจะได้รับอันตรายจากภัยที่ตัวเองเป็นผู้สร้างด้วย