COLUMNISTS

เช็คด่วน!! 5 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับสุขภาพ

Avatar photo
Longevity Inspirationist ผู้เชี่ยวชาญสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการรักสุขภาพ
13096

เช้านี้ จั่วหัวข้อแบบตรงไปตรงมา ตรงประเด็น ไม่มีอ้อมค้อม ยุคนี้ เป็นยุคที่คนใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น เป็นยุคของ IOT ที่ข้อมูลข่าวสารที่เสพผ่านจากหลายช่องทาง จริงบ้าง (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ซึ่งบางครั้งเราเอง ก็ไม่เคยคิดจะไปหาข้อเท็จจริง แถมยังกระซิบบอกต่อ ๆ กันจนกลายเป็นความเชื่อที่ผิด ๆ ไป ความเข้าใจผิด เรื่องสุขภาพ มั่นใจได้เลยว่า คุณผู้อ่านหลายท่านอาจเคยเชื่อมาแล้ว จนทุกวันนี้ เริ่มมีกระแสท้วงกันแล้วว่า “ต้องชัวร์ ก่อนแชร์” นะ วันก่อนดิฉัน ได้อ่านบทความของท่าน รศ.ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ ท่านได้กล่าวและยกตัวอย่างมากมาย เกี่ยวกับ ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ อย่างน่าสนใจทีเดียว วันนี้ ขออนุญาตหยิบมาแชร์สัก 5 เรื่อง เผื่อเป็นประโยชน์เกร็ดความรู้ (จากความที่เชื่อมานาน เพิ่งมาทราบวันนี้เองว่า ไม่ใช่อย่างที่เชื่อ)

0883B1C5 AB7E 4CD5 8900 ACC01E164B05

1. ความเชื่อผิด ๆ : มังคุดนึ่ง รักษามะเร็ง

ความจริง : แม้จะมีงานวิจัยว่า สารแซนโนที่อยู่ในเปลือกมังคุด ช่วยต้านอนุมุลอิสระ ต่อต้านการอักเสบ ต่อต้านมะเร็ง แต่สารแซนโทน เป็นสารไม่ละลายน้ำ การนำมังคุดไปนึ่งไม่ได้ทำให้สารแซนโทนออกมาอยู่ในเนื้อมังคุด การสกัดสารแซนโทน จากเปลือกมังคุด ยังต้องใช้วิธีการผลิตโดยเฉพาะ ปัจจุบัน ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ผลิตจากเปลือกมังคุดที่ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นยาสำหรับมะเร็ง

ในทางตรงกันข้าม เปลือกมังคุด มีสารกลุ่มแทนนิน การนำมังคุดไปนึ่งอาจทำให้สารแทนนิน ซึ่งละลายน้ำได้ ซึมเข้าสู่เนื้อมังคุด เมื่อรับประทานเข้าไปมาก ๆ อาจทำให้ท้องผูก สะสมในตับและไตได้ การรับประทานมังคุดให้ได้ประโยชน์ ควรรับประทานผล สด ไม่เกินวันละ 4 – 5 ผล เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินไป

7A773727 121E 46FE 8100 C8CD9396375A

2. ความเชื่อผิด ๆ : ห้ามทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปดิบๆ เพราะเมื่อเข้าไปในท้องจะพอง และไปดูดน้ำจากส่วนต่างๆ ของร่างกายจนเกิดอาการขาดน้ำ อาจเกิดภาวะช๊อค

ความจริง : บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถทานดิบได้ ไม่ผิด ไม่แตกต่างกับการกินแป้งเข้าร่างกาย จะทำให้อิ่มนาน – ท้องอืด เพราะใช้เวลาย่อยค่อนข้างนานมากขึ้นกว่าที่ต้มแล้ว และไม่ได้จะดูดน้ำจากร่างกายจนเกิดภาวะขาดน้ำอย่างที่อ้าง แต่ไม่ควรทานเกินวันละ 1 – 2 ซอง เพราะมีปริมาณของโซเดียมสูงต่อหนึ่งซอง จากการใส่เครื่องปรุงรส ทั้งในน้ำซุป และซองเครื่องปรุง มีค่าสูงถึงประมาณ 50 % ของปริมาณโซเดียมที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน และควรทานโดยใส่เนื้อสัตว์ ไข่ หรือ ผักลงไปด้วย เพื่อเพิ่มคุณค่าทางอาหารมากขึ้น

3BC9727B 6209 4A6B 9D1A 869B14346365

3. ความเชื่อผิด ๆ : ทานอาหารที่อุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ทำให้เกิดมะเร็ง

ความจริง : การใช้เตาไมโครเวฟอุ่นอาหาร ช่วยลดการสูญเสียวิตามิน และสารอาหารหลายอย่างได้ดีกว่าการต้มด้วยน้ำร้อน หรือ ปิ้ง ย่าง เสียด้วยซ้ำ คลื่นไมโครเวฟ เป็นแค่คลื่นวิทยุ หรือ คลื่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะวิ่งผ่านตัวของอาหารไป ไม่ได้เป็นสารกัมมันตรังสี ที่จะตกค้างในอาหารให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค

6A78597B D777 4ADE B819 7EA05D9A80BB

4. ความเชื่อผิด ๆ : ดื่มน้ำมะตูม + ใบยอ น้ำข้าว + ไข่ขาว รักษาโรคไต

ความจริง : ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น แถมมีอาการหนักขึ้นอีก “ใบยอ” เป็นพืชที่มีฟอสฟอรัสสูง และเป็นแร่ธาตุที่คนเป็นโรคไตต้องระวังให้มาก ไม่แพ้ธาตุโพแทสเซียม และ แคลเซียม เนื่องจากไต ไม่สามารถขับแต่ธาตุดังกล่าวได้ปกติ ส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของแร่ธาตุในเลือดเพิ่มสูง นำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่น เช่น กระดูกพรุน ดังนั้นการนำใบยอมาต้มกับ “มะตูมแห้ง” ดื่มเพื่อรักษาอาการไตเสื่อม ไม่พบงานวิจัยว่า พืช 2 ชนิดใช้รักษาโรคไตได้

ด้าน “น้ำข้าวร้อน และ ไข่ขาว” รักษาโรคไตไม่ได้เช่นกัน ยกเว้น คนไข้โรคไตบางคน ที่มีไข่ขาวรั่วในปัสสาวะ แพทย์ถึงจะแนะนำให้ทานไข่ขาว เพื่อทดแทนที่สูญเสียไป ปัจจุบันยังไม่มีอาหารหรือ สมุนไพรอะไรที่บำรุงไตโดยตรง ดังนั้น คนเป็นโรคไต ต้องระวังไม่ทานเนื้อสัตว์มาก ไม่ทานเค็มจัด หรือ หวานจัดเกินไป ลดอาหารที่มีไขมันสูง และแนะนำควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

7838C935 C903 403F A1C0 3302FCECA081

5. ความเชื่อผิด ๆ : ดื่มน้ำมะนาว รักษามะเร็ง

ความจริง : น้ำมะนาวและน้ำโซดา ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการรักษามะเร็ง บางงานวิจัย ระบุไว้ว่า การดื่มน้ำโซดาขณะท้องว่าง จะทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ไม่สบายท้อง เกิดภาวะกรดไหลย้อน เกิดการระคายเคืองเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร น้ำมะนาว ส่วนประกอบหลัก คือ กรดซิตริก เป็นกรดชนิดอ่อน รสเปรี้ยว จะกระตุ้นให้มีการขับน้ำลายออกมา ทำให้ชุ่มคอ ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ส่วนน้ำโซดา เกิดจากการนำเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาอัดลงในน้ำ ทำให้ส่วนประกอบหลักของน้ำโซดา คือ กรดคาร์บอเนต ก็มีความเป็นกรด เช่นกับกรดซิตริก

คงต้องบอกว่า ในโลกสังคมออนไลน์ จะเกิดการแชร์เร็วมาก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนั้น อย่าเพิ่งรีบร้อน เชื่อที่โลกโซเชียลแชร์ ต้องมีสติ ทุกครั้งที่รับข่าวสาร และหาข้อมูลให้ดีก่อนจะ “เชื่อ” นะคะ พบกันครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

(เครดิต : รศ.ดร.เจษฏา เด่นดวงบริพันธ์ )
KINN_Biopharma
www.kinn.co.th