COLUMNISTS

ดูแล ‘ชาวนา’ คู่ขนาน หรือ ทับซ้อน

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
514

การประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานที่ประชุม เห็นชอบในหลักการดูแลชาวนาแบบผสมผสาน โดยรวมเอานโยบายประกันราคาข้าวเปลือก ที่กระทรวงพาณิชย์นำเสนอ บวกเข้ากับมาตรการสนับสนุนการผลิตที่มีการเสนอในที่ประชุม  ซึ่งเป็นรูปแบบที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน

IMG 20190819173100000000 m

ที่ผ่านมารัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆจะเลือกมาตรการดูแลชาวนาด้วยมาตรการใดมาตรการหนึ่ง เช่นประกันราคาข้าวเปลือกของรัฐบาลอภิสิทธิ์ รับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ดของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือ มาตรการช่วยเหลือค่าการผลิตของรัฐบาลประยุทธ์1

ก่อนหน้าที่ นบข.จะประชุมไม่ถึงสัปดาห์  คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการประกันราคาข้าวเปลือก ตามที่ จุรินทร์  ลักษณ์วิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสวมหมวกรองประธานกรรมการ นบข.อีกใบ นำเสนอ มาตรการดังกล่าวรัฐบาลจะดูแลราคาข้าวเปลือก 5 ประเภท คือ ข้าวเจ้าหอมมะลิ  หอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวหอมปทุมธานี และข้าวเหนียว

เหตุผลที่พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะประธาน นบข. ตัดสินใจเลือก แนวทางดูแลชาวนาแบบผสมผสาน ดูจากคำแถลงของ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาล ที่อ้างคำพูดนายกรัฐมนตรีถึงเหตุผลที่ต้องปรับเพิ่มมาตรการดูแลราคาข้าวเปลือกว่า หากใช้มาตรการประกันราคาข้าวเปลือกอย่างเดียว ชาวนาจะได้รับความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง จึงให้เพิ่มมาตรการสนับสนุนการผลิต ผสมผสานคู่ขนานกันไป

มาตรการคู่ขนานเพื่อสนับสนุนการผลิต จะอุดหนุนค่าการผลิตให้ชาวนา 500 บาทต่อไร่ จำกัดครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนงบประมาณให้ไปหารือกับสำนักงบประมาณ สำหรับมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกเคาะตัวเลขไว้ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปทำรายละเอียดเพื่อเสนอครม.ใหญ่สัปดาห์หน้า

การดูแลชาวนาแบบคู่ขนานผสมผสานตามแนวทางของพล.อ.ประยุทธ์นั้น  ด้านหนึ่ง ผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวนา  แต่เมื่อพลิกไปดูอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า การนำเสนอ 2 มาตรการเพื่อเป้าหมายเดียว ย่อมถูกมองว่าเป็น การทับซ้อน มากกว่าคู่ขนานผสมผสานตามที่พล.อ.ประยุทธ์อ้าง

jakarta supermarkets told to remove palm oilfree products

ทั้งยังสื่อถึง การประนีประนอมเชิงนโยบาย ระหว่าง พรรคประชาธิปัตย์ ที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ซึงรับผิดชอบเรื่องราคาสินค้าเกษตรโดยตรง กับพรรคพลังประชารัฐ แกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกด้วย ที่ต้องการสร้างความนิยมกับชาวนาเหมือนกัน

มาตรการสนับสนุนการผลิต(ชาวนา)ที่นายกรัฐมนตรีให้ดำเนินคู่ขนานไปกับมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกรอบนี้  ไม่ได้ต่างจาก มาตรการช่วยค่าเก็บเกี่ยว หรือมาตรการดูแลราคาข้าวตกต่ำ ที่ รัฐบาลประยุทธ์1 ใช้เป็นเครื่องมือดูแลราคาข้าวเปลือกให้ชาวนาในช่วงที่ผ่านมา เช่น ปีการผลิต 2561/2562 รัฐบาลประยุทธ์1 ดูแลชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ข้าวเจ้า และข้าวปทุมธานี1 จำนวน 1,500 บาทต่อไร่ จำกัดไม่เกิน  12 ไร่ หรือไม่เกิน18,000 บาทต่อครัวเรือน เพื่อดูแลเกษตร 4.05 ล้านรายพื้นที่ 38 ล้านไร่ รวมใช้งบประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท และจะสิ้นสุดปลายเดือนกันยายนนี้

หากใช้ฐานข้อมูลพื้นที่จากโครงการอุดหนุนข้างต้นประมาณว่า การสนับสนุนการผลิตรอบนี้ที่จะอุดหนุน 500 บาทต่อไร่ ต้องใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 1.9 หมื่นล้านบาท ดูจากกรณีประกันราคาข้าวแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่สินค้าเกษตรอีก 4 ตัวที่กระทรวงพาณิชย์รอนำเสนอเข้าครม.โดยเฉพาะ ปาล์ม กับ ยางพารา จะเดินไปในทางเดียวกับ ข้าว

อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้น นอกจากสวมหมวก นบข.แล้วยังเป็น ประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษายุทธศาสตร์ พปชร. ยังนั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติ  ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ต้องนำเสนอมาตรการดูแลยางพารา และปาล์มผ่านบอร์ดทั้ง 2 ชุดตามลำดับ  เชื่อว่ามาตรการประกันราคา ปาล์ม และยางพารา ที่จ่อนำเสนอครม.นั้น จะมีมาตรการพ่วงเช่นเดียวกับข้าว

การอัดมาตรการคู่ดูแลชาวนา หรือสินค้าเกษตรตัวอื่น หลังรัฐบาลประกาศมาตรการพยุงเศรษฐกิจมูลค่า 3.1 แสนล้านบาท  ทำให้ “งบประมาณและหนี้” เป็นประเด็นได้รับความสนใจจากสาธารณชน โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางการคลัง

กระแสข่าวดังกล่าวกดดันให้หลายหน่วยงานในกระทรวงการคลัง  เรียงหน้ากันออกมาแถลงว่า (นโยบายแจกเงินอุดหนุนค่าครอง)ไม่มีผลกระทบต่อการคลัง โดยยืนยันทั้งกระแสเงินสดในมือรัฐบาล จากตัวเลขเงินคงคลัง  4.8 แสนล้านบาท และสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ กรกฎาคมที่ผ่านมา  อยู่ที่ 41.5 %  ยังห่างเกณฑ์ความเสี่ยง  (หนี้สาธารณะไม่ควรเกิน 60 %  ต่อจีดีพี )

แม้ฐานะการคลังตอนนี้ยังไม่มีปัญหา หากในสถานการณ์การคลังที่จัดทำงบประมาณขาดดุลมาต่อเนื่อง การใช้กระสุนอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ประเภทยิงนัดเดียวได้นกหลายตัว ย่อมดีกว่าใช้กระสุนหลายนัดแต่ได้นกตัวเดียว

เช่นเดียวกับ การออกมาตรการดูแลชาวนาที่ทับซ้อน แบ่งงบประมาณออกเป็นสองก้อนนั้น จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่อัดลงไปหรือไม่ เป็นคำถามอีกข้อที่ฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ