COLUMNISTS

วุฒิภาวะของ ส.ส. กับรัฐสภาที่ยังสร้างไม่เสร็จ

Avatar photo
1037

หลังจบการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎรได้ “ชวน หลีกภัย” มาทำหน้าที่ประธานสภาฯ ท่านมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการทำงานของสภาไทยให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อฟื้นศรัทธาประชาชนที่มีต่อนักการเมืองให้กลับคืนมา และดูเหมือนว่าจะทำสำเร็จได้ในระดับหนึ่ง

แต่สิ่งที่กำลังดำเนินไปด้วยดีก็ต้องมาสะดุดจากพฤติกรรมที่ส.ส.พากันโวยวายในระหว่างการประชุมสภา ถึงความไม่พร้อมของสถานที่ประชุม ซึ่งย้ายมาจากที่ประชุมสำนักงานใหญ่ทีโอที มาที่อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย โดยขอยืมห้องประชุมจันทราของ ส.ว.มาใช้ชั่วคราว ระหว่างรอห้องประชุมสุริยัน ซึ่งเป็นที่ประชุมส.ส.จะก่อสร้างแล้วเสร็จ

เหตุผลที่ทำให้ต้องรีบมาใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ทั้งๆ ที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เป็นเพราะงบประมาณในการเช่าห้องประชุมทีโอทีบานเบอะ แค่สองเดือนเศษ
ค่าใช้จ่ายสูงถึง 27 ล้านบาท จึงต้องย้ายสำมะโนครัวไปยัง “สัปปายะสภาสถาน” หรืออาคารรัฐสภาย่านเกียกกาย ซึ่งหลายพื้นที่ยังไม่ได้ส่งมอบให้ใช้งาน แต่ด้วยสภาพบังคับทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องใช้พื้นที่เท่าที่มีอยู่ทำงานเต็มรูปแบบ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะพบเห็นปัญหาติดขัดที่ต้องแก้ไขระหว่างการใช้งานอาคาร

52500236 1214471132068863 3645202034753273856 n

ความไม่สมบูรณ์ของสถานที่จึงอาจจะกระทบต่อการทำหน้าที่อยู่บ้าง ทั้ง เครื่องลงมติไม่เพียงพอ ก็พยายามต้องแก้ปัญหาด้วยการลงมติสองรอบ ไปจนถึงปัญหาไม่ได้ยินสัญญาณเสียง “ออด” เรียกเข้าห้องประชุมเพื่อลงมติ ประธานสภา ก็กำชับสมาชิกให้พยายามอยู่ในห้องประชุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อการลงมติ  ส่วนปัญหาฝุ่นและกลิ่นสี ก็ขอความช่วยเหลือจากกรมควบคุมมลพิษมาช่วยวัดค่าอากาศ

จากปัญหาที่กล่าวข้างต้นย่อมทำให้ส.ส.ผู้ทรงเกียรติเกิดอาการหงุดหงิด แต่การระบายอารมณ์มากเกินพอดี เป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ไม่ว่าจะเป็นการโวยวายว่า ไฟไม่สว่าง ไม่มีที่ฉีดก้น ไปจนถึงปัญหาเรื่องห้องอาหาร เพราะคนที่อาสาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องสำเหนียกอยู่ตลอดเวลาว่า ประชาชนลำบากกว่าส.ส. และกำลังรอคอยให้ส.ส.ใช้สภาเป็นที่ช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ยาก ไม่ใช่ใช้สภาเป็นที่ระบายอารมณ์ เรียกร้องให้แก้ปัญหาส่วนตัว

ดังคำเตือนสติของประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ระบุว่า “อุปสรรคหรืออะไรก็ตามมีปัญหา อย่านำมาเป็นเงื่อนไขของการทำงาน ทำให้ทำงานไม่ได้ ทำงานช้า เพราะในสายตาประชาชนเขาไม่ได้คิดแบบนั้น เขามองว่าที่แห่งนี้สบายที่สุด” ดังนั้น ส.ส.ในฐานะผู้ทำหน้าที่ให้ประชาชนก็ควรทนความลำบากนิดๆ หน่อยๆ ให้ได้ ไม่ใช่มาเรียกร้องโวยวาย เพราะสุดท้ายจะทำให้คนเบื่อหน่าย หมดศรัทธาในตัวผู้แทน

ในสถานการณ์ที่คิดว่าเป็นปัญหา กระทบกับการทำหน้าที่ ส.ส. ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงควรหาทางออกอย่างมีวุฒิภาวะ ไม่ใช่ใช้วิธีประชดประชันเหมือนเด็กอมมือ เช่น การติด “ธานินทร์” วิทยุทรานซิสเตอร์ ไว้ตามห้องน้ำ และห้องต่างๆ เพราะกลัวไม่ได้ยินเสียงออดเรียกลงมติ จนโดนกระแสตีกลับทำสภาที่ตั้งชื่อไว้สวยหรูว่า สัปปายะสภาสถาน ซึ่งมีความหมายในทางธรรมว่า สถานที่ประกอบกรรมดี กลายเป็น สภาตลก ในสายตาของประชาชน

ในทุกกรณีที่เกิดปัญหา ส.ส.ควรมองปัญหาเพื่อก่อให้เกิดปัญญานำไปสู่การแก้ไข เช่น การทดลองใช้ห้องประชุมจันทรา จะเป็นต้นแบบทำให้นำไปปรับปรุงห้องสุริยัน ซึ่งจะเป็นห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎรถาวร ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่มีปัญหาเหมือนห้องจันทรา

ขณะเดียวกันก็น่าจะมีการตรวจสอบว่าเหตุใดแบบแปลนจึงไม่มีการติดตั้งระบบกระจายเสียงตามทางเดิน และห้องน้ำ เกิดความผิดพลาดจุดไหน ใครต้องรับผิดชอบต่อความสะเพร่านี้ เพราะสุดท้ายก็จะต้องมีการของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาซ่อมแซมในส่วนที่ขาดหายไป

เราใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 12,000 ล้านบาท และทำท่าบานปลายที่จะต้องเพิ่มเติมงบประมาณอีกหลายพันล้านบาท ขณะที่การก่อสร้างก็เป็นไปด้วยความล่าช้า ขยายเวลาส่งมอบงานมาแล้วสามครั้ง และทำท่าว่าอาจมีการขยายเวลาเป็นครั้งที่สี่

ความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้ต่างหาก ที่ ส.ส.ควรให้ความสนใจตรวจสอบดูแล เพื่อให้การใช้งบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และทำให้สภาแห่งใหม่ เป็นสถานที่ประกอบกรรมดี นำไปสู่การเป็นสภาที่มีแต่ความสงบร่มเย็นสบาย ตามชื่อ สัปปายะสภาสถาน อย่างแท้จริง