ความมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ สร้าง “การเติบโตเชิงคุณภาพ” ไม่ใช่ “การเติบโตเชิงปริมาณ” สู่การพัฒนาให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ด้วยวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น “ประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21”
สิ่งเหล่านี้เป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกระบุไว้ในบทนำของคำแถลงนโยบายความยาว 66 หน้า ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะแถลงต่อรัฐสภาเป็นครั้งแรกในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
รายละเอียดของนโยบายมีการแบ่งไว้ 2 ส่วน คือ “นโยบายหลัก 12 ด้าน” ไว้เป็นทิศทางกว้างๆ สำหรับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลในช่วง 4 ปีข้างหน้า เป็นหลักใหญ่คล้ายคลึงกับที่กำหนดไว้ในหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 162 กำหนดไว้
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบรรจุนโยบายต่างๆ ที่พรรคการเมืองเคยหาเสียงไว้ใน “นโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน” แต่เมื่อดูเนื้อหาแล้ว ส่วนใหญ่ยังคงเป็นการสานต่อนโยบายประชารัฐของรัฐบาลชุดที่แล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาระบบบัตรคนจน หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถูกมองว่าเป็นสานต่อโครงการประชานิยม เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณไปแล้วเกินกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ยังแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่สำเร็จ ไม่มีตัวเลขคนจนลดลงที่ชัดเจน
ขณะที่การสานต่อการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคคตะวันออก หรือ EEC ก็คงถูกตั้งคำถามถึงประโยชน์ที่ชุมชนจะได้เมื่อเทียบกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป แต่ดูเหมือนว่าทิศทางยังคงเอื้อกลุ่มนายทุนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงนโยบายสำคัญที่พรรคพลังประชารัฐเคยหาเสียงไว้
สำหรับนโยบายสำคัญอื่นๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการบรรจุนโยบายประกันรายได้สินค้าเกษตร ข้าว ยางพารา มันสําปะหลัง ปาล์ม อ้อย และข้าวโพด ด้วยการชดเชยส่วนต่างหากราคาไม่ถึงที่กำหนด เป้นไปตามเงื่อนไขที่ตัดสินใจร่วมรัฐบาล แต่ก็อาจใช้เครื่องมือทางการเงินสมัยใหม่ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบทางวินัยการเงินการคลัง ซึ่งเป็นส่วนที่มีการเพิ่มเข้ามา เพื่อเปิดทางให้ใช้วิธีการอื่นๆ นอกเหนือจากการประกันราคาได้
อีกเรื่องสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ที่บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนด้วย คือ “การสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” ซึ่งตอนแรกก็ลุ้นกันอยู่ว่าจะได้รับการบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนหรือไม่ แต่ในที่สุดก็ต้องมีการบรรจุเนื่องจากเป็น 1 ใน 3 เงื่อนไขสำคัญที่พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจร่วมรัฐบาล แต่ก็ถือว่าไปไม่สุดเช่นกัน เพราะระบุเพียงว่า “สนับสนุน” แต่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ดำเนินการให้มีการแก้ไข
นอกจากนี้ พบว่าอีกหลายนโยบายที่หาเสียงเลือกตั้งไว้ แต่ไม่ได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วน เช่นนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทย แต่ก็ไปไม่สุดถึง “ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น” , นโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาท , การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมร้อยละ 10 , เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท ของพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ได้มีบรรจุไว้เช่นกัน ทั้งที่เป็นนโยบายหลักที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
สำหรับนโยบายสำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจ และได้รับบรรจุในนโยบายเร่งด่วน เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้สิน , การปรับปรุงระบบภาษีและการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย , การปรับปรุงระบบที่ดินให้เกษตรกรเข้าถึงได้ , ลดอุปสรรคธุรกิจประมง ช่วยเหลือให้สอดคล้องกับมาตรฐานองค์กรระหว่างประเทศ , การส่งเสริมการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แม้นโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ แต่กลับไม่มีการกำหนดกรอบเวลาที่จะดำเนินการหรือเห็นผมสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน ระบุเพียงว่าจะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วเท่านั้น ตลอดจนประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับที่มารายได้เพื่อดำเนินนโยบาย , ความเหมาะสมของบุคคลในคณะรัฐมนตรี , และนโยบายหลายเรื่องที่ไม่ได้รับการบรรจุ จะเป็นประเด็นที่ฝ่ายค้านผสมโรงอภิปรายฝ่ายรัฐบาลอย่างหนักในวันที่ 25 – 26 กรกฎาคมนี้