COLUMNISTS

มองสหรัฐผ่าน ‘วิกฤติต้มยำกุ้ง’

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
1909

วาระครบ 22 ปี  “วิกฤติต้มยำกุ้ง” วิกฤติเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ ที่ปะทุขึ้นในปี 2540 คลื่นเศรษฐกิจที่ก่อตัวจากวิกฤติครั้งนั้น พัดพาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงาน ธุรกิจ เอกราชทางเศรษฐกิจบางส่วน และความหวังที่จะก้าวขึ้นเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่แห่งเอเชียของไทย พร้อมกับหนี้ก้อนมหึมา ทับลงมาบนบ่าคนไทย

ความทรงจำของคนสื่อจากวิกฤติครั้งนั้น นอกจากสภาพวุ่นวายของสภาพบ้านเมืองเวลานั้นแล้ว คือการจัดอันดับอาชีพเสี่ยงโดยสถาบันแห่งหนึ่งระบุว่า อาชีพด้านการเงิน รวมทั้ง สื่อมวลชน คืออาชีพที่มีความเสี่ยงตกงานสูงในอันดับต้นๆ

แม้เหตุการณ์ผ่านมานานกว่า 2 ทศวรรษ นานพอให้คนบางรุ่นไม่ได้รับรู้ความยากลำบากของประเทศห้วงเวลานั้น หากพิษเศรษฐกิจฟองสบู่แตก จากวิกฤติต้มยำกุ้ง ยังตามหลอนคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีประสบการณ์ร่วมอยู่เสมอ

ข่าวความกังวลต่อฟองสบู่ “อสังหาริมทรัพย์” ธุรกิจที่ถูกระบุว่าเป็น ต้นเหตุวิกฤติครั้งนั้น ที่ถูกรายงานเป็นระยะๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยืนยันอาการหลอนดังกล่าวของคนไทยได้ดี

หากมุมหนึ่งที่ไม่ถูกกล่าวถึงมากนัก คือในช่วงเวลาไทยยากลำบาก หลังสูญสำรองเงินตราต่างประเทศจากสงครามค่าเงิน จนไม่เพียงพอหนุนความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจในการทำการค้า หรือ กู้เงินจากต่างประเทศนั้น มีใครช่วยเราบ้าง

ข้อมูลจากงานเขียนเก่าระบุว่า เมื่อประเทศไทยขอความช่วยเหลือจาก “ไอเอ็มเอฟ” หรือ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ”  ไอเอ็มเอฟ กับ ญี่ปุ่น ทั้ง 2 ฝ่าย ตกลงให้ไทยกู้ฝ่ายละ 4,000 ล้านดอลลาร์ รวม 8,000 ล้านดอลลาร์

b6c86602 3c8e 11e7 8ee3 761f02c18070 1280x720 085440

จากนั้น ไอเอ็มเอฟและญี่ปุ่น ออกหน้าเป็นเจ้าภาพ เชิญประเทศที่รับปากว่าจะปล่อยกู้ช่วยไทยรวม 13 ประเทศ ไปประชุมกันที่ญี่ปุ่น ผลการประชุมสรุปว่า นอกจาก ไอเอ็มเอฟ กับ ญี่ป่นที่ตกลงปล่อยกู้รวม 8,000 ล้านดอลลาร์ประเดิมก่อนการประชุมแล้ว จีน ออสเตรเลีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ให้กู้ประเทศละ 1,000 ล้านดอลลาร์เท่ากัน

อีก 3 ประเทศคือ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และบรูไน ร่วมลงขันอีกประเทศละ 500 ล้านดอลลาร์  ปิดท้ายด้วย เอดีบีกับธนาคารโลกรวมกัน 2,700 ล้านดอลลาร์ รวมแล้วทั้งหมดเป็นยอดเงินกู้ 17,200 ล้านดอลลาร์

ต่อมา อินโดนีเซีย กับเกาหลีใต้ขอถอนตัวเพราะเจอพิษต้มยำกุ้ง จนป่วยตามไทย และต้องเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟเยียวยา ตามไทยมาติดๆ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เข้าใจได้ แต่ทว่าไม่มีสหรัฐซึ่งรับปากว่า จะร่วมปล่อยกู้เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยในช่วงยากลำบาก ถือเป็นเรื่องแปลก

จริงอยู่ภูมิภาคนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นดูแลอยู่ แต่ในฐานะเพื่อนเก่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เคยส่งทหารไปร่วมรบในสงครามอุดมการณ์ของสหรัฐในเวียดนาม เกาหลีใต้ ไทยควรได้รับไมตรีกลับบ้าง

มองบทบาทสหรัฐช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งแล้วเปรียบเทียบกับวันนี้  สหรัฐไม่เคยเปลี่ยน กรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐ ประกาศสงครามการค้ากับจีน และขู่อีกหลายประเทศ การปกป้องผลประโยชน์ฝ่ายเดียวของสหรัฐ ทำเอาการค้าและเศรษฐกิจโลกรวนกันไปถ้วนหน้า

ดูตัวอย่างจากเศรษฐกิจไทย ตลอดเดือนเศษๆ ที่ผ่านมา องค์กรด้านเศรษฐกิจหลายแห่งทยอยประกาศปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้กันถ้วนหน้า

แบงก์ชาติ ลดจาก 3.8 % เหลือ 3.3 % กระทรวงการคลังมีแนวโน้มปรับลดคาดการณ์ปลายเดือนนี้ ส่วนภาคเอกชน แบงก์กสิกรหั่นจาก 3.7 % เหลือ 3.1 % เป็นต้น

ตัวเลขคาดการณ์จีดีพีที่หายไปเพราะ การค้าโลกถดถอยจากควันไฟสงครามการค้าโลกที่ประธานาธิบดีทรัมป์ จุดชนวนขึ้น

กระทรวงพาณิชย์บ้านเรา ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปีนี้จาก 8 % เหลือ 3 % แต่สภาผู้ส่งออกทางเรือ และอีกหลายองค์กร มองต่างออกไปว่า การส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสติดลบ หากสงครามการค้าครึ่งปีหลังยังไม่คลี่คลาย ตัวเลขการค้า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่หายไปหมายถึง รายได้ในกระเป๋าคนไทยลดลง

มอง บทบาทสหรัฐ เมื่อครั้ง วิกฤติต้มยำกุ้ง กับ ความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน จากผลพวงอุดมการณ์อเมริกาต้องมาก่อน ของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว นึกถึงชื่อหนังเก่าแก่เรื่อง “เดอะ อั๊กลี่ อเมริกัน” ขึ้นมาทันที