COLUMNISTS

สังคม ‘เห็นต่าง’ ควรอยู่กัน ‘อย่างไร’ จึงดี

Avatar photo
2003

ถ้าใครท่องเน็ตเป็นกิจวัตร มีเฟซบุ๊กเป็นเพื่อนสนิท ก็จะเห็นภาพชัดถึงการเมืองสองขั้ว ที่ยกพวกตีกันทุกวันในโลกออนไลน์ ผ่านการสาดคำพูดรุนแรงใส่กัน ยิ่งแรงยิ่งเพิ่มยอดไลค์ จนน่ากังวลว่า สังคมกำลังเสพติดความดิบเถื่อน ส่งต่อถ้อยคำเกลียดชังจนมองเห็นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่เป็นผลดีใด ๆ ต่อการพัฒนาระบบการเมืองและวุฒิภาวะทางการเมืองของคนไทย

ในบางครั้งเมื่ออ่านเฟซคนกันเองที่เราเคยคิดว่ารู้จัก ต้องตกใจเพราะช่างแตกต่างจากคนคนนั้นที่เรารู้จักจริงจริง ทำให้ fackbook อาจต้องถูกแทนด้วย facetook

ประเด็นที่สร้างความเกลียดและโกรธได้ง่ายดายคือ การเคลื่อนไหวของบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นคนละขั้ว อยู่คนละข้าง ดังจะเห็นได้จากกรณีล่าสุดที่ “จ่านิว” หรือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ถูกทำร้ายร่างกาย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา

จ่านิว27621
ภาพจากเฟชบุ๊ก ยูดีดีนิวส์ – UDD news

ฝ่ายที่เห็นต่างออกมาแสดงความสาสมใจ ไปจนถึงทับถม ขณะที่ฝ่ายเดียวกันออกมาโหนสร้างกระแสให้กลายเป็นประเด็นทางการเมือง เพื่อประโยชน์ของฟากฝั่งตัวเอง

ยิ่งมีการปล่อยข้อมูลเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ ก็ยิ่งมีการเยาะเย้ย ถากถาง ไปถึงการเจ็บตัวเพื่อแลกเงินบริจาคไปชำระหนี้ ทั้ง ๆ ที่ในทางคดียังไม่มีความคืบหน้าว่าใครเป็นคนก่อเหตุ

หากย้อนดูความเคลื่อนไหวของ “จ่านิว” พวกเดียวกันก็จะเรียกว่าเป็น การอารยะขัดขืน หรือ civil disobedience โดยมุ่งเกี่ยวกับการโจมตี คสช.และเขย่าให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ไปจนถึงการเคลื่อนไหวหลังเลือกตั้งที่เขาเห็นว่าไม่สุจริต เที่ยงธรรม

การเคลื่อนไหวใดที่ไปขัดคำสั่งคสช. ก็มีการตั้งข้อหาดำเนินคดีกันไปแล้ว เท่ากับแต่ละฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง ฝ่ายเคลื่อนไหวรู้อยู่แล้วว่ามีคำสั่งห้าม ก็ต้องรับสภาพที่จะถูกดำเนินคดี ฝ่ายรัฐก็ดำเนินการตามกรอบของกระบวนการยุติธรรม ไม่มีศาลเตี้ย

ส่วนคนเห็นต่างเรามีสิทธิที่จะไม่ชอบ แต่ไม่มีสิทธิไปละเมิดด่าทอ ถากถาง หรือแสดงความดิบทางอารมณ์ออกมา โดยไม่ผ่านการกลั่นกรองด้วยปัญญา เพราะมันจะค่อย ๆ ทำลายความเป็น “มนุษย์” ไปอย่างน่ากลัว

เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว “โมนิกา ลูวินสกี้” สตรีที่เคยมีความสัมพันธ์อื้อฉาวกับ  “บิล คลินตัน” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งผ่านประสบการณ์ถูกวิจารณ์อย่างหนักจากคนในสังคมออนไลน์ ไปจนถึงการกลั่นแกล้ง หรือเรียกว่า Cyber Bully ได้นำประสบการณ์ดังกล่าว มาแปรเป็นการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงคำรุนแรงในโลกออนไลน์ว่าส่งผลอย่างไรในชีวิตจริง ผ่านการทดลอง นำเอาถ้อยคำในอินเทอร์เน็ตมาด่าในชีวิตจริง ปรากฏว่าไม่มีใครรับได้ จนเกิดบทสรุปว่า “การกลั่นแกล้งเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับในชีวิตจริง แต่ทำไมในโลกออนไลน์ถึงทำได้ล่ะ”

107658293 17c8fa10 780c 471a 9f2b 05880d92b8d5
ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาดานันท์ ( ภาพ: Natthadon Kosaithanaanun, ฺฺBBC)

ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาดานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองเรื่องนี้ไว้ผ่านบีบีซีไทยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนสังคมไทยกำลังตกอยู่ในความป่วยไข้ และจะยิ่งตอกลิ่มความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าทศวรรษให้ลึกลงไป และชี้ว่าภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเป็นความขัดแย้งยาวนานที่อยู่ในบริบทการเมืองที่ไร้เสถียรภาพ และมีความไม่เสมอกันของอำนาจ

ฝั่งหนึ่งอาจจะมีอำนาจในการตัดสินใจ อำนาจในทางกฎหมาย แบบนี้จะทำให้สังคมไทยยุ่งยากมากขึ้น พร้อมตั้งคำถามว่า คนหนึ่งควรมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่อย่างไร ในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง อีกฝ่ายกลับบอกว่า “พวกแกไม่มีหรอก พวกแกต้องการสิ่งที่สังคมไม่เอาด้วย” ภาวะที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าสังคมกำลังป่วยไข้ด้วยยาพิษที่เรียกว่า “ความเกลียดชัง”

เราเคยถามตัวเองกันบ้างมั้ยว่า ความสะใจที่ได้จากถ้อยคำรุนแรงที่สาดใส่กัน สร้างประะโยชน์อะไรให้กับประเทศที่เรารักหรือเปล่า จะดีกว่ามั้ย ถ้าเราพิจารณาทุกเรื่องจากข้อเท็จจริง รับฟังจากทุกคนด้วยสติ เพราะความถูกต้องและความจริง แม้จะหลุดออกมาจากปากคนที่เราเกลียดที่สุดหรือรักที่สุด มันก็ยังคงเป็นความจริงและความถูกต้อง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้คือ “อคติ” ในใจเรา แม้จะยากแต่เราเริ่มได้ เริ่มที่ตัวเราช่วยเปลี่ยนสังคมได้

ขอบคุณข้อมูลจาก www.bbc.com/thai