COLUMNISTS

อย่าให้นโยบาย ‘พลังงาน-ปาล์ม’ ย้อนแย้ง จนทิ่มแทง ‘เกษตรกร’

Avatar photo
4409

ในช่วงรอยต่อที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลคสช.สู่รัฐบาลผสมหลังเลือกตั้ง ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ให้รัฐบาลใหม่ใช้ในการศึกษางาน เพราะตัวผู้นำยังเป็นคนเดิม จึงต้องเดินหน้าลุยสร้างผลงานอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งในที่นี้ขอหยิบยกเฉพาะราคาปาล์มน้ำมันมาเป็นตัวอย่าง เพื่อชี้ให้เห็นความสับสนในการแก้ปัญหาที่อาจทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายตามที่คาดการณ์ไว้ ให้รัฐบาลตระหนักจะได้แก้ปัญหาอย่างถูกจุด

palm oil crop agriculture.jpeg 1718483346

ช่วงเดือนเศษที่ผ่านมารัฐบาลตีปี๊บดีอกดีใจว่า ผลปาล์มทะลายค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 2.15-2.60 บาทต่อกิโลกรัม​ และถึง​ 3.5​บาทต่อกิโลกรัมในวันนี้ จากเดิม 1.80 บาทต่อกิโลกรัม แต่เกษตรกรยังไม่ทันได้อิ่มท้อง เพราะราคาดังกล่าวยังไม่คุ้มทุนที่ลงแรงไป กลับมาเจอปัญหาใหม่จากนโยบายของกรมการค้าภายใน ที่อ้างจะช่วยดันราคาปาล์มเลยไปขอให้ห้างค้าปลีกเลิกทำโปรโมชันน้ำมันปาล์มบรรจุขวดราคาถูก ทำให้ราคาเพิ่มทันที 10 บาทต่อขวด ซึ่งนอกจากไม่ช่วยเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคด้วย

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยไปพิจารณาต้นทุนน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ซึ่งกลุ่มนายทุนจะรวมตัวกดราคาซื้อจากเกษตรกรราคาถูก เพราะราคารับซื้อจากเกษตรกรอยู่ในราว 17-18 บาทต่อกิโลกรัม เมื่อบวกกับค่าขวดและค่าใช้จ่ายอื่นในการผลิตต้นทุนจะไม่เกิน 28 บาท แต่กลับติดราคาในโมเดิร์นเทรด​หรือห้างค้าปลีก​อยู่เกือบ​ 40 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริง โดยที่รัฐบาลไม่เคยเข้าไปควบคุม แต่ใช้วิธีการจัดธงฟ้าราคาประหยัด รวมถึงให้ห้างจัดทำโปรโมชันของถูก ทั้งที่ราคามันต้องถูกอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องทำโปรโมชั่น

เมื่อราคาปาล์มเริ่มขยับขึ้นแทนที่จะไปตรวจสอบดูแลไม่ให้มีการขึ้นราคาค้ากำไรเกินควร กลับเปิดไฟเขียวห้ามไม่ให้ทำโปรโมชัน บังคับให้ขายราคาปกติ ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันบรรจุขวดปรับขึ้นคราวเดียว 10 บาทต่อขวด จนถูกผู้บริโภคบ่นไปทั้งบ้านทั้งเมือง

ผลจากนโยบายกรมการค้าภายใน ทำให้เกิดคำถามถึงการจัดการปัญหาว่า ต้องการช่วยเหลือใครกันแน่ เพราะสิ่งที่กรมการค้าภายในทำ เกษตรกรไม่ได้ประโยชน์ ผู้บริโภครับกรรม มีแต่ห้างค้าปลีกที่ได้กำไรเพิ่มขึ้นทันที

น้ำมันปาล์ม1

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่กำลังอยู่ในระหว่างศึกษา ซึ่งย้อนแย้งกับแผนงานที่รัฐบาลออกมาตรการลดราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ลิตรละ 5 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาปาล์มขยับขึ้น

ผู้เขียนได้อ่านข่าวที่น่าตกใจคือสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) หรือ สบพน. ได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) ศึกษาแนวทางเลิกชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งแก๊สโซฮอล์ E20 E85 ไบโอดีเซล B10 B20 ภายใน 3 ปี เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่ออกมาใหม่ โดยผลการศึกษาจะเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

คำถามคือ หากมีการยกเลิกชดเชยราคาไบโอดีเซล B10 B20 จริง จะเป็นการย้อนแย้งกับมาตรการที่รัฐบาลกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้หรือไม่ และถ้าจะเดินหน้าเช่นนี้ รัฐบาลมีมาตรการอื่นใดมารองรับเพื่อแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

ในปีนี้กระทรวงเกษตรฯประเมินว่าสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบจะพุ่งสูงเพิ่มขึ้นถึง 5 แสนตัน ในขณะที่สต๊อกเหมาะสมควรอยู่ที่ 2 แสนตันต่อปี รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรกับปาล์มที่เตรียมจะล้นสต๊อกอีกครั้ง ซึ่งทุกอย่างกำลังจะวนลูป กลับมาที่เดิม​คือมีน้ำมันปาล์มล้นสต็อดกดราคาปาล์มน้ำมันเกษตรกรลงอีก ในขณะที่การแก้ปัญหาเก่ายังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่กลับเพิ่มความซับซ้อนในแนว นโยบายที่ไม่สอดรับกัน จนอาจทำให้ล้มเหลวในการแก้ปัญหา

รัฐบาลใหม่จึงต้องเร่งศึกษาแนวทางแก้ปัญหาทั้งระบบของรัฐบาลคสช. โดยนำข้อมูลจากทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร และกระทรวงพลังงาน มาบูรณาการร่วมกัน กำหนดทิศทางแก้ปัญหาไปในทางเดียวกัน เช่น ถ้าจะสนับสนุนเรื่อง B10 B20 ก็ต้องหามาตรการเสริมมารองรับกรณีที่ไม่สามารถใช้เงินในกองทุนน้ำมันมาชดเชยได้อีก

biodiesel b20 b10

ระยะเวลา 3 ปีที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ต้องมีการคำนวณให้ชัดเจนถึงผลผลิตที่สมดุลไม่ให้เกิดการล้นสต๊อคว่าควรอยู่ที่ปริมาณเท่าใด และถ้าจะจำกัดปริมาณผลผลิตจะส่งเสริมให้เกษตรกรไปปลูกพืชชนิดใดทดแทน จะมีการลดจำนวนการปลูกปาล์มลงในปริมาณเท่าไหร่ การชดเชยให้เกษตรกรจะทำอย่างไร

สิ่งเหล่านี้ต้องคิดควบคู่กันไป ไม่ใช่รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยแก้ไข เพราะจะไม่ทันการณ์ ลำพังมีแค่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพียงพอต่อการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบหรือไม่ ควรจะมีองค์กรอิสระมาบริหารปาล์มน้ำมันเป็นการเฉพาะ เหมือนที่มาเลเซียได้หรือยัง เพราะผลผลิตจากปาล์มน้ำมัน ไม่ใช่แค่นำไปผลิตพลังงานหรือบริโภคน้ำมันเท่านั้น แต่ยังสามารถนำผลปาล์มมาผลิตอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อีกมาก การส่งเสริมงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งให้การสนับสนุนด้วย

เชื่อเถอะว่า เกษตรกร ไม่ได้พอใจกับการแบมือขอ รอการช่วยเหลือจากภาครัฐ แต่พร้อมที่จะยืนหยัดด้วยตัวเอง ขอเพียงแต่ภาครัฐมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ดูแลทั้งระบบไปพร้อม ๆ กัน ถ้าทำได้นอกจากจะทำให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงแล้ว ยังลดจำนวนคนจนในประเทศลงได้ด้วย