COLUMNISTS

เมื่อราคาปาล์มขยับ รัฐต้องรีบเขยื้อน

Avatar photo
25015

เมื่อไม่กี่วันก่อน พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมา“ตีปี๊บ”ชี้ว่า ราคาปาล์มน้ำมัน – ยางพารา ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการรัฐ โดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ติดตามปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมันและยางพารา  ล่าสุดผลปาล์มทะลายค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 2.15-2.60 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม1.80 บาทต่อกิโลกรัม

วีรชน สุคนธปฏิภาค203622

พล.ท.วีรชน มั่นอกมั่นใจว่า สาเหตุที่ปาล์มราคาขยับขึ้นเกิดจากมาตรการรัฐบาล โดยยกตัวอย่างการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ลดราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ลิตรละ 5 บาท และส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มบริโภคผ่านร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ ส่วนตัวเห็นด้วยว่ามาตรการรัฐเริ่มได้ผลมากขึ้น แต่ไม่อยากให้รัฐบาลตีปี๊บว่าเป็นผลงาน จนลืมทบทวนความเป็นจริงที่ว่า “ราคาปาล์มขยับช้ามาก และยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้”

ลองไล่ดูมาตรการของรัฐบาลเราจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่ามีส่วนใดที่ยังล่าช้า หรือไร้ประสิทธิภาพ จะได้นำไปปรับปรุงเพื่อดันราคาปาล์มให้เดิ่มสูงได้ตรงตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้อย่างแท้จริง

 

เริ่มจาก ครม.มีมติตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 1.6 แสนตัน ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าบางปะกงหน่วยที่ 3 แต่ปรากฏว่าดำเนินการได้อย่างล่าช้า เพิ่งมีการปล่อยเรือส่งน้ำมันปาล์มดิบเที่ยวแรกปริมาณ 2 พันตัน ไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง ทำให้การดูดซับปาล์มออกจากสต็อกยังเป็นไปด้วยความล่าช้า จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนการนำปาล์มน้ำมันไปผลิต ที่โรงไฟฟ้ากระบี่ ซึ่งมีความพร้อมมากกว่าทั้งเครื่องมืออุปกรณ์ และการขนส่งแทน เพราะจะให้ผลที่รวดเร็วกว่า อีกทั้งยังประหยัดงบประมาณเรื่องค่าขนส่งด้วย

ปาล์ม22

ในขณะนี้รัฐบาลออกมาตรการลดราคาน้ำมันไบโอดีเซลบี 20 ลิตรละ 5 บาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อการฉุดราคาปาล์มให้สูงขึ้น ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่า ต้องการดันราคาปาล์มให้สูงเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม รัฐบาลจึงควรพิจารณาเรื่องการนำ B100 มาใช้เป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลโดยตรงอย่างจริงจัง เพราะจะช่วยให้ผลปาล์มราคาสูงขึ้นและยังเป็นผลดีต่อผู้บริโภคด้วย เนื่องจากช่วยลดมลพิษในอากาศ

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลจะละเลยไม่ได้คือ การหาสาเหตุที่สต็อกน้ำมันปาล์มยังคงสูงขึ้น ทั้งๆ ที่มีความพยายามดูดซับออกจากระบบแล้วว่า เป็นเพราะยังมีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศอยู่หรือไม่ กลไกรัฐ หลับตาข้างหนึ่ง เอื้อนายทุนจนเกษตรกรย่ำแย่หรือเปล่า การดำเนินการแก้ปัญหาพืชผลเกษตรตกต่ำ จึงต้องแก้ทั้งปัญหาเดิมที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ด้วย

ปีนี้กระทรวงเกษตรฯประเมินว่าสต็อกน้ำมันปาล์มดิบจะพุ่งสูงถึง 2.9 แสนตัน ถึง 3 แสนตันต่อปี สูงกว่าปีที่แล้วราว 5 แสนตัน ในขณะที่สต็อกเหมาะสมควรอยู่ที่ 2.1 แสนตันต่อปี รัฐบาลจะบริหารจัดการอย่างไรกับปาล์ม ที่เตรียมจะล้นสต็อกอีกครั้ง ทุกอย่างกำลังจะ“วนลูป”กลับมาที่เดิม ในขณะที่การแก้ปัญหาเก่ายังไม่บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

150502 6 1

ดังนั้นรัฐบาลจึงควรกำหนดมาตรการแบบระยะยาว แทนการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น กำหนดให้ชัดว่าจะส่งเสริมการใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ,B100 เพื่อดูดซับน้ำมันปาล์มดิบล้นตลาด ที่สำคัญคือต้องกำหนดกลไกราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้เม็ดเงินงบประมาณไปถึงมือเกษตรกรอย่างแท้จริง แทนที่จะตกหล่นอยู่ในมือนายทุนที่กดหัวเกษตรกรอยู่

วันนี้รัฐบาลดีใจว่าราคาปาล์มขยับ เราก็ดีใจด้วย แต่อย่าหลงระเริงกับราคา ที่ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จนลืมแก่นแท้ ของการแก้ปัญหาทั้งเรื่องการตรวจสอบสต็อกให้ชัดเจนว่าทำไมดูดซับแล้ว ยังมีเติมเข้ามาใหม่ แต่ละโรงงานมีสต็อกเท่าไหร่ ภาครัฐต้องมีตัวเลขที่ชัดเจนทั้งเรื่องผลผลิตและการนำผลผลิตไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า หรือการบริโภค ต้องทำงานร่วมกันระหว่าง กระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ อุตสาหกรรม และพลังงาน เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ และมีข้อมูลที่แม่นยำในการแก้ปัญหา

ที่สำคัญคือ รัฐบาลควรพิจารณาได้แล้วว่า ลำพังมีแค่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ เพียงพอต่อการบริหารจัดการปาล์มน้ำมันทั้งระบบหรือไม่ ควรจะองค์กรอิสระ มาบริหารปาล์มน้ำมันเป็นการเฉพาะ เหมือนที่มาเลเซียหรือเปล่า เพราะผลผลิตจากปาล์มน้ำมัน ไม่ใช่แค่นำไปผลิตพลังงานหรือบริโภคน้ำมันเท่านั้น แต่ยังสามารถนำผลปาล์มมาผลิตอุตสาหกรรมต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้อีกมาก การส่งเสริมงานวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งให้การสนับสนุน

ถ้าทำได้ ไม่ใช่แค่รัฐบาลดีใจว่าแก้ปัญหาสำเร็จ แต่เกษตรกรจะอยู่ดีกินดีไปด้วย  เมื่อเกษตรกรอยู่ได้เศรษฐกิจไทยก็อยู่รอดอย่างยั่งยืน