COLUMNISTS

ความเครียดในงาน : เพื่อนร่วมงานพาความเครียดมาให้

Avatar photo
ที่ปรึกษาบริหารโครงการ บริษัท สลิงชอท คอนซัลทิง จำกัด
769

ในสถานที่ทำงาน นอกจากสิ่งที่เป็นผลกระทบโดยตรงต่อความเครียดของพนักงาน เช่น หัวหน้างาน เนื้องาน หรือ สภาพการทำงานที่ไม่อำนวยแล้ว ยังมีสิ่งที่ส่งผลต่อความเครียดในการทำงานโดยทางอ้อมเช่นกัน สิ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกเครียด หดหู่นั้น อาจเกิดจากปัจจัยสภาพแวดล้อมที่คุณคิดไม่ถึงอยู่ก็ได้

ปัจจัยที่คุณอาจคาดไม่ถึงที่เราจะนำเสนอในบทความตอนนี้ คือ “เพื่อนร่วมงาน” ที่แสนดีของคุณนั่นเอง

เป็นเรื่องปกติที่เพื่อนร่วมงาน หรือทีมงานจะคอยให้กำลังใจกันในการทำงาน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีที่ทีมงานคอยสนับสนุนกันในการทำงาน เพื่อนร่วมงานบางคน ไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยอะไรต่อเรา ยังคอยปรึกษาเรื่องงาน คุยกันเรื่องสัพเพเหระ ไปทานข้าวด้วยกันได้เหมือนปกติ

แล้วเพื่อนร่วมงานสามารถทำให้เรารู้สึกซึมเศร้า และมีทัศนคติต่อในแง่ลบได้อย่างไร

การรับฟังในสิ่งที่เป็นแง่ลบเกี่ยวกับบริษัท หรือองค์กรอยู่เสมอ จะทำให้เรารู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานได้จริงหรือ

จากบทความของ Officevibe ชี้ให้เห็นถึงความเครียดที่เกิดจากเพื่อนร่วมงาน ในสาเหตุหนึ่งที่ได้นำเสนอมาในบทความนี้ กล่าวถึง ความเครียดที่เพื่อนร่วมงานสามารถส่งผ่านมาถึงตัวคุณได้

หากเพื่อนร่วมงานของคุณกำลังรู้สึกหดหู่ เครียด หรืออารมณ์ฉุนเฉียว หากคุณเป็นคนใกล้ชิดกับเพื่อนร่วมงานท่านนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่คุณจะรู้สึกหดหู่ไปตามๆ กัน และท้ายที่สุด คุณเองก็จะรู้สึกเครียด หดหู่ และอาจคล้อยตามเพื่อนร่วมงานคนนี้ก็เป็นได้

การให้ความช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานที่กำลังเครียด หรือรู้สึกซึมเศร้านั้นไม่ใช่เรื่องไม่ดี และก็เป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อสนับสนุนให้การทำงานเป็นทีมเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น

แต่สิ่งที่ควรทำยิ่งกว่านั้น คือ เข้าใจสภาพของตัวคุณเอง และต้องประเมินสุขภาพจิตของตนเอง เข้าใจตนเอง และเช็คความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นทางด้านจิตใจเช่นกัน เพราะนอกจากการรับฟังและให้ความคิดเห็นที่ไม่ถูกต้องแก่เพื่อนร่วมงานที่กำลังซึมเศร้าจะไม่ก่อให้เกิดผลดีแล้ว ยังสามารถหันมากระทบกับจิตใจของตัวคุณเองได้เช่นกัน

สิ่งที่คุณควรจะทำคือ มองสถานการณ์อย่างเป็นกลาง คิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมา และฟังความจากหลายๆ ฝ่ายก่อนที่จะลงมือตัดสินใจ หรือปักใจเชื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง