COLUMNISTS

ทุน+เทคโนโลยีที่เหมาะสม

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

ทุน+เทคโนโลยีที่เหมาะสม กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

ท่ามกลางข้อเท็จจริงและกระแสความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่มีทีท่าจะเกิดโครงการกระตุ้นกระตุกให้เห็นแววโชติช่วงขึ้นได้ ภายใน 2-3 ไตรมาสข้างหน้า

แต่ก็ได้เห็นกลุ่มหน่วยงานเล็กๆ สายวิจัยและนวัตกรรมที่จุดประกายความหวังทางบวกให้กับกลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการรายย่อมๆที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพข.) ได้ทำบันทึกข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ซึ่งมีด้วยกัน 9 แห่ง ให้เอาผลงานวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยีที่เหมาะสมลงสู่ชุมชน สนับสนุนการประกอบอาชีพของคนจนระดับฐานราก เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อมในชุมชน

กำหนดเวลาดำเนินการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568

ทุน

โดยการสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(ววน.) กว่า 200 ล้านบาท เน้นการสนับสนุนบนฐานงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน  3 มิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม

เฉพาะด้านเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เป้าหมาย 12,000 ครัวเรือนภายใน 2 ปี

รายได้สุทธิของครัวเรือนชนบทเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน (ปีละ 60,000 บาทต่อครัวเรือน) ด้วยการนำงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และพัฒนานวัตกรชุมชนต้นแบบ เป็นตัวกลางการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แก่กลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ทุน

การสนับสนุนกลุ่มอาชีพและการประกอบการขนาดย่อมให้กับชุมชนครั้งนี้ ไม่ใช่เอาโครงการ หรือวัสดุอุปกรณ์ใดๆไปมอบให้เปล่าๆ คณะวิจัย คณาจารย์ตลอดจนนักศึกษาของ มทร. จะพิจารณาบริบทความต้องการของแต่ละชุมชนก่อน

ชุมชนที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องใด เรื่องนั้นควรจะดำเนินการอยู่แล้วและต้องการงานวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม เสริมเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่า ทีมนักวิจัยและคณาจารย์จะพิจารณาบริบทความต้องการ ผลลัพธ์ตั้งแต่ต้น ยันปลายน้ำ

นอกจากสนับสนุนภาคการผลิตให้มีประสิทธิภาพก็จะพิจารณาตลาด มีรองรับหรือไม่ ถ้ามีแล้ว จะจัดการอย่างไร ให้ขายได้ดียิ่งขึ้น

ซอสมังคุด มทร.ตะวันออก 0

มทร.ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่  1. มทร.กรุงเทพ 2. มทร.ตะวันออก 3. มทร.ธัญบุรี 4. มทร.พระนคร 5. มทร.รัตนโกสินทร์ 6. มทร.ล้านนา 7. มทร.ศรีวิชัย 8. มทร.สุวรรณภูมิ และ 9.มทร.อีสาน ทั้งหมดนี้มีที่ตั้งวิทยาเขต 24 จังหวัด กระจายตัวทั้ง 4 ภูมิภาค  มีพื้นที่บริการครอบคลุม 40 จังหวัด

รศ. ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า มทร.ได้พัฒนาคลังข้อมูลเทคโนโลยี รูปแบบ Technology and Innovation Library แล้ว 387 เทคโนโลยี ซึ่งจะสนองตอบความต้องการของพื้นที่ แก้ปัญหา สร้างโอกาสแก่ชุมชน ในรูปแบบศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร ด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นโรงงานต้นแบบในมหาวิทยาลัย วางระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมชุมชน

ทั้งจะเกิดผลกับนักศึกษาหรือผู้สนใจใช้ฝึกยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เป็นความหวังให้กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในชุมชนให้มีโอกาสเกิดรายได้

ครัวเรือนละ 5,000บาทต่อเดือน ปีละ 60,000 บาท รวม 12,000 ครัวเรือนคือตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจน

เป็นข่าวดีสวนกระแสเศรษฐกิจจริงๆ

การพัฒนาเส้นใยกล้วยในงานแฟชั่น มทร.ธัญบุ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่