นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ มักใช้สมองในการทำธุรกิจมากกว่าใช้หัวใจ ทำให้ธุรกิจโดดเด่น แต่หัวใจกลับโดดเดี่ยว สอบผ่านเรื่อง “งาน” แต่สอบตกเรื่อง “คน”
ชีวิตมีแต่ความตึงเครียด เพราะคิดถึงแต่เรื่องรายได้ จนสุดท้ายกลายเป็นคนที่ปราศจากความสุข กระทั่งไม่สามารถสร้างความสุขที่แท้จริงให้ใครได้ ไม่ว่าจะแก่ลูกน้อง ลูกค้า หรือแม้แต่ตัวเอง
อันที่จริงถ้าเปลี่ยนเป็นใช้หัวใจขับเคลื่อนธุรกิจแทนสมอง จะทำให้เรา “รู้จัก” และ “รู้ใจ” ทั้งใจตนเอง ใจสินค้า ใจลูกน้อง ใจลูกค้า และใจสังคม นั่นคือศาสตร์ของความรักอันแสนมหัศจรรย์ ที่จะนำพาให้เรามีความสุขอย่างยั่งยืนในการทำธุรกิจ
แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปสักเท่าไร แต่สิ่งที่ยืนยงคือ “ความรัก” ที่ผลักดันให้มนุษย์รังสรรค์สิ่งต่างๆ ให้โลกใบนี้ ความรักนี้เองที่จะเปิดประตูให้เราค้นพบ “อัตลักษณ์บุคคล” หรือที่ภาษาทางการตลาดเรียกว่า Personal Branding อันเกิดจากส่วนผสมของความรักที่มีต่อ “ตัวตน สินค้า ลูกค้า และสังคม” นั่นเอง
ทำไม Personal Brand จึงมีความสำคัญต่อผู้ประกอบการ
นั่นเพราะการที่เราเข้าใจ และบริหารความสามารถพิเศษของธุรกิจเราได้ ก็จะทำให้ตัวตนของแบรนด์เรามีความชัดเจนมากขึ้น จนกลายเป็นแบรนด์ที่มีคุณค่าเฉพาะตัว แตกต่างจากผู้อื่น หรือแบรนด์อื่น ๆ ในสายตาของลูกค้า
ยุคนี้เป็นยุคของการสร้าง “อัตลักษณ์บุคคล”ให้เป็นที่น่าจดจำ ไม่ใช่น่าจดจำแค่เฉพาะตัวสินค้าและบริการ แต่ “แบรนด์” ต้องเป็นที่จดจำได้ด้วย เพราะโลกธุรกิจยุคนี้เต็มไปด้วยการแข่งขัน คู่แข่งมีมากมายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องทำตัวเองให้เป็น “นวัตกร” สร้างสรรค์สินค้า และบริการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
แต่เราจะเริ่มต้นสร้าง Personal Brand อย่างไรดี
คำตอบก็คือ “ความรัก” นั่นเองที่จะสร้าง “อัตลักษณ์ (รัก) บุคคล (Personal Branding)” ให้เกิดขึ้นได้ โดยมีองค์ประกอบ 4H ดังต่อไปนี้
Heart สร้างอัตลักษณ์ (รัก) ของจิตใจ ด้วยการสำรวจค้นหาหัวใจของตนเองจนพบว่า ตัวตนที่แท้จริงของเราเป็นอย่างไร ตัวตนที่แท้จริงของสินค้าเราคืออะไร
Head สร้างอัตลักษณ์ (รัก) ของความคิด รู้จักคิดแบบคูณสอง และคิดอย่างสร้างสรรค์ จนสินค้าของเราแตกต่างจากคนอื่นในท้องตลาด
Hand การสร้างอัตลักษณ์ (รัก) ของพฤติกรรม ใช้มือประสานมือ เพื่อสื่อสาร และสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบตัวเพื่อทำให้ลูกค้ารักแบรนด์ของเรา
Happy การสร้างอัตลักษณ์ (รัก) ของความสุข ไม่เพียงแค่ทำให้เรารักษาความสุขในการทำธุรกิจไว้อย่างยั่งยืน แต่ทำให้ลูกค้ามีความสุขในการใช้สินค้าหรือบริการของเราอย่างยั่งยืนเช่นกัน
วิทยาลัยดุสิตธานีไม่ได้สอนนักศึกษา เพื่อให้ไปประกอบอาชีพเชฟ หรือพนักงานโรงแรมเท่านั้น แต่เรามุ่งบ่มเพาะให้นักศึกษาเป็นผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจบริการด้วย นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผมซึ่งเป็นอาจารย์สอนทางด้าน Humanities & Social Science อยู่ที่นี่ต้องบอกนักศึกษาอยู่เสมอว่า
ทำไมต้องเรียนวิชารัก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘นวัตกรรม’ สำคัญกับ ‘ธุรกิจบริการ’ อย่างไร
- ‘อุตสาหกรรมบริการ’ ความสมดุลทางเพศ และผลกำไร
- เมื่อความสำเร็จ จำเป็นต้องบอกให้คนอื่นรู้
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg