COLUMNISTS

เรื่องของคนรัก ‘เขา’

Avatar photo
วิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่สอนด้านธุรกิจบริการโดยตรงในเครือโรงแรมดุสิตธานี

ภูชี้ฟ้า ม่อนแจ่ม ดอยอินทนนท์ ภูกระดึง ม่อนจอง ภูป่าเปาะ ดอยลังกาหลวง ม่อนทูเล ที่ผู้เขียนเอ่ยชื่อมานี้ ล้วนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บนความสูงระดับเหนือน้ำทะเลล้วน ๆ

แล้วทุกคนเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ทำไมไม่เรียกสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ว่า “ภูเขา” ทั้งหมดไปเลยง่ายดี วันนี้เราจะมาไขคำตอบให้กระจ่างกันดีกว่า

shutterstock 2496448713

เรามาทำความเข้าใจกับคำทั้ง 3 คำนี้กันก่อน

“ภู” เป็นคำใช้เรียกภูเขาในพื้นที่ภาคอีสาน หรือจังหวัด ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว แปลตามพจนานุกรม แปลว่า ดิน แผ่นดิน โลก หรืออีกความหมายคือ “เนินหินที่สูงขึ้นเป็นจอม” ชื่อเต็มของคำนี้ก็คือ ภูเขา นั่นเอง

ถ้าศึกษากันต่อไปยาว ๆ คำว่า ภู ใช้กันมานานมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งพระสงฆ์จากอินเดียนำพุทธศาสนาเข้ามาเผยแผ่ในดินแดนไทย ภาษาที่มากับคัมภีร์ พระไตรปิฎก ก็มาถึงแผ่นดินไทยของเราด้วย เราเลยพบการใช้คำบาลี-สันสกฤตปะปนอยู่ในภาษาไทย จนได้กลายเป็นภาษาของเราเอง

สรุปคือ ภู เป็นคำบาลี-สันสกฤต ไม่ใช่ไทยแท้ เข้าใจตรงกันนะคะ แต่หากจะมองในแง่ของการสร้างคำใหม่ คำว่า “ภูเขา” ในภาษาไทยเป็นลักษณะของคำซ้อนเพื่อความหมาย ประเภทนำคำที่มีความหมายเดียวกันมาซ้อนกัน เพราะ ภู และ เขา มีความหมายเหมือนกันเลย

“ม่อน” เป็นคำเป็นภาษาเหนือ แปลว่าภูเขา อาจจะเป็นภูเขาที่ไม่สูงมาก ถ้าเรียกแบบเข้าใจง่าย ๆ น่าจะหมายถึง เนินเขา เทียบกับภาษาอังกฤษจะตรงกับคำว่า Hill ค่ะ

“ดอย” เป็นคำใช้เรียกภูเขาในพื้นที่ภาคเหนือภาษาอังกฤษก็คือคำว่า Mountain นั่นเอง

shutterstock 2351777245

จริง ๆ แล้ว ถ้าพวกเราลองให้ความสำคัญกับชื่อของสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ดูบ้าง จะช่วยทำให้ทราบถึงลักษณะของสถานที่เหล่านั้นได้เป็นอย่างดี เพราะตามปกติแล้ว การตั้งชื่อสถานที่ใดก็ตาม ก็มักจะผูกโยงเข้ากับลักษณะเฉพาะของสถานที่นั้นไปด้วย  เช่น “ม่อนจอง” สถานที่ท่องเที่ยวแห่งทิวเขาถนนธงชัย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสามเงา จังหวัดตาก

เพียงแค่เราทำความเข้าใจกับชื่อ เราก็สามารถคาดเดาสถานที่แห่งนั้นได้ว่ามีหน้าตาเช่นไร เพราะในเมื่อเราทราบความหมายของคำว่า “ม่อน” อยู่แล้ว ทันทีที่มารวมเข้ากับคำว่า “จอง” (ภาษาคำเมืองอาจจะออกเสียงว่า จ่อง / จ๋อง ) ซึ่งหมายถึง “ลักษณะจั่วสามเหลี่ยมที่อยู่สูงที่สุด” ก็พอจะจินตนาการได้ว่า สถานที่ท่องเที่ยวแห่งนี้จะต้องมีลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นยอดเขา และมีหน้าผาสูงชันแน่นอน

เห็นไหมว่า การท่องเที่ยวไม่ได้ให้แค่ความสนุกสนานเบิกบานกับวิวทิวทัศน์รอบ ๆ ตัวเท่านั้น แต่ยังได้ความรู้หรือข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเรื่องราวเหล่านั้น อาจไม่มีในสิ่งที่ร่ำเรียนมาก็ได้ (แต่ผู้เขียนก็พยายามสอดแทรกสาระน่ารู้เหล่านี้ในการสอนที่วิทยาลัยดุสิตธานีเสมอนะคะ)

ว่าแล้วก็จัดกระเป๋าออกเดินทางกันเถอะค่ะ… Just go!!!

โต๊ะสะเบื๊อก
ผู้เขียน: นิศา บูรณภวังค์ อาจารย์ประจำสังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่