ผมร่วงเกิดจากอะไร สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และสัญญาณเตือน มีอะไรบ้าง เช็กการแก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติที่นี่
ผมหลุดร่วง เป็นเรื่องปกติธรรมดาอยู่แล้ว แต่ถ้าหากผมของเราร่วงเยอะมากขึ้นกว่าเดิม หรือมีอาการผมร่วงที่ไม่ปกติ ก็เป็นธรรมดาที่จะเกิดความกังวลเช่นกัน และอาการผมบาง ผมร่วงนี้ เป็นปัญหาหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยโดยเฉพาะวัยสูงอายุที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายและอาจมีอาการผมร่วงรุนแรงกว่าคนวัยอื่น แล้วผมร่วงเกิดจากอะไร สาเหตุ ปัจจัยเสี่ยง และสัญญาณเตือน มีอะไรบ้าง รวมวิธีแก้ผมร่วงแบบธรรมชาติที่มีส่วนช่วยทำให้ผมกลับมาดูดีได้อีกครั้ง
ผมร่วงคืออะไร?
เส้นผม คือโปรตีนที่ชื่อว่าเคราตินที่ผลิตในรูขุมขนของผิวหนัง ซึ่งเส้นผมนี้จะมีการสร้างใหม่ตลอดเมื่อผมเส้นก่อนร่วงออกไป และส่วนมาก เส้นผมของเราจะมีความยาว 6 นิ้วต่อปีถ้าหากไม่ได้ตัด
จำนวนเส้นผมของแต่ละคน จะเยอะจะน้อยก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่ประมาณ 100,000-150,000 เส้นและโดยปกติ เส้นผมของเราจะมีการหลุดร่วงประมาณ 50-100 เส้นต่อวัน ผู้เขียนเองก็เคยมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องผมร่วงมาก่อน เพราะเวลากวาดห้องทีหรือดูดฝุ่นที ก็เห็นเส้นผมตัวเองบนพื้นเต็มไปหมด จนมารู้ว่าผมที่ร่วงนั้นไม่ได้น่ากังวลอะไร เพราะเส้นผมของเราจะเกิดขึ้นมาทดแทนหรือเกิดการผลัดเส้นผมอยู่แล้ว
แต่อาการผมร่วง จะเกิดขึ้นเมื่อผมใหม่ไม่สามารถทดแทนผมที่หลุดร่วงออกไปได้
สาเหตุของอาการผมร่วง เกิดจากอะไร?
- ประวัติครอบครัวหรือกรรมพันธุ์ กว่า 50% ของคนที่มีภาวะผมร่วง มาจากสาเหตุทางกรรมพันธุ์นี้ ซึ่งภาวะผมร่วงจากสาเหตุนี้ เราเรียกว่าผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgen alopecia) อาการจะออกเมื่อมีอายุมากขึ้นและร่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ และสามารถคาดเดาอาการได้ จะมีอาการผมร่วงบริเวณกลางศีรษะของผู้ชาย และผมจะบางตรงบริเวณกระหม่อมในผู้หญิง
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จากการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ท้อง คลอดบุตร และปัญหาไทรอยด์ ภาวะผมร่วงประเภทนี้ จะเรียกว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่เข้าไปทำลายรูขุมขน ส่งผลให้ผมร่วงมีลักษณะเป็นหย่อม อาจมีขนาดเล็ก ใหญ่ แตกต่างกันออกไป บางคนอาจคิ้วร่วง หรือขนส่วนอื่นของร่างกายร่วงด้วยเช่นกัน
- จากการถูกรังสีหรือการรักษาโรคมะเร็ง ภาวะนี้จะเรียกว่า Anagen effluvium ที่เกิดจากการรับรังสีบริเวณศีรษะ หรือการรักษาโรคมะเร็งด้วยการทำคีโม และส่วนใหญ่ผมจะกลับมาหลังจากการรักษาเสร็จสิ้น
- การใช้ยาบางชนิด เนื่องจากเป็นผลข้างเคียงของการทานยารักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคข้ออักเสบ โรคซึมเศร้า โรคหัวใจ โรคเก๊าท์ รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
- ผมถูกรวบตึงมากและบ่อยเกินไป จากการถูกดึง มีแรงกดดันที่เส้นผมมากเกินไปจากการทำผม ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมร่วงเช่นกัน ภาวะนี้จะเรียกว่า Traction alopecia
- ความเครียด ความเจ็บป่วย ทั้งสภาพจิตใจและสภาพร่างกายที่ไม่ดีแบบหนักหน่วง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงเฉียบพลัน (Telogen effluvium) ได้เช่นกัน
- โรคบางโรค เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคขาดธาตุเหล็ก ก็อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะผมหลุดร่วงได้ด้วยเช่นกัน
- การขาดวิตามิน วิตามิน A, B, C, D และวิตามิน E รวมถึงการขาดซิงค์และธาตุเหล็ก
สัญญาณเตือนของภาวะผมร่วง
- ผมบางบริเวณกลางศีรษะมากขึ้น ซึ่งเป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อย มักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากหรือเข้าสู่ช่วงสูงวัย ในผู้ชาย ผมจะเริ่มบางจากบริเวณหน้าผากขึ้นไป ผู้หญิงจะเริ่มที่ตรงกลางศีรษะ
- ผมร่วงเป็นหย่อม อาจมีอาการคันหรือเจ็บก่อนที่ผมจะร่วง
- ผมร่วงแบบกะทันหัน อาจสังเกตได้จากการหวีผมหรือตอนสระผม จะมีลักษณะหลุดออกมาเต็มกำมือ
- ขนร่วงเยอะกว่าปกติ จากการรักษาโรคต่าง ๆ หรือการทำคีโมของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
แก้ผมร่วงด้วยวิธีธรรมชาติ 7 วิธี
- รับประทานอาหารหลากหลาย ครบ 5 หมู่ ผัก ผลไม้ โปรตีน อาหารไขมันดี วิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระสูง เช่น ผักใบเขียว ถั่ว ปลาแซลมอน จะมีส่วนทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และทำให้สุขภาพผมดีขึ้นด้วยเช่นกัน
- อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน้ำในปริมาณที่มากเพียงพอในทุกวัน ประมาณ 11.5 (ผู้หญิง) – 15.5 (ผู้ชาย) แก้วต่อวัน เพื่อให้ร่างกายชุ่มชื้น ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
- นวดหนังศีรษะ ถ้าเคยไปร้านทำผมแล้วขอให้ช่างสระผมให้ ก็จะมีบริการนวดหนังศีรษะอยู่ในขั้นตอนการสระผมด้วย ซึ่งการนวดศีรษะที่นอกจากจะสบายแล้ว ก็สามารถช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปยังรูขุมขน และส่งเสริมให้การเจริญเติบโตของเส้นผมได้ด้วย
- ลดความเครียด เพราะความเครียดเรื้อรัง สามารถทำให้ผมร่วงได้ การจัดการกับความเครียดเลยเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพจิตแล้ว ก็เป็นการดูแลสุขภาพผมไปได้ในตัวด้วย เราสามารถลดความเครียดได้ด้วยหลายวิธี เช่น การหากิจกรรมหรืองานอดิเรกใหม่ ๆ ทำ การทำสมาธิ การทำโยคะ เป็นต้น
- เลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาสระผม น้ำยาแต่งผม หรือน้ำยาย้อมผมที่มีสารเคมีรุนแรง ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมหลุดร่วงได้ พยายามลดการแต่งทรงผม เพื่อป้องกันเส้นผมไม่ให้เกิดความเสียหาย
- ดูแลเส้นผมอย่างอ่อนโยน การใช้แชมพู ครีมบำรุงผมหรือครีมนวดผมที่มีความอ่อนโยนต่อเส้นผมและหนังศีรษะ สำคัญอย่างมากเมื่อมีภาวะผมบางหรือผมขาดหลุดร่วง นอกจากนี้ก็ควรเลี่ยงการสระผมด้วยน้ำร้อนและใช้น้ำตามอุณหภูมิที่เหมาะสมแทน
- เปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์บ้าง ลดกิจกรรมสังสรรค์ให้น้อยลง ดื่มให้น้อยลง พยายามเลิกสูบบุหรี่ เพราะพฤติกรรมไลฟ์สไตล์เหล่านี้ก็มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเส้นผมด้วยเช่นกัน
ผมร่วงถือว่าปกติ แต่ถ้าร่วงมากเกินไปก็แก้ได้เช่นกัน
เพราะสาเหตุของอาการผมร่วงนั้นมีหลากหลาย วิธีการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็อาจมีความแตกต่าง แต่การปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างที่สามารถทำได้ด้วยตัวเองที่ได้อธิบายไว้ใน 7 วิธีแก้ผมร่วงแบบธรรมชาติ รวมถึงการทานอาหารบำรุงเส้นผมด้วย ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้เส้นผมกลับมามีสุขภาพดี เคียงคู่กับการเข้ารับการรักษาจากแพทย์โดยตรง
Tiktok : vt.tiktok.com/ZS2kd4kMv/
i-Kinn : i-kinn.com/what-causes-hair-loss-how-to-fix-it/
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ส่อง 5 อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรกิน!
- 9 อาหารบำรุง ‘เส้นผม’ ลด ‘ผมร่วง’ ที่คนวัย 50+ ถามหา!
- ดื่ม ‘ชาเขียว’ ทุกวัน ร่างกายจะได้อะไรบ้าง?
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg