COLUMNISTS

น้ำท่วมหรือแล้ง!

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

น้ำท่วมหรือแล้ง!

น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง

ประโยคนี้ไม่เหมาะจะพูด ถ้าอยู่ในที่ที่ประสบอุทกภัย

แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ยอมรับได้

น้ำเป็นทรัพยากร เป็นแหล่งกำเนิดหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์ชีวิต ลำเลียงอาหารพืชไปตามแหล่งต่างๆ

ชุมชน แหล่งเศรษฐกิจในเมืองหรือพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ชอบเพราะก่อความเสียหายระยะแรก ทั้งที่ผลด้านบวกมีขึ้นภายหลังมากมาย

น้ำท่วมหรือแล้ง

เหตุน้ำท่วมหนักทางภาคเหนือ ดินถล่มที่จังหวัดภูเก็ต ภาคใต้ การให้ข้อมูลเพียงบางส่วนว่าน้ำเหนือกำลังหลากลงแม่น้ำเจ้าพระยา บ้างอุตริแชร์ภาพแผนที่น้ำท่วมกรุงปี 54 ยิ่งทำให้คนกรุงเทพฯรวมถึงภาคกลางระส่ำระสาย

ผู้ได้รับข้อมูลเป็นท่อนๆจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ กังวลล่วงหน้ากันทั้งนั้น

น้ำท่วมครั้งนี้ ยอมรับว่าหน่วยงานภาครัฐมีประสิทธิภาพการตั้งรับโดยพร้อมเพรียงเป็นอย่างดี สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ก็ประสานกันให้ข้อมูลโดยตลอด หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน ใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลถูกที่ ถูกเวลา

การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยภาคเอกชนก็ฉับไวมีประสิทธิภาพ ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี ประสานการช่วยชาวบ้านได้ดี ได้เห็นโดรนขนส่งสิ่งของที่จำเป็นเช่นยารักษาโรคสู่พื้นที่เข้าถึงยากอย่างรวดเร็ว

กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งมีทั้งดาวเทียม ระบบสารสนเทศ คลังข้อมูลน้ำที่รวบรวมจาก 52 หน่วยงาน 12กระทรวง หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยที่กระจายทั่วประเทศก็แสดงบทบาทตามศักยภาพเต็มที่

สำนักงานสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์และประสานงานกับ กอ.รมน.ภาค 3 แจ้งความเสี่ยงอาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เป็นส่วนให้การรับมือเมื่อเกิดสถานการณ์ฉับไว

gistda กราดดาวเทียมส่องลำน้ำ เจอผักตบขวางทางไหล ก็ส่งให้ผู้เกี่ยวข้องกำจัด

น้ำท่วมหรือแล้ง

จังหวะที่รัฐบาลยังตั้งไม่เรียบร้อย คนจะเป็นครม.จึง เก้ๆกังๆ จะผัดข้าว จะติดไฟ ก็ไม่แน่ใจอันไหนทำก่อนดี เครือข่ายกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม ใช้โดรนขนอาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน จากงานวิจัยเหาะไปแจกให้ฉีกซองใส่ปากทันทีที่หิว

นักการเมืองรุ่นใหม่ควรรู้ว่า การรับมือภัยพิบัติล้ำหน้าไปเยอะแล้ว อย่ามัวงมกะทะข้าวผัดอยู่เลย

จะติงเครือข่ายรับมือภัยพิบัติบ้าง ก็ตรงไม่มีโฆษกและแกนนำการคาดการณ์และการสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ดีกับสังคม

ควรมี เพื่อเอาข้อมูลที่เป็นท่อนๆมารวมกันแล้วอธิบาย มีเว็บหรือเพจกลางให้ผู้ประสบภัยรายงานความต้องการ

บันทึกทุกเรื่องเป็นคู่มือ วันข้างหน้ามีเรื่องทำนองนี้อีก ก็คว้ามาปรับใช้ได้

นี่ถือเป็นข้อดีที่เกิดตอนน้ำท่วม

จะประยุกต์ใช้ตอนแล้งบ้าง คงดี

น้ำท่วมหรือแล้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่