บริโภคอย่างมีเมตตา
โลกปัจจุบัน จะกินอาหาร คนส่วนหนึ่งยังอยู่บนพื้นฐานความเมตตา ถ้ารู้ว่าการได้มาซึ่งวัตถุดิบมีความรุนแรง การขนส่งไม่สะอาด ส่งผลกับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็หลีกเลี่ยง
สวัสดิภาพสัตว์ก็สนใจ ใส่ใจ
วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 Sinergia Animal (ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล) องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับนานาชาติจากบราซิล นำนักกิจกรรมนับสิบจาก8ประเทศ รณรงค์ที่ลานคนเมือง ศาลาว่าการ กทม.เสาชิงช้า หน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม ทวงคืนความยุติธรรมให้สัตว์ในระบบผลิตอาหาร
แคโรลิน่า กาลวานี (Carolina Galvani) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Sinergia Animal กล่าวว่า รณรงค์เพื่อให้ทุกคนรับรู้ รับผิดชอบ ไม่มองข้ามข้อเท็จจริงของระบบการเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหาร ยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบขังในกรงแคบๆ ลูกไก่ก็ถูกตัดจงอยปาก เพื่อไม่ให้จิกกัดกัน จึงเรียกร้องให้เลี้ยงแบบไร้กรงขัง ให้แม่ไก่ใช้ชีวิตตามธรรมชาติ ไม่แออัด
เธอบอกไทยเป็นประเทศที่ผลิตไข่ไก่มากที่สุดในเอเชีย การผลิตได้มาก ก็คือความทุกข์ของแม่ไก่นับล้านในกรง ทางองค์กรอยากให้แน่ใจว่า วิธีผลิตอาหารมีมนุษยธรรมและมีจริยธรรมคำนึงถึง คน สัตว์ และสาธารณสุข
เป้าหมายขององค์กรพิทักษ์สัตว์นานาชาติแห่งนี้ ขอให้บริษัทและผู้ผลิตทั่วประเทศ เปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับสวัสดิภาพสัตว์ เช่น เลี้ยงไก่แบบไร้กรงขัง ให้แม่ไก่ได้แสดงออกตามธรรมชาติ
โดยแนะนำว่า กลุ่มธุรกิจค้าปลีก หรือกลุ่มผู้ผลิตอาหาร ควรจะเปิดตลาดรองรับไข่แบบไร้กรง (Cage-free eggs) ซึ่งจะเพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์ และช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้น เพราะผู้บริโภคสนใจแหล่งที่มาของอาหาร และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ยึดหลักมนุษยธรรมและความยั่งยืน
แคโรลิน่า กาลวานี สื่อถึงผู้บริโภคขอให้ลด ละ เลิก กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และสนับสนุนการเลือกกินอาหารไร้เนื้อสัตว์ เช่นอาหารจากพืช (Plant-based diet) ซึ่งทำได้ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ คุณค่าทางโภชนาการก็สูงพอๆกัน ถ้ามีความนิยมมากขึ้น สัตว์ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม โลกก็จะไม่มีใครถูกทำร้ายในการผลิตอาหาร
หันมาดูระบบการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ พบว่า กรมปศุสัตว์ก็มีหลักเกณฑ์ตามกติกาสากล เรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ 1.ปราศจากการทิ้ง การละเลย และให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง 2.ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม 3.ปราศจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ และโรคภัย 4.ปราศจากความกลัว และทุกข์ทรมาน 5.มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์
สวัสดิภาพสัตว์นี้มีผลต่อสุขภาพสัตว์ เป็นไปหลักวิทยาศาสตร์
ขณะที่เอกชนผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะรายใหญ่ ก็มีนโยบาย กฎเกณฑ์ควบคุมการปฏิบัติที่ดี เช่น การเชือดชำแหละก็ต้องทำให้หมดความรู้สึกหรือสลบก่อน
ธุรกิจที่ให้รางวัลการผลิตอาหารระดับนานาชาติก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
สิ่งที่องค์กรพิทักษ์สัตว์เรียกร้อง ส่งเสริมให้เลี้ยงหรือเลือกบริโภคไข่ไก่ที่ไม่ขังกรง เป็นสิ่งที่ผู้ผลิตควรรับไป เพราะผลได้ ผลดี ย่อมมีแก่ธุรกิจและผู้บริโภค ทั้งนี้ ดังที่เห็นกันว่า ผู้เลี้ยงไก่รายย่อยที่ใช้วิธีเลี้ยงกึ่งปล่อย ให้กินของที่มีในธรรมชาติ ไม่ใช้อาหารเม็ด ผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
อุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ อาจทำได้ยาก แต่ก็ควรปรับวิธีการเลี้ยงและการผลิตให้ดียิ่งขึ้น
ผู้บริโภคปัจจุบัน ไม่ได้สักแต่อิ่ม อร่อย เท่านั้น คำนึงถึงคุณภาพ คุณค่า และกำลังพัฒนาสู่การกินด้วยความเมตตา มีจริยธรรมในการสรรหา
ความเมตตาต่อเนื้อสัตว์ในจานตรงหน้า จะส่งผลถึงเหล่าสัตว์ที่ผู้ผลิตอาหารจะเลี้ยงดูด้วยความกรุณา ซึ่งเหนือกว่ากฎเกณฑ์สวัสดิภาพสัตว์ที่ประกาศไว้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg