COLUMNISTS

นวัตกรรมสู้แล้ง-น้ำท่วม

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

นวัตกรรมสู้แล้ง-น้ำท่วม

สิงหาคมและกันยายน คือ2เดือนที่ฝนมากสุดในรอบปี ภาวะท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หากเทกระหน่ำจุดใดจุดหนึ่ง ก็โดนกันช่วงนี้

พอถึงตุลาคม น้ำเหนือหลากจาก จังหวัดนครสวรรค์ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา พระนครศรีอยุธยา ก่อนลงทะเลอ่าวไทย มักจะออแถวจังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานคร รอน้ำขึ้นน้ำลง หรือบางวันเจอน้ำหนุนสูง ก็จะทำให้คนกรุงใจแป้วเป็นพักๆ

นวัตกรรมสู้แล้ง

แผนจัดการลุ่มน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน คือพยายามรักษาอัตราการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนผ่านภาคกลางตอนล่างและ กทม.ให้ไม่เกิน3,000 ลูกบาศก์เมตร(คิว)/วินาที ส่วนเกินถึง 3,500 คิว/วิ ก็ผลักออกทุ่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ที่ทำความตกลงกับเกษตรกรให้เพาะปลูก เก็บเกี่ยวผลผลิตให้เสร็จตั้งแต่เดือนกันยายน

หลังวันที่ 11 กรกฏาคม 2567 เกิดมิติใหม่ “การบริหารจัดการน้ำโดยพื้นที่” ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ กับปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ และ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ลงนาม

นวัตกรรมสู้แล้ง

ตกลงกันว่า หน่วยงานท้องถิ่นสังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รับผิดชอบแหล่งน้ำขนาดเล็กในพื้นที่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)จะดูแลบริหารจัดการน้ำขนาดกลางในพื้นที่รับผิดชอบ ใหญ่กว่านั้นเช่นลุ่มน้ำ เป็นหน้าที่กรมกองต่างๆ

การบริหารจัดการน้ำ เป็นการดูแลทั้งน้ำกินน้ำใช้ เช่นประปาหมู่บ้าน แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร เชื่อมโยงข้อมูลกับ อบจ.รับมือเมื่อเกิดน้ำท่วมในท้องถิ่นตำบล

กระทรวง อว.จะสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและเทคโนโลยี โดย สกสว.คลังข้อมูลการวิจัยจะเป็นโซ่ข้อกลางประสานเอาองค์ความรู้ทันสมัยไปเชื่อมกับท้องถิ่นผู้ปฏิบัติ

แอปพลิเคชันบันทึกและสืบค้นข้อมูลแหล่งน้ำ ที่ อบต.ทำผังน้ำไว้กับแผนที่ตำบล ประชาชนหรือเกษตรกรจะช่วยกันบันทึกข้อมูลแหล่งน้ำ บอกขนาดกว้างยาว ลึก รวมถึงน้ำใต้ดินเจาะไว้ตรงไหน

มีข้อมูลความรู้เรื่องพืช และการเพาะปลูกที่สัมพันธ์กับสภาพทรัพยากรน้ำ

นวัตกรรมสู้แล้ง

“ไอ คงสุข” เกษตรกร ตำบลหนองผักแว่น อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี บอกในแอปพลิเคชัน ทำให้ทราบว่าควรปลูกพืชสวนครัว เช่นพริก แตงไทย มะเขือ ผลผลิตมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของพ่อค้ารับซื้อ มีทางเลือกเป็นตลาดนัดในชุมชน เพราะผู้บริโภคชอบใจกับพืชผักที่เห็น คิดแล้วคุ้มกว่าทำไร่ข้าวโพดเป็นไหนๆ

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ผอ.บริหารแผนงานการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ด้านการบริหารจัดการน้ำ กล่าวถึงสงสัยว่า อบต.จะมีความพร้อมด้านบุคลากร งบประมาณ แค่ไหน ว่างานของ อบต.มี 2 ส่วนคือวางแผน เรียนรู้การเขียนของบประมาณต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง จุดใดคือปัญหาของพื้นที่ อีกส่วนเป็นด้านปฏิบัติ ใช้ช่างเทคนิคในพื้นที่วิเคราะห์ออกแบบ ถ้าจำเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะช่วยสนับสนุนทางเทคนิค

นวัตกรรมสู้แล้ง

รศ.ดร.สุจริต อธิบายว่า ที่เป็นอยู่ เป็นการจัดการระบบลุ่มน้ำ แต่แบบที่นำมาใช้ จะทำผังน้ำเป็นสายน้ำหลักถึงระดับจังหวัด ระดับชุมชนดูแลสายน้ำย่อย ระดับพื้นที่ที่ต้องทำผังชุมชนให้เชื่อมโยงกับผังกลาง(จังหวัด)และผังใหญ่(ลุ่มน้ำ) ศึกษาว่าในพื้นที่น้ำไหลมาจากไหนออกไปตรงไหน ลงจากลำน้ำหลักสู่แหล่งน้ำ และต้องทราบว่าจากชุมชนน้ำจะหลากต่อไปที่ไหน

ชาวบ้านที่เป็นแค่ผู้ประสบภัย ต่อจากนี้จะได้รู้เส้นทาง รู้ประโยชน์ รู้ทางป้องกัน และเห็นทางหนีทีไล่ถ้ารับไม่ไหวเอาไม่อยู่

คอยดู ผลออกมาจะเป็นอย่างไร

เรือข้าม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่