COLUMNISTS

สุดขั้ว จากเอลนีโญ สู่ลานีญา

Avatar photo
วีระพันธ์ โตมีบุญ อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
อดีตบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการข่าวเว็บไซต์ และคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

สุดขั้ว จากเอลนีโญ สู่ลานีญา

พ้นจากฤดูร้อนอุณหภูมิสูง 40 องศา พอจะผ่อนคลายกับฝนต้นฤดู ก็มีรายงานภาวะลานีญาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ชวนกังวลใจต่อปัญหาน้ำท่วมปลายปีซะอีกแล้ว

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุ ว่า อิทธิพลจากเอลนีโญช่วงที่ผ่านมา อากาศร้อนแห้งแล้ง กระทบต่อกิจกรรมที่ต้องพึ่งน้ำ สินค้าการเกษตร มีข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยา จะเข้าสู่ภาวะลานีญาเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม อาจมีฝนตกหนักมากกว่าปกติ คาดว่ากระทบกับกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พวกผักสด ผลไม้สด ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นจากอุปทานขาดแคลน เพราะน้ำมากไป ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง

สุดขั้ว

กลุ่มที่เกรงมหาอุทกภัย 2554 จะกลับมาก็มี นักวิชาการบางคนบอกมีโอกาสที่ภาวะรุนแรงอากาศสุดขั้ว ฝนตกเกิน 100 มม.ใน 24ชม.อาจเกิดขึ้น

ความกังวลจากข้อมูลวิชาการเกิดขึ้นได้ แต่ก็ควรฟังผู้มีหน้าที่โดยตรง การพยากรณ์อากาศที่น่าเชื่อถือ ต้องเป็นข้อมูลช่วงใกล้เคียง ถ้าเก็งว่าพรุ่งนี้ หรืออาทิตย์หน้า ฝนจะตกหรือไม่ มักเป็นตามนั้น แต่ถ้าถามว่าเดือนมิถุนายนปีหน้าฝนจะมากหรือน้อย คนที่รับผิดชอบคงไม่ตอบ

ประเด็นน้ำจะท่วมหนักขนาดปี2554หรือไม่ โดยเฉพาะภาคกลาง กรุงเทพฯ อดีตอธิบดีกรมชลประทานท่านหนึ่งเคยบอก ให้ดูฝนทางเหนือช่วงต้นปีและปริมาณน้ำในเขื่อนหลัก 2 แห่ง คือเขื่อนภูมิพล จังหวัดตากและเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

สุดขั้ว

”บันทึกเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554” บนเว็บไซต์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ที่สรุปข้อมูลรอบด้าน อธิบายสาเหตุเฉพาะด้านธรรมชาติมี 3 เรื่องใหญ่

  1. ฝนมาเร็วกว่าปกติ ช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2554 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 35% โดยฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือนมีนาคม มากกว่าค่าปกติถึง 227% เดือนเมษายนก็มากกว่า 45%  เนื่องจากลานีญาค่อนข่างแรงช่วงครึ่งแรกของปีและปลายปี

มีพายุ5ลูก ปลายเดือนมิถุนายนพายุโซนร้อน “ไหหม่า” ถล่มภาคเหนือ ปลายเดือนกรกฎาคม ยังไม่ทันได้ระบายน้ำตามเกณฑ์ พายุ “นกเตน” ถล่มซ้ำภาคเหนือพื้นที่เดิม ปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น หลังจากนั้นพายุ “ไห่ถาง”กระหน่ำพื้นที่ริมแม่น้ำโขง กระทบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถัดมาวันที่ 27-29 กันยายน พายุ “เนสาด” สาดเข้าภาคคตะวันออกเฉียงเหนือและด้านตะวันออกของภาคเหนือ และสุดท้ายช่วงวันที่ 5-7 ตุลาคม ”นาลแก” ทำให้มีฝนมากทางภาคกลางและภาคตะวันออก ในจังหวะที่ภาคกลางกำลังเป็นทางผ่านของน้ำหลากจากภาคเหนือ

พายุ และสภาพอากาศ ทำให้ปี 2554 มีฝนมาก กรุงเทพฯปริมาณฝนสะสมสูงสุด โดยวันที่ 1 ธันวาคม 2554 มีสะสมถึง 2,257.5มม.เทียบกับค่าเฉลี่ย 20 ปี ของสำนักการระบายน้ำ สิ้นเดือนพฤศจิกายนมี 1,654.4 มม. และค่าเฉลี่ย 30 ปี ของกรมอุตุนิยมวิทยา สิ้นเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ 1,973.5 มม.

  1. ปริมาณน้ำไหลลงสะสมในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และมีข้อจำกัดในการระบายจากสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายเขื่อน
  2. น้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย ช่วงปลายเดือนตุลาคม กลางเดือนพฤศจิกายน และปลายเดือนพฤศจิกายน ทำให้การระบายน้ำทำได้ล่าช้า

เป็นธรรมดาข้อมูลบางด้าน สร้างความกังวลได้ จึงต้องฟังอีกฟากจากหน่วยงานหรือผู้มีหน้าที่โดยตรง

สุดขั้ว

ครึ่งแรกของปี 2567 ไม่มีพายุสักลูก อ่างเก็บน้ำหลักทั้ง 2 แห่ง มีประมาณรวมกันแค่ 43% สถิติน้ำฝนสะสมจนถึงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 มีแค่265.6 มม.ต่ำกว่าค่าปกติ 82.8มม.หรือน้อยกว่ากัน 24%

ฟังหูไว้หู ดูข้อมูลอากาศให้ผ่อนคลาย ปลายปีค่อยตื่นเต้นก็ยังทัน

ฝนเฉลี่ยรายเดือน30ปีของ กทม

อ่านขาวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่