COLUMNISTS

ถอดรหัส ‘มาตรา 44’ อำนาจที่ไม่อยากให้หลุดมือ

Avatar photo
900

ยังเป็นที่กังขาสำหรับการใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่รัฐธรรมนูญปี 60 ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ให้ความคุ้มครองเอาไว้ จากกรณียืดหนี้ให้กับ 3 บริษัทค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ซึ่งมีการคำนวณจาก อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ ไว้ว่า แต่ละรายจะได้ประโยชน์ราว 8,000 ล้านบาทรวม 24,000 ล้านบาท

logo

เรื่องดังกล่าว เป็นสิ่งที่ประชาชนมีแต่เสียเปรียบในฐานะผู้เสียภาษี ยังไม่นับรวมถึงมูลค่าหุ้นของทั้ง 3 บริษัทที่เด้งรับการใช้อำนาจพิเศษครั้งนี้ทันที ทำให้หลุดพ้นจากข้อครหาอุ้มนายทุนได้ยาก เนื่องจากการยกประโยชน์ให้ 3 ค่ายมือถือรายเก่า ไม่มีการพูดถึงเลยว่าจะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้เล่นรายใหม่ที่สนใจจะเข้าสู่ธุรกิจ 5จี หรือไม่

ยิ่งเป็นการใช้อำนาจพิเศษหลังเลือกตั้ง โดยฉวยโอกาสช่วงชุลมุนที่คนกำลังจะหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ ก็ยิ่งทำให้การใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. ถูกตั้งคำถามมากขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวเคยมีกระแสข่าวว่าคสช.จะดำเนินการเช่นนี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ในขณะนั้นมีกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย จนทำให้ไม่กล้าเดินหน้า ประชาชนเกือบจะลืมไปหมดแล้วว่า ยังมีแนวทางนี้อยู่

กระทั่งมีการนำมาปัดฝุ่นเดินเครื่องใหม่ ด้วยการนำเอากรณีประมูล 5จี มาเป็นข้ออ้างในการยืดหนี้ให้กับเอกชนทั้ง 3 ราย แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมจริงหรือไม่สำหรับการดำเนินการ 5จี ตามแผนของกสทช. 

การระบุให้ทั้ง 3 บริษัทต้องประมูล 5จี จึงจะเข้าเงื่อนไขในการยืดหนี้นั้น ก็เป็นข้อตกลงในลักษณะหลวม ๆ ที่รัฐบาลเขียนไว้เพียงฝ่ายเดียว เพราะในแง่ของเอกชนหากต้องการได้ประโยชน์ แต่ไม่พร้อมที่จะเดินหน้า 5จี ก็สามารถดำเนินการได้ง่ายๆ ด้วยการเข้าร่วมประมูลแต่ยื่นซองในราคาที่รู้ว่าจะไม่ได้สัมปทานดังกล่าว แค่นี้ก็ได้รับการยืดหนี้ไปฟรี ๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อธุรกิจ 5จี ที่อาจมีความเสี่ยงในอนาคต

ประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่พล.อ.ประยุทธ์ และผู้ที่เกี่ยวข้องไม่เคยพูดถึง มีแต่ความพยายามที่จะอ้างว่ายืดหนี้ไม่ใช่การยกหนี้ ประชาชนไม่เสียประโยชน์ เพราะแลกมากับการดำเนินธุรกิจ 5จี ที่ขายฝันว่า จะทำให้ประเทศไทยก้าวไกลในเรื่องเทคโนโลยี โดยไม่ได้ย้อนมองว่า กสทช. ล้มเหลวมาแล้วหลายครั้ง ในการดำเนินนโยบายของตัวเอง จากการเปิดประมูลคลื่น 4จี ปล่อยให้ แจสโมบาย ซึ่งชนะการประมูลทิ้งใบอนุญาตได้ง่ายๆ จนต้องไปเชิญชวนให้ เอไอเอส มารับใบอนุญาตแทน รวมถึง ความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบ ทีวีดิจิทัล ทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนงาน

อีกทั้งการประชาสัมพันธ์ก็เป็นไปโดยไม่ทั่วถึง จนทำให้ ไทยทีวี ของเจ๊ติ๋มได้รับความเสียหาย ธุรกิจทีวีดิจิทัลประสบปัญหาขาดทุน เพราะออกใบอนุญาตรวดเดียวถึง 24 ใบ ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ยอดการชมโทรทัศน์ลดลงหันมาเสพความบันเทิงผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น จนคสช.ต้องเข้าไปแก้ปัญหามาแล้วครั้งหนึ่งจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายพักชำระค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเป็นเวลา 3 ปีโดยให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 1.5% ต่อปีและลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 2 ปี

ทีวีดิจิทัล

มาคราวนี้เป็นการใช้อำนาจพิเศษอุ้มภาค 2 ด้วยการออกมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัล เปิดโอกาสคืนคลื่นอ้างว่าจะนำไปใช้ประมูลคลื่น 5จี สร้างความชอบธรรมให้กับมาตรการยืดหนี้ 3 บริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ว่า จะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อเข้าร่วมประมูล 5จี ด้วยเท่านั้น ดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้น

ในขณะที่ กสทช.ไม่ได้ทบทวนบทเรียนเลยว่า การดำเนินนโยบายของตัวเองมีปัญหาอย่างไร แต่กลับเสนอพล.อ.ประยุทธ์ให้ใช้อำนาจพิเศษไปแก้ปัญหาให้กับตัวเองโดยพล.อ.ประยุทธ์ก็รับลูกเสียด้วย

ส่วนกสทช. ลอยตัวเหนือปัญหาไม่ต้องรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของตัวเองเลย ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า หากเดินหน้าธุรกิจ 5จี แล้วเกิดปัญหาอีก รัฐต้องเข้าไปอุ้มเอกชนหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าในตอนนั้นไม่มีมาตรา 44 แล้วจะเดินหน้ากันอย่างไร

หากเราถอดรหัสการใช้อำนาจ มาตรา 44 ทั้งๆ ที่ประเทศไทยกำลังจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง อาจมองได้ว่า นี่เป็นการทิ้งทวน เพราะอำนาจในมือใกล้หมดลงแล้ว หรือ ในทางตรงกันข้ามเป็นภาพสะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์ เคยชินกับการใช้อำนาจพิเศษ จนน่าสงสัยว่าเมื่อไร้อำนาจพิเศษแล้ว จะสามารถบริหารประเทศได้หรือไม่

ชวนให้เกิดคำถามว่าปัญหาการตั้งรัฐบาลที่ช่วงชิงกันอยู่ระหว่าง 2 ขั้วการเมือง และทำท่าว่าจะเดินต่อได้ยาก เพราะเสียงปริ่มน้ำทั้งคู่จนอาจทำให้การตั้งรัฐบาลยืดเยื้ออาจไม่ใช่สิ่งที่พลเอกประยุทธ์เป็นกังวล เพราะยิ่งมีรัฐบาลหลังเลือกตั้งล่าช้าออกไปเท่าไหร่ อำนาจพิเศษที่มีอยู่ในมือยิ่งใช้ได้นานเท่านั้น