ณ ช่วงเวลานี้ คงไม่มีใครฮอตเท่า “พี่จอง-น้องคัลแลน” ที่มีทั้งด้อมวัยเรียน ด้อมวัยทำงานไล่เรื่อยไปถึงด้อมวัยเกษียณอีกแล้ว
อะไรที่เป็นแรงดึงดูดให้พวกเราตกหลุมรักสองหนุ่มยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยวไทยชาวเกาหลี ถึงขั้นทำให้เราติดตามดูคลิปของพี่จอง-น้องคัลแลน กันข้ามวันข้ามคืน เป็นเพราะรูปร่าง หน้าตา หรือภาษาที่ใช้ ถ้าอย่างนั้นเราลองมาวิเคราะห์ในเชิงภาษาไทยกันดีกว่านะคะ
คัลแลน หรือ พัค กี ดึก (Park Ki Deuk) มาเปิดกิจการร้านกินดื่มร่วมกับเพื่อนที่ประเทศไทย คัลแลนเรียนภาษาไทยเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดเป็น “ยูทูบเบอร์สายท่องเที่ยว” ส่วนพี่จองเป็นนักธุรกิจชาวเกาหลี ที่หลงรักอาหาร และวัฒนธรรมของประเทศไทย
คัลแลนชักชวนพี่จองให้มาทำวิดีโอท่องเที่ยวด้วยกัน ที่น่าตกใจคือ พี่จองเคยเรียนภาษาไทยแค่ 2 ครั้ง (โหววว….) เสน่ห์ของ “พี่จอง” และ “คัลแลน” ที่โดดเด่นพุ่งทะยานออกมาในทุก ๆ คลิป ก็มาจากการพูดภาษาไทยที่ไม่ถูก แต่น่ารักนั่นเอง
ถ้ามองในมุมของการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ความพลาดของการพูดภาษาไทย น่าจะมาจากเรื่องวรรณยุกต์ เพราะภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ (Tonal Language) หรือใช้ระดับเสียงสูง-ต่ำ ในการกำหนดความหมายของคำ
พูดง่าย ๆ คือ ถ้าวรรณยุกต์ผิดชีวิตจะเปลี่ยนไปทันที ลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะของภาษาตระกูลซิโน-ไท (Sino-Tai) ซึ่งพบได้ในภาษาจีน และภาษาในแถบโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วลี “จริง ๆ อันหนี่……..” ของสองหนุ่ม ที่มีโทนเสียงแปร่ง ๆ จึงกลายเป็นสิ่งน่าเอ็นดู และมัดใจคนไทยไปมากกว่าครึ่ง นอกจากโทนเสียงแล้ว เรื่องของ “คำ” ที่เหมือนจะไม่มีความหมาย แต่ก็มีความหมาย ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวต่างชาติต้องงงเป็นไก่ตาแตก เพราะคำพวกนี้ไม่มีสอนในตำรา และแถมยังปรากฏอยู่ในบทสนทนาเสมอ เช่น แบ่บ แหละ เนี่ยะ อ่ะ ล่ะ ฯลฯ
อันดับต่อมาคือ เรื่องของ การเรียงประโยค แน่นอนค่ะ การเรียงประโยคภาษาไทยจะเรียงแบบเดียว กับภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน คือ ประธาน/กริยา/กรรม เช่น “ฉันดื่มกาแฟ” แต่จะต่างกับบางภาษาซึ่งพูดแบบ ประธาน/ กรรม/กริยา เช่น ภาษาญี่ปุ่น หรือ ภาษาเกาหลี ดังนั้น ประโยคนี้ชาวต่างชาติจึงมักจะพูดเป็น “ฉันกาแฟดื่ม”
ในที่นี้ ผู้เขียนขอนับรวมไปถึง คำขยาย ต่าง ๆ ด้วยนะคะ กล่าวคือ ในภาษาไทย เรามักจะพูดคำหลักก่อน แล้วจึงตามด้วยคำขยาย หรือคำเสริม เช่น กาแฟร้อน แต่ในภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น จีน หรือเกาหลี เขาจะพูดคำขยาย “ร้อน” ก่อน แล้วจึงจะพูดคำหลัก “กาแฟ”
พอพูดถึงคำขยาย ก็ทำให้นึกขึ้นมาได้ว่าเรามีคำขยายหลายคำมาก และบางคำก็ใช้เฉพาะกับบางสิ่งอีก ชาวต่างชาติก็จะสับสน เช่น คำว่า ผู้หญิงใช้กับคน ตัวเมียใช้กับสัตว์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะได้ยินคัลแลนพูดว่า “ที่นี่มี Deer ผู้หญิงด้วย”
ประการสุดท้าย ภาษาไทยมี คำสแลง เกิดขึ้นใหม่ ๆ ตลอดเวลา จึงค่อนข้างลำบากที่ชาวต่างชาติจะเข้าใจ และตามให้ทันกับการสร้างคำใหม่ที่รวดเร็ว แต่ทั้งพี่จอง และคัลแลน ก็สามารถก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากการใช้คำว่า “ใจฟู” ได้ถูกต้อง เหมาะกับสถานการณ์ จนติดหูผู้ชม และนำมาใช้กันอย่างเอิกเกริก
อาจพูดได้ว่าพี่จอง-น้องคัลแลน เป็นตัวแทนของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนเกาหลี ที่มาเที่ยวในไทยแบบธรรมดาตามประสาวัยหนุ่มสาว แสวงหาประสบการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การดำเนินชีวิต รวมไปถึงการฝึกพูดภาษาไทย ที่ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ภาษาไทยยาก”
แต่คัลแลน กับพี่จอง กลับแสดงให้เห็นว่าภาษาไทยพูดง่ายกว่าที่คิด และยังมีอะไรสนุก ๆ รอให้ได้เรียนรู้อีกมากมาย ถ้าคนพูดจับจุดได้ มีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสื่อสาร และกล้าที่จะพูดออกมา
ผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมผู้เขียนซึ่งเป็นอาจารย์ประจำสังกัดศูนย์ภาษา วิทยาลัยดุสิตธานี จึงหยิบยกเรื่องภาษามาเขียน ทั้งๆ ที่ดูไม่เกี่ยวกับวิทยาลัยเลย แต่อันที่จริงแล้ววิทยาลัยดุสิตธานีที่สอนด้านการบริการโดยตรง เล็งเห็นว่า ภาษามีความสำคัญมากต่อการทำงานบริการ ที่จำเป็นต้องใช้การสื่อสารเป็นหลัก
ดังนั้นไม่เพียงแค่เราควรจะใช้ภาษาของเรา และภาษาต่างประเทศได้อย่างถูกต้องแล้ว การเข้าใจภาษาพูดของฝั่งตรงข้ามก็สำคัญ เพราะการเข้าใจธรรมชาติการใช้ภาษาของชาวต่างชาติ จะช่วยทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น และช่วยสร้างสัมพันธภาพกับลูกค้าได้ดีขึ้นด้วย
เพราะความเข้าใจดังกล่าวนี้เอง ผู้เขียนจึงสรุปเอาเองว่า ยูทูบเบอร์ทั้งสองน่าจะครองใจเราคนไทยไปอีกนาน ตราบเท่าที่พวกเขายังมีความสนใจในเรื่อง ความเป็นไทย มีความสุขกับการฝึกพูดภาษาไทย สนุกกับการพยายามรังสรรค์คำไทยน่าเอ็นดูใหม่ ๆ และปึแหลก ๆ (แปลกๆ) เช่น ปากพัง จมูกกินน้ำ ไก่ร้องไห้ หรือบุดด้าเด็ก ขึ้นมาเรื่อย ๆ เพราะมันมีผลทำให้คนเฝ้ารอชมคลิปอย่างเรา ๆ ได้รับทั้งรอยยิ้ม และพลังบวกไปด้วยในคราวเดียวกัน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เผลอทำไก่ไหม้ อย่าทิ้ง! กูรูมีวิธีแก้ไขมาบอก
- ‘นวัตกรรม’ สำคัญกับ ‘ธุรกิจบริการ’ อย่างไร
- อย่าปล่อยให้ลูกของคุณ เรียน ‘ปริญญาด้านการจัดการการบริการ’ เว้นแต่ว่า…
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg