COLUMNISTS

‘แย่งกันตั้งรัฐบาล’ อย่าลืม ‘สัญญา’ ที่ให้กับประชาชน

Avatar photo
997

เลือกตั้งจบไปแล้วแต่ชีวิตจริงการเมืองหลังการรัฐประหาร ที่มีผลต่อบ้านเมืองเเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น อำนาจจากมือประชาชนถูกส่งผ่านมาที่ตัวแทน ไม่ว่าใครจะได้ส.ส.อันดับหนึ่งหรือ พรรคไหนจะได้เสียงประชาชนสนับสนุนเป็นอันดับหนึ่ง การรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรให้ได้เกิน 250 เสียงขึ้นไป เป็นเรื่องจำเป็นที่จะเป็นฐานรากแห่งความชอบธรรมในการก้าวสู่ความเป็นรัฐบาลได้โดยปราศจากข้อครหา

เลือกตั้ง กกต.1

จากด่านแรกในการรวมคะแนนส.ส.ให้ได้ 250 อัพ ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว ยังมีด่านหินจากส.ว.250 คนที่มีสิทธิร่วมโหวตเลือกนายกฯ เป็นกำแพงสำคัญที่จะขวางกั้นไม่ให้กลุ่มไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ นำโดยพรรคเพื่อไทย ไม่สามารถไปได้ถึงฝั่งฝัน

ส่วนตัวเห็นว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน ควรเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านระบบตัวแทน ให้พรรคการเมืองที่รวมเสียงข้างมากได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนรายชื่อนายกของพรรคการเมืองกลุ่มนี้ ส่วนพรรคที่รวมเสียงข้างมากไม่ได้ ก็ควรยอมรับกติกานี้ เพื่อให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด

แต่จนถึงขณะนี้ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าพรรคไหนจะได้เป็นรัฐบาล เพราะแม้แต่กลุ่มพรรคที่ลงสัตยาบันร่วมกัน 6 พรรคด้วยคะแนนเสียงปริ่มน้ำเกิน 250 มาไม่กี่เสียงก็ยังยอมรับว่าไม่นิ่ง มี พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง เป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจาก มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ยังสงวนท่าทีไม่ได้ไปร่วมลงสัตยาบันด้วย หมากเกมนี้จึงยังมีโอกาสพลิกได้อยู่ตลอดเวลา

ขณะที่ฟากฝั่ง พลังประชารัฐ ที่เหมารวมว่าจะได้ ประชาธิปัตย์ 54 เสียง ไปตุนไว้ในกระเป๋าเหมือนของตายนั้น ต้องบอกไว้ก่อนว่า “คิดผิด” แม้มีว่าที่ส.ส.บางส่วนที่แบะท่าแสดงตัวว่าอยากยกมือหนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่นั่นไม่ใช่มติพรรค

ที่สำคัญการตัดสินใจทางการเมืองครั้งนี้ พรรคคงไม่พิจารณาจากผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่นำมายั่วยวนใจ แต่ความเป็นสถาบันการเมืองสอนให้นักการเมืองในพรรคที่ยึดมั่นอุดมการณ์ ต้งคิดถึงหลักการ ความถูกต้อง รวมถึงสิ่งแนวทางที่หาเสียงไว้กับประชาชนเป็นหลัก แม้กว่าสามล้านเสียงที่สนับสนุนพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มากพอที่จะทำให้พรรคชนะในสนามเลือกตั้ง

แต่เป็นกว่าสามล้านเสียงที่ยึดมั่นร่วมเดินตามเส้นทางที่พรรคชี้ให้เห็นว่าจะเป็นทางออกให้ประเทศ ซึ่งฝุ่นตลบทางการเมืองที่กิดขึ้นจากการช่งชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ข้อครหาทางการเมืองถึงปัญหาเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง ไปจนถึงการจัดการเลือกตั้ง การเผชิญหน้าระหว่างสองขั้วการเมืองที่ไม่มีใครยอมใคร เป็นภาพปรากฏที่ชัดเจนให้ประชาชนได้ประจักษ์ว่า “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค มองขาดมาตั้งแต่ต้น จึงเสนอแนวทาง “ไม่เอาเผด็จการ ไม่หนุนคนโกง” เป็นทางเลือกที่สาม

อภิสิทธิ์3

แต่เมื่อทางที่ถูกต้องยังไม่ถูกเลือก เพราะในวันที่เลือกคนยังมองไม่เห็น สิ่งที่ต้องยืนหยัดต่อไปคือการ พิสูจน์ให้เห็นว่า ประชาธิปไตยสุจริต มีอยู่จริง และอุดมการณ์ ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน แต่จับต้องได้ ผ่านพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เคยทอดทิ้งประชาชนไปไหน ไม่ว่าจะในยามที่ได้รับชัยชนะ หรือวันที่พ่ายแพ้ ซึ่ง อดีตหัวหน้าพรรคอภิสิทธิ์ ได้แสดงให้เห็นแล้วจากการรักษาสัจจะทางการเมือง โดยไม่มีการลังเล เพราะตำแหน่งไม่ได้สำคัญเท่ากับการรักษาคำพูด

ไม่ว่าใครจะสบประมาทว่าประชาธิปัตย์ล้มเหลวอย่างไร แต่โดยส่วนตัวภูมิใจที่ได้เดินบนเส้นทางการเมืองสุจริตสายนี้ เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะใด ๆ แต่อยู่ที่เรายังคงรักษาอุดมการณ์ไว้ได้โดยไม่สั่นคลอน

ใครจะแข่งกันตั้งรัฐบาลก็แข่งไป ขอดูในฐานะผู้สังเกตการณ์ และติดตามให้คนเป็นรัฐบาลต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน