COLUMNISTS

จุดยืนประชาธิปัตย์ จุดเปลี่ยนประเทศไทย ?

Avatar photo
2562

กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่งผลสะเทือนถึงสมการการเมืองหลังเลือกตั้ง จากการประกาศจุดยืนของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ไม่เอาพรรคที่มีประวัติทุจริต หรือพูดง่าย ๆ คือพรรคเพื่อไทย และไม่หนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมประกาศตัวเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่เป็นแค่พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น โดยกำหนดเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองอื่นรวมถึงพลังประชารัฐว่า ต้องไม่มีเรื่องสืบทอดอำนาจ และต้องยอมรับแนวทางแก้ปัญหาของพรรคประชาธิปัตย์

S 12353572

หลังคำประกาศดังกล่าวเรียกว่าได้ทั้งก้อนอิฐ และดอกไม้จากประชาชน แต่ฝ่ายการเมืองที่พยายามตั้งตัวว่ามีแค่สองขั้วคือ เพื่อไทย กับพลังประชารัฐ ออกอาการโวยวายหนัก เพราะรู้ดีว่าเส้นทางนี้ของประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดขั้วที่สามที่ชัดเจนต่อสาธารณะ มากกว่าแค่คำพูดที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบ่อย ๆ ว่า การเมืองมีสามขั้ว เนื่องจากคนยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก แต่คราวนี้พี่มาร์คจัดเต็ม พร้อมย้ำคำ “ชัด ๆ นะครับ”

ด้วยความชัดเจนนี้ฝ่ายโจมตีบอกว่าทำเพื่อโกยคะแนนเสียงช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง และผลักไปว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์แสดงว่าจะไปอยู่ข้างทักษิณใช่หรือไม่ แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง โดยย้อนดูจุดยืนการเมืองของ อภิสิทธิ์ จะเห็นว่าสู้กับระบอบทักษิณมาตลอด จึงไม่มีเหตุให้สงสัยเรื่องคำประกาศไม่ร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย เพราะชัดเจนมาตั้งแต่ต้น

ส่วนเรื่องไม่หนุนการสืบทอดอำนาจนั้นก็ไม่ใช่เพิ่งมาพูดในช่วงนี้ แต่นำพรรคประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญพร้อมคำถามพ่วงเรื่องส.ว.250 คนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้มาตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2559 แล้ว

ตามด้วยการให้สัมภาษณ์เตือนสติ คสช.หลายครั้งว่า อย่าคิดสืบทอดอำนาจ เพราะจะทำให้บ้านเมืองกลับสู่วังวนความขัดแย้ง และคสช.จะแปรสภาพจากกรรมการไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง แต่หามีใครรับฟังเสียงเตือนนั้นไม่ จึงนำมาสู่การตั้งพรรคพลังประชารัฐ และเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หวังใช้ฐานเสียงส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งของคสช.เป็นทุนประเดิมในการตั้งนายกและรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสมการการเมืองที่ถูกวางไว้ล่วงหน้า แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ ประชาชนจะเป็นผู้ให้คำตอบ

สมการการเมืองที่พลังประชารัฐเป็นรัฐบาล มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯจะเกิดขึ้นได้ มีสองกรณีคือ พลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมากพอที่จะไม่ต้องพึ่งประชาธิปัตย์ โดยพรรคที่สามารถรวบรวมได้คือ ภูมิใจไทย ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา รวมพลังประชาชนไทย ประชาชนปฏิรูป เป็นต้น หรือกรณีที่สองมีประชาธิปัตย์ร่วมด้วย การรวบรวมพรรคการเมืองอื่นก็ยิ่งง่ายมากขึ้น

S 4341796

แต่หลังคำประกาศจุดยืนของ อภิสิทธิ์ สมการการเมืองของพลังประชารัฐที่จะเป็นรัฐบาลก็แคบลง เหลือทางเลือกเดียว คือ ต้องหวังให้ได้สส.ไม่ต่ำกว่า 80 ไปรวมกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็ก ถ้าได้ถึง 250 เสียงขึ้นไป ก็มีความชอบธรรม แต่ถ้ารวมสส.ได้ไม่ถึง 250 ไปหวังใช้เสียงสว.ดันให้เกิน 350 บ้านเมืองก็สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายจนยากจะควบคุมได้

ส่วนพรรคเพื่อไทย กำลังสะดุดเท้าตัวเองจากยุทธศาสตร์แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย เพราะส่งผู้สมัครแค่ 250 เขต เท่ากับคะแนนที่จะต้องไปบวกกันทั่วประเทศเพื่อมาเฉลี่ยเป็นจำนวนส.ส.ที่พรรคพึงได้หายไป 100 เขต จำนวนส.ส.ที่จะได้จึงอาจไม่มากอย่างที่คาดหวัง และเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยจะมีแต่ส.ส.เขตโดยไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย

แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือ แม้ว่าอาจจะมีคะแนนมาเป็นอันดับ 1 แต่จำนวนส.ส.อาจไม่ทิ้งห่างอันดับ 2 มากเหมือนในอดีต ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่ายอย่างที่คิด

ขณะที่ประชาธิปัตย์ ซึ่งประกาศตัวเป็นขั้วที่ 3 ถ้ามีคะแนนเป็นอันดับ 2  หรือ เกิดพลิกโผได้สส.มาเป็นอันดับ 1 ก็จะมีทางเลือกในการตั้งรัฐบาลมากขึ้น

S 4341797

แต่ที่สำคัญคือการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ต้องไม่คำนึงเพียงแต่คณิตศาสตร์การเมือง เพราะต้องยึดถือต่อคำมั่นที่ให้กับประชาชนทั้งเรื่องจุดยืนการเมือง ที่จะให้ประชาชนเป็นใหญ่ ใช้ประชาธิปไตยสุจริต บริหารประเทศให้หลุดพ้นจากวังวนคนโกง การสืบทอดอำนาจ เพื่อข้ามให้พ้นกับดักของความขัดแย้ง รวมถึงการผลักดันนโยบายให้เป็นจริงด้วย จึงจะเรียกได้ว่า “จุดยืนประชาธิปัตย์ครั้งนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทยอย่างแท้จริง”