COLUMNISTS

‘จุดแข็ง-จุดเสี่ยง’ เศรษฐกิจไทย

Avatar photo
จิตติศักดิ์ นันทพานิช จุดตัดความคิด
481

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติปาฐกถา “เศรษฐกิจไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง” ในงาน 64 ปี สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ก่อน แม้ลีลาบนเวทีเหมือนบรรยายในมหาวิทยาลัย แต่สาระที่ฉายให้เห็นภาพ “จุดแข็งจุดอ่อน” และ “จุดเสี่ยงเศรษฐกิจไทย” ในมุมมองของผู้รับผิดชอบดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนไม่น้อย สะท้อนจาก สาระที่ถูกรายงานข่าวจนเกิด แรงสะท้อนกลับจากผู้ถูกพาดพิง

000 1DC3K8

ผู้ว่าแบงก์ชาติ เริ่มบรรยายด้วยการปูพื้นภาพรวมเศรษฐกิจไทยว่า มีจุดแข็งหลายประการซึ่งฉายซ้ำมาหลายครั้งแล้วคือ “เสถียรภาพเศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งมาก” โดยยกข้อมูลสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (ของไทย) ต่ำกว่าหลายประเทศ บัญชีเดินสะพัดเกินดุลต่อเนื่อง 5 ปี ทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมที่ทำสัญญาซื้อล่วงหน้า เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากช่วง 10 ปีก่อนหน้ามาอยู่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ มากพอเป็นกันชนปกป้องความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงก่อนหน้านี้ได้ด้วย

จากนั้นพูดถึงความท้าทาย ซึ่งมีด้วยกันหลายประการ เริ่มจากปัญหาเชิงโครงสร้าง จากการที่คนไทยในวัยทำงานได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2555 และกำลังลดลง หากยังขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิม เศรษฐกิจจะอ่อนแรงลงไปเรื่อยๆ

ต่อด้วยปัญหาผลประโยชน์กระจายตัวไม่ทั่วถึง (ความเหลื่อมล้ำ) ยังกระจุกตัวกับกลุ่มคนรายได้สูง และเจ้าของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ที่ได้เปรียบกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี

ดร.วิรไท อ้างข้อมูลจากดับเบิลยูอีเอฟ ที่ระบุว่า ไทยมีความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินมากที่สุดในอาเซียน อยู่อันดับ 97 จาก 106 ประเทศ โดยความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สินจะเชื่อมโยงไปความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ซึ่งการศึกษาเป็นหัวใจของการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

ดร.วิรไทฉายภาพให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนของไทยสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2555 และหนี้ครัวเรือนของไทย มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยด้านปริมาณนั้นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนปัจจุบันอยู่ที่ 77.9 % ต่อจีดีพี ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน ส่วนด้านคุณภาพนั้นมี หนี้เสียในระดับสูง

ก่อนชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะกลายเป็นภาระด้านการคลังในอนาคต เพราะผลการศึกแสดงว่า ยอดหนี้ครัวเรือนของไทยไม่ลด แม้ประชากรจะมีอายุใกล้วัยเกษียณ และเมื่อผนวกเข้ากับสังคมไทย ที่กำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมวัยชราเต็มรูปแบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วยแล้ว ดร.วิรไท ฟันธงฉับว่า “ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศแรกในโลกที่แก่ก่อนรวย”

พร้อมกับพ่วงข้อมูลการสำรวจหลายปีก่อนหน้านี้มาขยายภาพว่า คนไทย 3 ใน 4 ไม่สามารถออมเงินได้ ในระดับที่ตั้งใจไว้สำหรับวัยเกษียณ ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ เกือบครึ่งไม่มีแผนการออม และชี้ให้เห็นด้วยว่า หากครัวเรือนไม่สามารถพึ่งพาการออมของตัวเองได้ ท้ายที่สุดจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุของภาครัฐ และปั่นทอนภูมิต้านทานด้านการคลัง

000 1BA1M6

ผู้ว่าแบงก์ชาติยังระบุด้วยว่า ค่าใช้จ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต จะเพิ่มภาระด้านประกันสังคม ก่อนโยงเข้าภาระอุดหนุนโครงการขนาดใหญ่ และประเด็นร่วมสมัย แนวโน้นการดำเนินนโยบายประชานิยม ที่หวังผลระยะสั้น

จากการประเมินฐานะการคลังระยะปานกลางของรัฐบาล ประมาณว่า รัฐบาลต้องทำงบประมาณฯ ขาดดุลต่อเนื่องไปอีก 12 ปี ฐานะการคลังจึงจะเข้าสู่จุดสมดุล

ถึงตรงนี้ ดร.วิรไทเน้นอย่างจริงจังว่า การให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐ และการลดขนาดภาครัฐมีความจำเป็นอย่างยิ่ง มิฉะนั้นภูมิต้านทางด้านการคลังที่เราคาดหวังว่าจะช่วยสร้างความเข็มแข็ง และความยั่งยืนให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยจะกลายเป็นตัวปัญหาในอนาคตได้ โดยระบุว่า “ภูมิต้านทานด้านการคลังของ เรา อาจต่ำกว่าที่หลายคนคิดมาก”

สารจาก ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คล้ายคำเตือนให้ตระหนักว่า หนทางเศรษฐกิจข้างหน้าที่บางคนฝันถึง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้น มี ความเสี่ยง รออยู่มาก หากรับมืออย่างไม่เหมาะสม เศรษฐกิจจากที่มีจุดแข็งจะกลายเป็นจุดอ่อน และจากจุดอ่อนจะกลายเป็น จุดตาย ได้ในที่สุด