COLUMNISTS

TRUST กกพ.สร้างง่ายเพียง ‘จริงใจ’ ต่อประชาชน

Avatar photo
181

หลังจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพี 2018 ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นที่เรียบร้อย ภารกิจมาตกที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หลายเรื่องเอาการ รวมไปถึงการปรับปรุงพัฒนาระบบกิจการพลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้ารองรับโลกยุคดิจิทัล มากมายจนต้องจัดความสำคัญกันเลยทีเดียว

น่าจะมีสัก 10 เรื่องเห็นจะได้กกพ.กำลังจัด งานเร่งว่ากันว่า  เป็นการเดินคล้อยตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ตอนนี้คณะกรรมการปฏิรูปพลังงานหลายท่านก็เดินไปเดินมาที่กกพ.หัวกระไดไม่แห้ง เพื่อกำกับให้เป็นไปตามทิศทางที่มีการกำหนดมา

20181211 ๑๘๑๒๑๑ 0021

โดยเฉพาะการให้บริการในการอนุญาตจัดตั้งโรงไฟฟ้าแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS) เพื่อรวบรวมกระบวนการออกใบอนุญาตของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือรื้อถอนอาคาร (อ.1) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า (รง.4) และ ใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2)

เรื่องนี้กกพ.ชุดก่อน เล่าให้ฟังอย่างละเอียดไว้ว่า จะมีกรอบระยะเวลาการบริการการออกใบอนุญาต ดังนี้ ใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ภายใน 75 วัน, ใบ อ.1 ภายใน 45 วัน, ใบ รง.4 ภายใน 60 วัน และ ใบ พค.2 ภายใน 120 วัน

นอกจากนี้อีกภารกิจเร่งด่วน ก็คือการแก้กฎระเบียบให้ก้าวทันยุคสมัย ทั้ง Block Chain  Big Data   เพื่อเอามาใช้ประโยชน์ในกิจการพลังงานของประเทศ

แต่เรื่องคงไม่ง่าย อย่างการศึกษา ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ กลับไปกลับมาในบอร์ดหลายรอบไม่ลงตัว สำหรับโครงสร้างค่าไฟ ก็มีอันต้องยกเลิกสัญญาที่ให้บริษัทเอกชนใหญ่ศึกษามาตั้งหลายปี ว่ากันว่าผลการศึกษาไม่ถูกใจ ไม่ตอบโจทย์ ก็เลยกลับมาตั้งหลักใหม่ ตั้งทีมศึกษากันเองภายในกกพ. ใช้เวลาอีกหลายเดือน

อีกเรื่องใหญ่ที่กกพ.กำลังศึกษา ก็คือ หน้าตาของโครงสร้างกิจการไฟฟ้า เพราะพยากรณ์แล้ว แม้โครงสร้างกิจการไฟฟ้าแบบ Enhanced Single-Buyer Model (ESB) ที่ให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียว (Single buyer) ก่อนส่งกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย  แม้จะมีจุดเด่นในเรื่องของการดูแลรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐที่มิได้แสวงหาผลกำไร มีความคล่องตัวในการสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากศูนย์ควบคุมระบบกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ และสะดวกต่อการบริหารสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า

อาเซียน กริด 3

แต่อาจจะไม่สอดคล้องกับยุคสมัย เพราะตอนนี้ การผลิตไฟฟ้ากระจายตัวอย่างมากอย่างที่ทุกคนรู้  ทุกผู้ทุกคนเป็นทั้งผู้บริโภคไฟ ขณะเดียวกันก็ผลิตได้เองด้วย มีการติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา  (Solar Rooftop)   ที่กำลังฮิต ตั้งแต่ระดับโรงงาน และอาคารใหญ่ ไปจนถึงโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และบ้านแต่ละหลังที่อยากลงทุนติดเองก็ทำกัน

หลายเจ้าผลิตไฟฟ้า Solar Rooftop แล้วก็รวมกลุ่มผลิตและซื้อขายให้กันใน community  เช่น ในปั๊ม และร้านค้ารอบปั๊ม หรือ ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ ย่านสุขุมวิท 77 ที่มีทั้งคอนโดมิเนียม บ้าน และ Community Mall โรงเรียน คลินิก  ที่นำระบบแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่แบบเพียร์ทูเพียร์ (Peer-to-Peer) และทำธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยี Block Chain มาใช้ ลักษณะแบบนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว แล้ว ESB  จะยังตอบโจทย์ได้หรือ???

อีกเรื่องที่กกพ.กำลังพัฒนาให้สอดคล้องกับยุคสมัย ก็คือ “ศูนย์พยากรณ์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และลม” เพราะผลิตกันมากเหลือหลาย เชื่อมโยงกับพยากรณ์อากาศ ให้รู้กันล่วงหน้าว่าจะผลิตจากเจ้าสองแหล่งพลังงานได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้การวางแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศแม่นยำขึ้น เป้าหมายหากรู้ไปล่วงหน้าถึง 7 วัน หรือ 14 วัน หรือ 1 เดือนก็จะยิ่งดี ให้กฟผ.นำไปวางแผนระบบใหญ่ได้ถูกทิศถูกทาง ไปเชื่อมโยงกับศูนย์สั่งการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. ทำให้การผลิตไฟฟ้าของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

wind turbine 2218457 640

เพราะอย่าลืมว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจะยังพุ่งไม่หยุด หลายๆบริษัทที่ ต้องการโชว์นโยบายกรีน ต่างกระโดดเข้ามามีส่วนในการผลิตและการใช้พลังงานสะอาด อย่างพลังงานหมุนเวียนตามเทรนด์โลกด้วยกันทั้งสิ้น  อีกเรื่องที่กกพ.กำลังทำอีกเรื่องก็คือ อัตราค่าบริการสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มาแน่ มาเร็วด้วย เพราะโรงงานแบตเตอร์รี่ใช้เป็นอุปกรณ์ปั่นไฟให้รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อน กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นตามลำดับ

ส่วนโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP ) นั้น น่าจะเป็นเรื่องด่วยน แต่กกพ.ท่านว่าไม่ เพราะเอาจริงแล้ว เรื่องนี้ขึ้นกับนโยบายสั่งลงมา เพียงภาพที่เห็นกระทรวงอาจ “โยน” ให้ไปถาม “กกพ.” เสมือนมีกลไกกลางในการทำหน้าที่อย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่เอาจริงเป็นกลไกทำพิธีกรรมเท่านั้น  ทั้งเปิดรับซื้อโครงการโรงไฟฟ้าบริษัท ไตร เอนเนอจี้ จำกัด จังหวัดราชบุรี ในเครือบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)  ขนาด กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาเดือน กรกฎาคม 2563 และไอพีพีที่จะเปิดรับซื้อทั่วประเทศ 5,000 เมกะวัตต์ทั่วประเทศ

มีเรื่องเย็นและเรื่องร้อนในมือกกพ.  พิสูจน์ “TRUST” กันอีกรอบ  คำตอบง่ายนิดเดียว กำลังขะมักเขม้นทำอะไร การเปิดเผยต่อสาธารณะแบบ Two-Way Communication  ไม่ได้ร่อนแต่เอกสารข่าว ประหนึ่ง “เขียนยังไงลงตามนั้นนะจ๊ะ”  การสื่อสารสองทางถามตอบให้คลายข้อสงสัยก็น่าจะช่วยได้  และยังสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งการปฏิรูปกิจการพลังงาน

michelangelo 71282 640

“ปฏิรูป” เพื่ออะไร??? อาจต้องตั้งหลักก่อน ขนาดกกพ.ชุดก่อน ยังไม่ได้จะปักหลักเดินหน้าตามแผนปฏิรูปอย่างจริงจังเท่า แต่ก็เปิดเผยตามสมควร มีการแถลงข่าวเป็นระยะๆ มีการเปิดเผยแผนที่จะทำอย่างหมดเปลือก มีอะไรถามได้หมดข้ามคืนข้ามวันท่านก็ยืนให้คุยจนหายข้อข้องใจ เพราะท่านทราบว่าดี เรื่องไฟฟ้านี้ซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว และยังมีกลไกและเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริมเพิ่มเติม นี่ต่างหากคือ “พฤติกรรมแห่งการปฏิรูปประเทศ”  เพราะการอธิบายบ่อยๆ “ฉันมิตร” ให้สื่อเข้าใจ ก็หมายถึงประชาชนเข้าใจ ท่านก็ “ได้ใจ” ไม่ถูก “ก่นด่าลับหลัง” 

“TRUST”  แบบปั้นแปะ หรือ จะสู้ “ใจ” แบบกัลยาณมิตร  ขอตบท้ายเป็นสุภาษิต ว่า ไม่ใช่ใครดอกที่เป็น “ศัตรูปองร้าย” ศัตรูตัวฉกาจ  คือ “ความคิดของท่านเอง”