COLUMNISTS

ยื้อ 8 ปี คดี “ทักษิณ” ฮุบทีพีไอ ตัวอย่างความล่าช้าที่ต้องเร่งแก้ไข

Avatar photo
65

ข่าวป.ป.ช.หอบสำนวน 120 แฟ้ม ยื่นศาลฎีกาฯ ฟ้องนายทักษิณ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ กรณีฟื้นฟูกิจการทีพีไอ หลังยืดเยื้อนานเกือบ 8 ปี เป็นคดีที่ไม่ได้มีความน่าสนใจเพียงว่า เป็นเรื่องการเป็นคดีสุดท้ายของนายทักษิณที่ค้างอยู่ในมือ ป.ป.ช.เท่านั้น แต่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของกฎหมาย ทำให้กระบวนการดำเนินคดีมีความล่าช้านานเกือบ 8 ปีด้วย

คดี "ทักษิณ" ฮุบทีพีไอ
ทักษิณ ชินวัตร

เหตุผลสำคัญเกิดจากการที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างไปจาก ป.ป.ช.จนต้องตั้งคณะทำงานร่วมสองฝ่าย แต่ใช้เวลานานหลายปีก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ สุดท้าย ป.ป.ช.ก็ต้องยื่นฟ้องเอง

ขณะที่กระบวนการดำเนินคดีลากยาวล่าช้าไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ในขณะที่มีการร่างกฎหมาย ป.ป.ช.กลับไม่มีการอุดช่องโหว่นี้

หากย้อนดูคดีดังที่ป.ป.ช.กับอัยการเห็นต่างจน ป.ป.ช.ต้องยื่นฟ้องเอง แม้มีบางคดีที่หลุดในชั้นศาลฎีกา แต่ก็มีหลายคดีที่อัยการเห็นว่าไม่ควรส่งฟ้อง แต่ศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง เช่น

คดีทุจริตซื้อรถดับเพลิงและเรือดับเพลิง ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก “ประชา มาลีนนท์” อดีตรมช.มหาดไทย 12 ปี และ “อธิรักษ์ ตันชูเกียรติ” อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 10 ปี

คดีที่หมอเลี๊ยบ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” อดีตรมว.คลังปฏิบัติหน้าที่มิชอบ 2 คดีคืิอ หนึ่ง การแทรกแซงการตั้งกรรมการสรรหาบอร์ด ธปท. โดยศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี  และ สอง การเอื้อประโยชน์ให้บริษัทชินคอร์ป กรณีแปลงสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา

จะเห็นได้ว่าหากใช้มาตรฐานการสั่งฟ้องคดีของอัยการ ซึ่งเป็นทนายแผ่นดิน คนที่ทำผิดจะลอยนวล ส่วนอัยการก็ไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อดุลพินิจไม่สั่งฟ้องของตัวเองแต่อย่างใด

ล่าสุด คดีฮุบกิจการทีพีไอ ซึ่งป.ป.ช.มีมติชี้มูลตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2553 ส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อส่งฟ้องแต่อัยการไม่เห็นด้วย ทำให้ต้องมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและป.ป.ช.แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติที่ตรงกันได้ ป.ป.ช.จึงตัดสินใจยื่นฟ้องเอง และเพิ่งนำคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลฎีกาได้ หลังยืดเยื้อมานานเกือบ 8 ปี เป็นอีกหนึ่งคดีที่ต้องจับตาการตัดสินของศาลฎีกา

บทเรียนข้างต้นเหล่านี้นี้อาจทำให้ฉุกคิดได้ว่าผู้มีอำนาจซึ่งประกาศเอาจริง เอาจังกับการปราบปรามการทุจริต ต้องพึงสำเหนียกจากคดีนี้คือ ถึงเวลาที่จะอุดช่องว่างของกฎหมาย ที่ทำให้คดีเกิดความล่าช้าได้หรือยัง

เพราะกฎหมายไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกันระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.ในกรณีที่เกิดความเห็นไม่ตรงกัน ทำให้มีการใช้ขั้นตอนนี้ลากยาวให้การดำเนินคดีเกิดความล่าช้าได้ ทำให้เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะสุดท้ายกฎหมายก็ให้อำนาจ ป.ป.ช.ฟ้องเองได้อยู่แล้ว

การกำหนดให้อัยการมีส่วนร่วมพิจารณา และตีกลับสำนวนเพื่อให้เกิดความรอบคอบได้เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน

หากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ และป.ป.ช.ยังเห็นควรว่าต้องส่งฟ้องก็จะดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหาบทสรุปที่ไม่มีทางได้คำตอบตรงกัน และไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชอบความเสียหายของโอกาสและเวลา

ขณะที่อัยการในฐานะทนายแผ่นดิน ก็ควรจะทบทวนบทบาทการทำงานของตัวเองว่า ได้ใช้ดุลพินิจเพื่อรักษาประโยชน์ชาติอย่างเต็มที่หรือยัง

หวังว่าความล่าช้าจากคดีฮุบทีพีไอนี้ จะกระตุกให้ผู้มีอำนาจหันมาสนใจแก้กฎหมายอุดช่องโหว่ เพื่อพิสูจน์ว่าเอาจริงกับการปราบทุจริต ไม่ใช่มีแต่วาทะกรรมที่ไร้การปฏิบัติ

“ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม (อังกฤษ: justice delayed is justice denied) เป็นภาษิตอันเลื่องชื่อของหลักกฎหมาย หมายความว่า ถ้ากฎหมายจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย แต่การเยียวยานั้นมาไม่ทันกาลหรือล้าสมัย ก็ไม่ต่างอะไรกับว่าไม่ได้เยียวยา” พึงถูกนำมาพิจารณาเพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับสังคมการเมืองไทยนั่นเอง