COLUMNISTS

เมื่อคนกฟผ.ถูกกระชับพื้นที่

Avatar photo
16

วันก่อนเขียนถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ. ที่กำลังจะปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ก็เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมันเปลี่ยน อะไรๆก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว ที่สำคัญจำนวนบุคคลากรในกฟผ.เอง ก็เยอะมาก ระดับรองผู้ว่าการมีถึง 12 คน ยังไม่นับรวมผู้ช่วยผู้ว่าการอีก เชื่อว่าแต่ละฝ่ายมีอยู่อย่างน้อย 2-4 คน นับรวมๆกันแล้วระดับผู้ช่วยผู้ว่าการแต่ละฝ่ายร่วมๆ 30 คน บวกรองผู้ว่าการ  12 คน ยังมีรองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการอีก 2 คน ลองรวมกันเองว่าทั้งหมดเท่าไหร่

จริงๆถ้าปริมาณผู้บริหารที่มีอยู่สมส่วนไม่คิดว่า ฝ่ายบริหารต้องไปจ้าง ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส จำกัด ให้มาศึกษาสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่นี่อาจเป็นเพราะโครงสร้างที่เป็นอยู่ อาจจะไม่สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันจริงๆ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่องค์กรขนาดใหญ่ต้องทำแบบนี้ ในยุคที่อะไรก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ฉะนั้นผลที่โผล่ออกมาตอนนี้ ในส่วนของการผ่าตัดโครงสร้างกฟผ.รอบนี้ก็เพื่อให้องค์กรกระชับ ทันสมัย

ส่วนโครงสร้างใหม่จะเหลือ 6 ฝ่ายหรือ 7 ฝ่ายอย่างที่มีการพูดถึง หรือบริษัทที่ปรึกษาเสนอมานั้น เชื่อว่าตอนนี้คงเป็น “ตุ๊กตา” ทั้งหมดคงเป็นหน้าที่ของบอร์ดกฟผ.ที่จะต้องพิจารณาว่าจะเอาด้วยหรือไม่

ถ้าเอาด้วยตามที่บริษัทที่ปรึกษาเสนอมา ก็เท่ากับว่าฝ่ายบริหารของกฟผ.จะต้องถูก “กระชับพื้นที่” ทันที เพื่อให้เกิดความสมส่วน ส่วนฝ่ายไหนจะ “ควบรวม”กับใครเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะเห็นเป็นรูปธรรมได้ เชื่อว่าไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ น่าจะได้เห็นโครงสร้างที่ชัดเจน

ส่วนบอร์ดจะเห็นด้วยหรือไม่เดือนสิงหาคมนี้ก็น่าจะมีทิศทางที่ออกมาให้เห็นได้ เพราะถ้าทุกอย่างลงตัวเดือนตุลาคม 2561 น่าจะมีผลบังคับใช้ได้

แน่นอนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแต่ละครั้งย่อม เกิดอาการสั่นคลอนทันที โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนได้เสีย กับตำแหน่งในโครงสร้างใหม่

อาการแบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในรัฐวิสาหกิจใหญ่อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อครั้งที่เกิดการควบรวมของบริษัทในเครือมาแล้วเมื่อปี 2554 แต่ก่อนจะเกิดการควบรวมสำเร็จ เสียงจากพนักงานและระดับผู้บริหารดังกระหึ่มเหมือนกัน

ทั้งหมดอยู่ที่การชี้แจงและทำความเข้าใจ วันนี้บริษัทที่จับควบรวมกันผลเป็นอย่างไร ต้องถามคนที่ปตท. รู้แต่ว่าปีๆ เขารับโบนัสกันอื้อซ่า

สำหรับกฟผ.เชื่อว่าถ้าได้รับการชี้แจงหรือทำความเข้าใจ ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่แน่นอน แบบนี้มันก็ต้องมีทั้งคนได้และคนเสียประโยชน์ ที่สำคัญต้องสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกคนทุกฝ่าย ใครควรได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง จากความสามารถจริงๆ

ที่สำคัญหากทุกอย่างลงตัวฝ่ายบริหารก็น่าจะทำการชี้แจง หรือสร้างความกระจ่างให้กับพนักงานเสียเลย และเชื่อว่าทุกฝ่ายน่าจะรับได้  โดยเฉพาะ ฝ่ายประชาชนสัมพันธ์ขององค์กร จะได้มีความเข้าใจมากขึ้น ซึ่งเป็นฝ่ายที่มีความสำคัญยิ่งต่อองค์กร ที่จะสื่อสารให้ใครต่อใครเข้าใจได้ ลดละการตื่นเต้นลงในบางขณะได้

นอกจากนี้ฝ่ายที่กำลังเป็นประเด็นก็น่าจะเป็นฝ่ายที่อาจจะถูก “ควบรวม” เข้าด้วยกัน

ประเด็นที่วิตกกังวล น่าจะเป็นเรื่องของตัวบุคคลเสียมากกว่า เพราะปัจจุบันมีรองผู้ว่าการฝ่ายต่างๆ มีผู้ช่วยผู้ว่าการฝ่ายต่างๆ แถมยังมีผู้อำนวยการฝ่ายอีก แต่ละฝ่ายย่อมมีสิทธิ์ลุ้นขึ้นตำแหน่งสูงๆทั้งนั้น แต่หากโครงสร้างใหม่ที่จะเกิดขึ้น ระดับเหล่านี้อาจจะคิดหนัก

ดังนั้นการปรับโครงสร้างกฟผ.รอบนี้สำเร็จหรือไม่ก็ต้องอยู่ที่ วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย  ผู้ว่ากฟผ.นั่นเอง