CEO INSIGHT

‘อรรถพล’ เปิดแนวรุก 5 ธุรกิจใหม่ ‘ปตท.’ ที่ไปไกลกว่าพลังงาน!

ในช่วงเวลาที่ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่ การใช้ “พลังงานสะอาด” และให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น “ปตท.” บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ภายใต้การนำของ “อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็กำลังก้าวสู่การเป็น บริษัทพลังงานสะอาด ด้วย “วิสัยทัศน์ใหม่” 

อรรถพล ระบุว่า ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือ จะใช้เวลาภายใน 5 ปี (2564-2568) เปลี่ยนผ่านจากบริษัทน้ำมัน และพลังงานแห่งชาติ ไปเป็นบริษัทพลังงานแห่งอนาคต เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานสะอาดให้สำเร็จภายในปี 2575  และเป็นบริษัทที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593

ปตท

เขายังเปิดเผยมุมมองในเรื่องพลังงานว่า พลังงานฟอสซิล อย่าง น้ำมัน นั้น น่าจะมีจุดพีคอยู่ในปี 2032 หรืออีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า แม้จะยังโตได้ แต่ก็จะเริ่มน้อยลง ส่วนก๊าซธรรมชาติ ยังไปได้อีกไกล เพราะเป็นฟอสซิลที่สะอาดที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมัน หรือถ่านหิน

“ก๊าซธรรมชาติ เรามองว่ายังอยู่ได้อีกนาน เขาเรียกว่าเป็นเชื้อเพลิงช่วงเปลี่ยนถ่าย ก่อนที่จะไปใช้พลังงานทดแทนแบบเต็มที่ โดยน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ยังกินส่วนแบ่งตลาดอยู่ประมาณ 80% ยังเยอะมาก เพราะฉะนั้น กว่าที่จะเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนเข้ามาแทนที่ ในสัดส่วนที่มากจนมีนัยสำคัญก็ต้องใช้เวลา” 

เขาบอกด้วยว่า หากพูดถึงทิศทางอุตสาหกรรมพลังงานนั้น มี 2 คำ ที่จะเป็นทิศทางให้ ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือ เดินไปข้างหน้าในระยะยาวได้อย่างมีจุดหมาย และประสบความสำเร็จคือ GO GREEN และ GO ELECTRIC

ปตท.

GO GREEN คือ ไปในเชื้อเพลิงที่สะอาดมากขึ้น ส่วน GO ELECTRIC คือ รูปแบบการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย จะใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แต่ทั้งนี้ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต ก็ต้องผลิตมาจากพลังงานทดแทนด้วย เพื่อให้เป็นพลังงานสะอาดทั้งหมด

“นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมแนวโน้มการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย จะเป็นไฟฟ้า เพราะต้องดูต้นทางว่า ถ้าผลิตมาจากสิ่งที่สะอาดได้ ทั้งห่วงโซ่การผลิตก็จะสะอาด ไม่เหมือนน้ำมันที่พอผลิตมา กลั่นมา สันดาปภายใน ยังไงก็ พ่นควันออกมาอยู่ดี เพราะฉะนั้น 2 คำ ง่าย ๆ คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC คือทิศทางระยะยาวของพลังงาน” 

ปตท. จึงเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่ มุ่งหน้าสู่การเป็นบริษัทที่ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต และเติบโตในธุรกิจใหม่ที่ไปไกลกว่าวิสัยทัศน์เดิม (Powering life with future energy and beyond)

ปตท.

“เราเน้นว่า เราขับเคลื่อนทุกชีวิต ผู้คน ชุมชน สังคม ประเทศ หรือสังคมโลก ด้วย Future Energy and Beyond ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงทิศทางกลยุทธ์ของเราว่า เราจะไปทิศทางไหน เราจะไปที่ Future Energy แล้วมีคำว่า Beyond ขึ้นมา Beyond นี่คือ ออกนอก Energy” 

“พลังงานแห่งอนาคต” (Future Energy) หลัก ๆ ก็คือ พลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเก็บกักพลังงานไว้ในแบตเตอรี่ หรือใต้ดิน และสุดท้ายคือการเดินหน้าสู่การผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า

ปตท.

นอกจากนี้ ปตท.ยังได้ลงทุน และเป็นพันธมิตรกับบริษัทต่างชาติหลายราย เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง ของ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ผ่าน “อรุณ พลัส” บริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลธุรกิจนี้อย่างครบวงจร รวมถึง การสร้างฐานการผลิตรถไฟฟ้าในไทย และมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางรถไฟฟ้าของภูมิภาค ในลักษณะของการเป็นโออีเอ็ม ทั้งยังตั้งบริษัท ออน-ไอออน ขึ้นมา เพื่อทำธุรกิจสถานีให้บริการไฟฟ้า (Charging Station)

ปตท.

ทั้งยังตั้งบริษัท swap & GO สำหรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ และเพื่อให้ผู้คนทั่วไปหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นอกเหนือไปจากการทำแพลตฟอร์มชื่อ EVME ตอบโจทย์คนที่อยากขับรถไฟฟ้า แต่ยังไม่กล้าซื้อ ให้เข้าไปเช่ารถเพื่อทดลองขับ ตั้งแต่ 3 วัน 7 วัน หรือเป็นเดือนก็มีทุกยี่ห้อ โดยขณะนี้ EVME ก็มีรถให้เช่ากว่า 400 คัน มีอัตราการเช่า 90% แล้ว

ปตท.ยังมี  fIT Auto ให้บริการหลังการให้เช่า เพื่อจะให้มีความรู้ในเรื่องของการดูแลรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อโรงงานสามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้ตามเป้า

ปตท.

ปตท. รุก 5 ธุรกิจใหม่นอกอุตฯ พลังงาน

เป้าหมายการลงทุนของ ปตท. และกลุ่มบริษัทในเครือ ภายใต้วงเงินลงทุนเกือบ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นการขยายฐานธุรกิจอุตสาหกรรม สู่ธุรกิจที่เรียกว่า Life Science ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยใน New S–Curve 12 ด้าน โดยเลือกหยิบธุรกิจอุตสาหกรรมที่เป็นสมัยนิยม หรือเทรนด์ ของโลก มาเป็นเทรนด์ ที่ไทยควรมี

  • ธุรกิจ Life Science

มี บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เป็นแกนหลัก เน้นการลงทุนธุรกิจยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ รวมถึงการตั้งโรงงานแพลนต์เบส

ปตท.

โดยขณะนี้ ปตท.ได้เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 37% ในบริษัท Lotus Phamaceutical บริษัทผู้ผลิตยาในไต้หวัน และได้เข้าถือหุ้นในบริษัท Adalvo เป็นบริษัทที่ซื้อสิทธิบัตรยาจากทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือกับหน่วยงานด้านการแพทย์ต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยและพัฒนา อาทิ ร่วมกับ องค์การเภสัชกรรม สร้างโรงงานผลิตยารักษาโรคมะเร็ง ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัย “โมเลกุลมณีแดง” นวัตกรรมต้านเซลล์ชรา

ปตท.

เป้าหมายก็เพื่อสร้างความมั่นคงด้านสาธารณสุขให้กับประเทศ แม้ประเทศไทยมีจุดเด่นเรื่องบริการทางการแพทย์ แต่ยังขาดเรื่องของต้นน้ำ การวิจัยและพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ต้องเป็นการนำเข้าทั้งสิ้น

  • ธุรกิจไลฟ์สไตล์

ภายใต้การนำของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR  เป็นการดำเนินงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ผ่านการรวมมือกับพันธมิตรรายต่าง ขณะที่ สถานีบริการน้ำมันต้องปรับตัว รับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

กลุ่มเป้าหมายไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่คนเดินทางเท่านั้น แต่จะรวมถึงชุมชนรอบ ๆ ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ

ปตท.

  • ธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง

มี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC เป็นแกนนำ จะเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และการเข้าสู่เทคโนโลยีชีวภาพ ในแง่ของการเข้าไปลงทุนซื้อบริษัทที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูง เช่น เทคนิคการเคลือบผิวที่เป็นไบโอเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Biofuel Biochemical หรือ Bioplastic ซึ่งสามารถเคลือบได้ตั้งแต่ถนนไปจนถึงยานอวกาศ

  • ธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน

บริษัทจะเน้นในเรื่องของการเสริมศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ หรือที่จะขยายในอนาคต ครอบคลุมทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมถึงการบริหารคลังสินค้า

“ที่ทำไปแล้ว คือ การลงทุนในท่าเรือแหลมฉบัง ระบบรางก็กำลังร่วมมือกับการรถไฟฯ อยู่ เราไม่ได้ไปประมูลรถไฟฟ้านะ แต่จะไปดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในระบบโลจิสติกส์ขึ้นมา อย่างระบบรางคู่ของการรถไฟฯ ถ้าสร้างเสร็จก็จะมีศักยภาพมหาศาล เชื่อมต่อกับทางลาว ไปจีนได้ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจับได้ ไม่ต้องมานั่งเถียงกัน”

ทางอากาศ ปตท. ก็ร่วมมือกับการบินไทยหลายโครงการ โดย ปตท. มีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า และบริการที่เกี่ยวเนื่องแบบครบวงจร ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของอาเซียน

ปตท.

  • ธุรกิจ AI และ Robotics

อยู่ภายใต้การดูแลของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งได้ลงมือดำเนินการในด้านนี้ไปแล้วหลายอย่าง จากการใช้หุ่นยนต์สำรวจท่อ และแท่นขุดเจาะใต้ทะเล จากนั้นก็พัฒนาสู่โดรนสำรวจแนวท่อสำรวจสายไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ไปจนถึงการสร้างโดรนเพื่อการเกษตร

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ กลุ่มมิตซุย ของญี่ปุ่น ตั้ง บริษัท พีทีที เรส จำกัด ให้บริการด้านหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งยังมี เมฆา เทคโนโลยี จำกัด ที่เป็นผู้บริการคลาวด์ ซึ่งไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างเดียว แต่ให้บริการด้านการวิเคราะห์ด้วย และบริษัท ที-อีโคซิส จำกัด พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo