CEO INSIGHT

เปิดเส้นทางสู่ ‘เจ้าแห่งทุน’ : เจริญ สิริวัฒนภักดี

The Bangkok Insight  กระเทาะตำนานอภิมหาเศรษฐีเมืองไทยของตระกูลดัง เกี่ยวกับเรื่องราวการเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจ  จนกระทั่งเติบโต กลายเป็นมหาเศรษฐีของตระกูลต่างๆให้ติดตามอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ 

ตอนที่ 1 : จุดเริ่มต้น   

Logo เจาะลึกตระกูลดัง

เรื่องราวของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” วัย 75 ปี อภิมหาเศรษฐีแถวหน้าของไทย ผู้ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 6  แสนล้านบาท จากการรวบรวมของฟอร์บส์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทรัพย์สินมหึมากองนี้ มาจากการ ถือครองกิจการมากมายที่ดินมาก กว่า 6 แสนไร่ทั่วประเทศ ฯลฯ

ความมั่งคั่งอันสุดจินตนาการนี้ เริ่มต้นขึ้นในปี 2503 เมื่อ เจริญ ร่วมกับภรรยา (คุณหญิงวรรณา) ก่อตั้ง บริษัท ไทยเจริญ คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีซีซี กรุ๊ป ปัจจุบัน ก่อน เจริญ รุกเข้าสู่วงการน้ำเมาเต็มตัวในปี 2520 ปีเดียวกับที่ “สุราแสงโสม” ถือกำเนิดขึ้น หากจุดเปลี่ยนที่ทำให้เจริญ ผงาดขึ้นมาบนเส้นทางแห่งทุน คือปี 2529 เมื่อเขาก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุทธ์จักรน้ำเมา และเข้าครอบครองแบงก์มหานคร สำเร็จในปีเดียวกัน

 

Screen Shot 2017 04 05 at 1.58.04 PM
ภาพ : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์

ช่วงทศวรรษต่อจากนั้น (ทศวรรษ 2530 ) ข่าวการรุกและซื้อกิจการของ เจริญ ปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง บุคคลสำคัญทั้งในแวดวงธุรกิจ การเมือง หลายคน ล้วนเคยทำธุรกิจ กับ เจริญ โดยเฉพาะการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์

ปี 2530 ซื้อหมู่บ้านเสนา นิเวศน์ จาก เจ้าสัวชวน รัตนรักษ์ ผู้ก่อตั้งแบงก์กรุงศรีอยุธยา

ปี 2531 ถัดมาเจริญปิดดีลรัวๆ เริ่มจากซื้อบริษัทไพบูลย์ สมบัติ (ของตระกูลบุนนาค) เจ้าของโครงการพันธ์ทิพย์ พลาซ่า และที่ดินย่านกลางเมืองอาทิ สำเพ็ง มูลค่า 1,000 ล้านบาทโดยประมาณ ซื้อบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จากตระกูล“ศรีกาญจนา” ฯลฯ

ปี 2533 ซื้ออาคาร และท่าเรือ ที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาฝั่งถนนเจริญกรุง จาก บริษัทการค้าเก่าแก่ อีสต์เอเชียติ๊ก

imperial queens park
ภาพ : Hotels Click.com

ปี 2537 ซื้อกลุ่มโรงแรม อิมพีเรียล จาก อากร ฮุนตระกูล (นักธุรกิจโรงแรมแถวหน้าในยุคนั้น-ผู้เขียน) มูลค่า 2,310 ล้านบาท ซึ่งเป็นดีลสนั่นเมืองในเวลานั้นเพราะไม่มีใครคิดว่า อากร จะวางมือจาก อิมพีเรียลง่ายๆ และเป็นจุดเริ่มต้น ในการรุกสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมอย่างจริงจังของกลุ่มทีซีซีในเวลาต่อมา ฯลฯ

ปี 2538 เข้าถือหุ้นใหญ่ในโรงแรม ชีวาศรมของ บุญชู โรจนเสถียร (อดีตนายแบงก์และรัฐมนตรีคลัง)

เจริญ เคยให้สัมภาษณ์ ฐานเศรษฐกิจ (เดิม) ว่า การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเขาไม่ใช่เก็งกำไร แต่ซื้อเพราะเชื่อว่ามีอนาคต อีกทั้งได้เทอมการผ่อนชำระยาวจากแบงก์ “ผมไม่ได้จับที่ดินแบบนายหน้าซื้อขายที่ดิน …. ธุรกิจของผมต้องมีขั้นมีตอน ต้องมีการลงทุนจริงๆ ฉาบฉวยไม่ได้เด็ดขาด โครงการที่ดินต้องทำยาว 5 -10 ปีเห็นผลจึงทำ …. ผมไม่ได้เสี่ยงอย่างที่หลายคนเข้าใจ “

แม้ เจริญ อธิบายหลักคิดในการซื้อสะสมอสังหาริมทรัพย์ แต่การซื้อทรัพย์สินหลายรายการของเขา ถูกมองว่า เป็นการสร้างไมตรีกับผู้ขาย เพื่อกระชับสายสัมพันธ์หรือ คอนเนคชัน

คุณเจริญและคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี e1521097594470
เจริญ และคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี

เมื่อจบทศวรรษแห่งการซื้อภาพความเป็นกลุ่มธุรกิจของ ทีซี ซีกรุ๊ปที่ เจริญ และคุณหญิงวรรณา ร่วมเป็นเจ้าของ ก็ปรากฏชัดขึ้น ธุรกิจน้ำเมา มีบริษัท แสงโสม เป็นเรือธง การเงินมี แบงก์มหานคร และธุรกิจอสังหาฯกำลังต่อยอดจาก อิมพีเรียล ณ เวลานั้นคนทั่วไปมองว่า เจริญ ลูกชายพ่อค้าขายหอยทอดจากตลาดน้อย และเด็กหนุ่มที่เริ่มต้นธุรกิจสุรา จากการค้าขายสินค้าจิปาถะกับโรงงานเหล้านั้น มาไกลจนสุดทางแล้ว โดยไม่มีใครคาดคิดเลยว่า ผู้ชายพูดน้อยคนนี้จะก้าวไปบนเส้นทางแห่งทุนไกลไปกว่านั้นอีก

ช่วงเวลานั้น วอลล์สตรีท เจอร์นัล หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจทรงอิทธิเล่มหนึ่งของโลก เคยประเมินว่าเขามีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์  ซึ่งหมายถึง ความมั่งคั่งของ เจริญ ขึ้นชั้นทำเนียบ อภิมหาเศรษฐีโลก ที่โลกทั้งใบมีคนชนชั้นนี้ไม่เกิน 2,000 คน

มีการวิเคราะห์สาเหตุที่ เจริญ สามารถสะสมทุนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่ไม่มีมรดกเป็นทุนตั้งต้น ความสามารถเฉพาะตัวของเจริญคือปัจจัยหนึ่งที่ถูกกล่าวถึง และนักสังเกตการณ์เชื่อว่า ธุรกิจน้ำเมา คือปัจจัยหลักที่อยู่เบื้องหลังความมั่งคั่งที่พอกพูนขึ้นของเจริญ

ทั้งนี้ ในปี 2529 หลัง สมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ควบรวมสัมปทานโรงงานสุราบางยี่ขัน (สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ากับโรงงานสุราภูธรสังกัดกรมสรรพสามิตเพื่อยุติสงครามน้ำเมาระหว่าง คำรณ เตชะไพบูลย์ บริษัท สุรามหาราษฎร์ กับกลุ่มพันธมิตรเจริญ บริษัท สุราทิพย์ ซึ่งกระทบรายได้นำส่งรัฐและระบบการเงินจากหนี้โรงงานสุรากว่า 14,000 ล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นส่งผล บริษัท สุราทิพย์ ที่เจริญถือหุ้นใหญ่ ขึ้นมามีบทบาท สูงสุดในวงการสุรา โดยครอบครองส่วนแบ่งตลาดราว 98 % ของมูลค่าตลาดสุรา 50,000 ล้านบาท ณ ขณะนั้น

นอกจากนี้ ระบบการค้าสุรา ร้านค้าต้องวางเงินสดล่วงหน้า 1 เดือน กับเอเย่นต์ในการสั่งสินค้า ทำให้ธุรกิจสุราของเจริญนั้นท่วมท้นไปด้วยกระแสเงินสด และสาเหตุสุดท้ายคือ เจริญรุกขยายอาณาจักธุรกิจไม่เคยหยุด แม้ในช่วงวิกฤติ

thumbnail เอ็มไพร์ทาวเวอร์

ปี 2540 เจริญ ได้ซื้ออาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์ จากนักธุรกิจฮ่องกง มูลค่า 4,000 ล้านบาท ตามด้วยการซื้อโรงแรม พลาซาแอทธินี ที่นิวยอร์ก มูลค่า 1,750 ล้านบาท และวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกันนั้น เจริญ ประกาศทุบโรงแรมอิมพีเรียล เพื่อขึ้นโครงการโรงแรมหรู

การซื้อของ เจริญ ต้องเว้นวรรคชั่วคราวเมื่อ วิกฤติต้มยำกุ้งอุบัติ หลังแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ตอนเช้ามืดของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 การเปลี่ยนแปลงวิธีกำหนดค่าเงินครั้งนั้น ก่อให้เกิดคลื่นวิกฤติ ซัดกระหน่ำเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และได้กวาดธุรกิจการเงินของไทยหายไปเกือบทั้งระบบ รวมทั้งแบงก์มหานคร ของ เจริญที่แบงก์ชาติสั่งลดมูลค่าหุ้นเหลือ 1 สลึงต่อหุ้น แล้วจับควบรวมเข้ากับแบงก์กรุงไทย ส่วน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์(บงล.) มหาธนกิจ ถูกสั่งปิดพร้อม 56 ไฟแนนซ์ หลังเจริญประสบความล้มเหลวในการหาพันธมิตรร่วมทุนตามเส้นตายของแบงก์ชาติ

ประเมินกันว่าวิกฤติครั้งนั้น เจริญ เสียหายไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท และทำให้จังหวะการซื้อ (กิจการ) ของ เจริญ ชะงักไป แต่เป็นเพียงชั่วครู่เท่านั้น ก่อน เจริญ หวนกลับมาซื้ออีกครั้ง

thumbnail พลาซ่า แอทธินี

ปี 2543 เจริญ เปิดตัวโรงแรมพลาซ่า แอทธินี (อิมพีเรียลเดิม) พร้อมกับงานแต่งงานบุตรีคนหนึ่ง งานคืนนั้นคลาคล่ำไปด้วย นักธุรกิจใหญ่ และผู้มีอำนาจทางการเมืองจนถูกกล่าวขวัญ ซึ่งเปรียบเหมือนการส่งสัญญาณให้สังคมได้รับรู้โดยทั่วกันว่า “ผมกลับมาแล้ว” 

ในปี 2544 เจริญ ช็อกวงการธุรกิจอีกครั้ง เมื่อประกาศซื้อหุ้น 83.55 % ในบมจ. เบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือบีเจซี บริษัทการค้าเก่าแก่ จากกลุ่มเฟิร์สแปซิฟิค ของกลุ่มนักธุรกิจชาวอินโดนีเซียมูลค่า 5,532 ล้านบาท

ดีล บีเจซี ต่างจากการซื้อครั้งก่อนหน้า เพราะเป็นการซื้อกิจการ ทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นทิศทางหลัก ของ ทีซีซี กรุ๊ป ในห้วงเวลาต่อมา….

Avatar photo