CEO INSIGHT

‘GGC’ ชูโกลบอล กรีน ตลอด ‘Supply Chain’ – ร่วม GIZ สร้างองค์ความรู้ ชาวสวนปาล์ม ก้าวสู่มาตรฐาน RSPO

‘GGC’ ชูโกลบอล กรีน ตลอด ‘Supply Chain’ ร่วม GIZ สร้างองค์ความรู้ ชาวสวนปาล์ม ก้าวสู่มาตรฐาน RSPO เป็นเครื่องมือสําคัญ  ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มให้กับเกษตรกร และเข้าถึงตลาดโลกได้ 

“Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO” หมายถึง การผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน โดยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อชุมชน เริ่มมาจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย RSPO ยังเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ที่ครอบคลุมมิติความยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันที่ได้รับ การยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุดขณะนี้

ปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง และมีผลเสีย ต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น แรงกดดันของผู้บริโภค จึงทำให้อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม เกิดแนวคิดริเริ่มในการผลิตอย่างยั่งยืนขึ้น โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสร้างความมั่นใจในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนขึ้น

สวนปาล์ม

 

การยกระดับคุณภาพผลผลิตให้ได้ตรงตามมาตรฐาน RSPO  เป็นสิ่งจำเป็น บริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ มีการเลือกคู่ค้าที่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวมาพิจารณาซื้อสินค้ามากขึ้น รวมทั้งการกำหนดกฏเกณฑ์มาตรฐานในการรับซื้อวัตถุดิบ ส่วนประกอบ หรือแสดงจุดยืนในการรับสินค้ามาขายจากผู้ประกอบการที่เป็นต้นน้ำจนถึง ปลายน้ำ

GGC ร่วมกับ GIZ ช่วยชาวสวนปาล์ม 

บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC จึงได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – Friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand หรือ SCPOPP) มีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ประเทศไทย ยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่มาตรฐานสากล และ ยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทย ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil)

จากเป้าหมายโครงการฯ  เน้นส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ตามกรอบมาตรฐาน RSPO โครงการฯ จึงได้จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาเกษตรรายย่อยของประเทศไทย ในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Thailand Oil Palm Smallholder Academy หรือ TOPSA) หลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ GIZ  กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมพัฒนาและจัดขึ้นในรูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับการอบรม  ยังได้นำหลักการและเกณฑ์กำหนดของมาตฐานเกษตรกรรายย่อยของมาตรฐาน RSPO ตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนการพัฒนาสื่อการสอนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ

เราเป็นโกลบอล กรีน อยากทำอะไร เป็นกรีนตลอด Supply Chain เริ่มเห็นตลาดเทรนของ Requirements เกี่ยวกับการทำอะไรที่ยั่งยืนมาแรง รวมถึงความยั่งยืนทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  

 

สวนปาล์ม
ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์

“เราเป็นโกลบอล กรีน ก็อยากทำอะไรเป็นกรีนไปทั้งตลอด  Supply Chain ประกอบกับ เริ่มเห็นตลาดเทรนของ Requirements หรือ ความต้องการ” เกี่ยวกับการทำอะไรที่ยั่งยืนมาแรง รวมทั้งความยั่งยืนทั้ง Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งกลางน้ำและปลายน้ำ เราไม่ห่วง มีอยู่แล้ว แต่ที่เป็นห่วงคือ “ต้นน้ำ” เราเห็นเทรนมาแรง ถ้าเรายังดำเนินธุรกิจด้วยวิชั่นของเรา กรีนเคมิคอล คัมปานี ก็ต้องมีคุณค่าที่ยั่งยืน ทำให้เราคิดว่าต้องไปถึงต้นน้ำเลย” ไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC อธิบายถึงเหตุผลทำไมบริษัทถึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าว

เป้าหมายใหญ่อยากเข้าถึงต้นน้ำ

ไพโรจน์ บอกด้วยว่าจริง ๆ ที่ผ่านมา GGC เราติดต่อทำธุรกิจตรงกลางระหว่างโรงกลั่น กับโรงหีบ เรายังไม่เคยลงไปถึง “ต้นน้ำ” หมายถึงเกษตรกร เราจึงต้องพึ่งคนกลางไปหาซื้อวัตถุดิบ มาจากไหน บางทีเราก็ไม่รู้รู้ว่าเขาไปเอาจากไหน ไม่แน่ใจ และไม่มั่นใจว่าวัตถุดิบนั้น มาจากเกษตรกรที่ทำดีจริง ๆ ที่เราอยากได้ แต่แนวทางของบริษัท เราเป็นโกลบอลกรีน ก็อยากทำอะไรเป็นกรีน ไปทั้งตลอดสาย Supply Chain 

ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ GGC ทำ เพราะ GGC เคยทำโครงการนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ครั้งก่อนกับครั้งนี้ ไม่เหมือนกัน เมื่อก่อนเราทำเอง เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ซึ่งเราเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ แต่ครั้งนี้เราตั้งใจทำให้เป็นเรื่องเป็นราวเพราะเป็นเรื่องที่ดี เลยต้องดึงผู้ที่มีความรู้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องนี้ อย่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย เป็นองค์กรที่มาจากประเทศเยอรมัน อยู่วงการนี้มานาน ได้พูดคุยกันซึ่งเรามีโครงการอยากให้เขาแนะนำทำอย่างไร จึงได้เสนอโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate – Friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand หรือ SCPOPP)  ร่วมกันระหว่าง GGC กับ GIZ และโรงหีบ เพราะโรงหีบจะมีชาวสวนปาล์มอยู่ในสังกัด กลุ่มเป้าหมายของเราคือ “ชาวสวนปาล์ม” เลยได้คิดโครงการนี้ขึ้นมากับ GIZ เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ ให้ปลูกต้นปาล์มอย่างยั่งยืน

สวนปาล์ม

สร้างโอกาสให้กับเกษตรกร

ไพโรจน์ บอกว่าโครงการนี้มีระยะเวลาประมาณ 3 ปี จุดเริ่มต้นเราต้องสร้างความเข้าใจก่อนว่า โครงการนี้คืออะไร ต้องเริ่มจากการพูดคุยกับโรงหีบก่อน จากนั้นก็ได้คัดเลือกมา 7 โรงหีบ ถัดมาก็หาเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ก็คือกลุ่มต้นน้ำ เริ่มแรกก็คิดว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ราย ที่เป็นชาวสวนปาล์มและเข้าร่วมโครงการนี้ เพื่อมาเทรนเดอะเทรนเนอร์ แต่ปรากฎว่ามีเกษตรกรให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 1,000 รายแล้ว ใน 5 พื้นที่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ตรัง กระบี่ สุราษฏร์ธานี พังงา และชุมพร ซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีพื้นที่สวนปาล์มประมาณ 25-30 ไร่ แต่ข้อสำคัญเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเท่านั้น

“ผมเชื่อว่าองค์ความรู้เหล่านี้ จะเป็นเครื่องมือสําคัญ ที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเกษตรกร และโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มของไทยให้เข้าถึงตลาดโลกได้”  

สำหรับบทบาทของ GGC เราสปอนเซอร์ ในส่วนของ “เทรนเดอะเทรนเนอร์” และหลักสูตร TOPSA แก่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันรายย่อย ในโครงการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate–friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand หรือ SCPOPP) เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสู่การเป็นวิทยากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะมี 5 โมดูล ประกอบด้วย

สวนปาล์ม

1. มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO : เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานและการรับรอง RSPO มาตรฐานการรับรองระบบห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงขั้นตอนและการเตรียมตัวในการสมัครสมาชิก RSPO

2. การบริหารจัดการกลุ่ม : บทบาทต่างๆ ของสมาชิกที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน การวางแผนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบควบคุมภายใน ซึ่งเป็นเกณฑ์กำหนดสำหรับกลุ่มเกษตรกรที่ต้องการขอรับรองมาตรฐาน RSPO

3. กสิกรรม : สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมัน การจัดการสวนปาล์มที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการอย่างยั่งยืนและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

4. สิ่งแวดล้อม : การรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมของสวนปาล์ม เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันและการรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ การปลูกปาล์มน้ำมันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

5. สังคม : สร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น สิทธิที่ดิน แรงงาน การไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้าง การล่วงละเมิดทางเพศ ความเท่าเทียม

ต้องสอนเกษตรกรทั้ง 5 โมดูล เมื่อเรียนจบแล้ว เป็นการสอน “เทรนเดอะเทรนรเนอร์” แล้วไปสอนต่อ  ถึงเวลาเกษตรกร ต้องมาทำหนังสือรับรองกับองค์กร RSPO ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปช่วยเขาในการเก็บข้อมูล

 

สวนปาล์ม

“อันนี้เป็น CSR นำ Marketing ล้วน ๆ ผมไม่ได้หวังว่าทำตรงนี้แล้ว จะมีเม็ดเงินกลับมา แต่เราหวังว่าในระยะยาว ระหว่างทางคนอื่นเห็นแล้วอยากจะสนใจเพิ่ม แล้วก็ขยายวงมากขึ้น อันนี้ในแง่ของบริษัท แต่ในแง่ส่วนรวมของประเทศชาติ เป็นองค์กรต้องเป็น “คนดี” (Good Corporate Citizen) บริษัทพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย และให้ได้การยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง” ไพโรจน์ ระบุ

สวนปาล์ม

สวนปาล์ม

สวนปาล์ม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight