CEO INSIGHT

‘ซีพี ออลล์’ ชูแผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ESG 2022 นวัตกรรมเพื่อชุมชน-สังคม-ประเทศ

“ซีพี ออลล์” ประกาศเป้าหมายดำเนินงานความยั่งยืน ภายใต้ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ประจำปี 2565 โดยการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆเพื่อชุมชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวถึงการยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนว่า ตามที่รัฐบาลได้ผลักดัน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมไทย ไปสู่รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า BCG Model เพื่อต่อยอดจุดแข็งของประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

ทั้งในด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยอาศัยกลไกด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของรัฐบาล

คณยุทธศักดิ์ ESG final

ในปี 2565 นี้ ซีพี ออลล์ จึงมีนโยบายมุ่งดำเนินธุรกิจตามแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ ด้วยการนำหลัก BCG Model ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

B (Bioeconomy) หมายถึง การนำทรัพยากรชีวภาพมาใช้ผลิตให้คุ้มค่า โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

C (Circular economy) ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า

G (Green economy) ระบบเศรษฐกิจสีเขียว การสร้างนวัตกรรม รวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด มาวางแผนการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กรอบกลยุทธ์ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) เป็นหลัก และมุ่งเน้นการปฏิบัติที่ส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม โดยมีเครือข่ายพันธมิตรรดำเนินโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสนับสนุน และขยายผลการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในเชิงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้ปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”

ชูแผนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ESG 2022

สำหรับการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความยั่งยืนภายใต้กรอบ ESG 2022 ประกอบด้วย

  • E หรือ Environmental

ซีพี ออลล์ ร่วมพัฒนาชุมชนและสังคมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมภายใต้นโยบาย “เซเว่น โก กรีน” (7 Go Green) เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง เป็นโครงการที่มุ่งสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน สังคม และประเทศ มุ่งเน้นผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดใช้พลังงาน และการลด ละ เลิกใช้ถุงพลาสติก ตลอดจนมุ่งสร้างความตระหนักรู้คุณค่าของสิ่งแวดล้อม

นโยบาย “เซเว่น โก กรีน” (7 Go Green) เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง ได้แก่

1. Green Store: การบริหารจัดการร้านอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมการปรับปรุงระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายใต้กลยุทธ์ “ร้านเพื่อสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพคอยล์เย็น และโครงการใบเสร็จรับเงิน แบบอิเล็กทรอนิกส์

2. Green Logistic: ซีพี ออลล์ ดำเนินงานด้านการขนส่ง และการกระจายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการจัดการพลังงาน ผ่านโครงการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง และออกแบบศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ภายใต้กลยุทธ์ “โลจิสติกส์เพื่อสิ่งแวดล้อม” อาทิ โครงการพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) โครงการยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ขยายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ นำร่องโครงการใช้รถไฟฟ้าในกระบวนการขนส่งสินค้า และโครงการปรับเปลี่ยนขนาดรถขนส่งสินค้า

3. Green Packaging: การดำเนินงานภายใต้นโยบาย และแนวปฎิบัติด้านบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งหวังในการลดปริมาณขยะที่ส่งเข้ากระบวนการฝังกลบน้อยที่สุด ผ่านแนวคิด “ลด ละ เลิก” รวมทั้งการคำนึงถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนแนวคิดหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

โดยมีเป้าหมายหลักด้านการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน นั่นคือ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) หรือนำมาใช้ใหม่ (Recyclable) หรือสามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable) ร้อยละ 100 ภายในปี 2568

สำหรับบริษัทที่มีการดำเนินงานในประเทศไทย อาทิ ขับเคลื่อนการลด เลิก ใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) โครงการฝายกดื่มไม่พึ่งหลอด โครงการบรรจุภัณฑ์จากวัสดุรีไซเคิล โครงการลดการใช้พลาสติกจากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และโครงการความร่วมมือและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ร่วมกับคู่ค้า

4. Green Living: การรณรงค์ปลูกจิตสำนึกเพื่อสิ่งแวดล้อม ซีพี ออลล์ เพื่อสร้างวัฒนธรรม และพฤติกรรมที่ลดปริมาณขยะพลาสติก โดยสานต่อโครงการ “ลดและทดแทน” เพื่อส่งเสริมลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ช้อน ส้อม หลอด และแก้ว รวมทั้งโครงการทดแทนการใช้พลาสติก ด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ESG CPALL Final

  • S หรือ Social

ซีพี ออลล์ มุ่งดำเนินธุรกิจภายใต้ความตะหนักถึงความสำคัญของสังคม ที่เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจขององค์กร ผ่านการส่งเสริม และสร้างคุณค่าที่หลากหลาย อาทิ การเสริมสร้างทักษะ และองค์ความรู้ต่าง ๆ การสร้างอาชีพ การส่งเสริมช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อสร้างโอกาสให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร รวมถึงกลุ่มเปราะบางทางสังคม

ซีพี ออลล์ มีนโยบายช่วยเหลือ และสนับสนุนผู้ประกอบการรายกลาง และรายเล็ก ผ่านกลยุทธ์ 3 ให้ ได้แก่ ให้ช่องทางจำหน่าย ให้ความรู้ และให้การสนับสนุน เพื่อมุ่งขยายโอกาส สร้างรายได้ และยกระดับเอสเอ็มอี เกษตรกรให้แข็งแกร่ง ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์ 7 สนับสนุนเอสเอ็มอี ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ช่วยผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤติ ยกระดับสินค้าชุมชนสู่ระดับประเทศ และสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน ​

สำหรับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต ซีพี ออลล์ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน โดยเชื่อมั่นว่า การมอบโอกาสทางการศึกษาสามารถเปิดประตูสู่โอกาสทางอาชีพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยในปี 2565 นี้ ซีพี ออลล์ได้มอบทุนการศึกษาเรียนปัญญาภิวัฒน์ฯ รวมกว่า 10,307 ทุน เป็นเงินกว่า 864 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในพันธมิตรก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ที่เล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษา วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่าง ๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ และโครงการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้แก่ครู และนักเรียน

ก่อนต่อยอดไปเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (Learning Community Center) ตามด้วยการเผยแพร่องค์ความรู้ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Life long Learning โดยมีผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กร ร่วมลงพื้นที่ และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยที่ผ่านมามีนักเรียนเข้าร่วมโครงการกว่า 120,000 คน ผ่านโครงการพัฒนาโรงเรียนกว่า 615 โครงการ

  • G หรือ Governance and Economic

หลักการบริหารงานภายใต้กรอบธรรมภิบาล ซีพี ออลล์ มีความเชื่อมั่นว่า แนวปฎิบัติด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี เป็นองค์กรที่บริหารงานด้วยความโปร่งใส ช่วยสร้างพื้นฐานความยั่งยืนขององค์กร ให้สามารถเติบโต และเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความสามารถการแข่งขันขององค์กรได้

ซีพี ออลล์ จึงได้ดำเนินงานโดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริษัท จัดโครงสร้างการบริหารงานด้านการกำกับดูแล พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการกำกับดูแลกิจการต่อต้านคอร์รัปชั่น นโยบายความยั่งยืนและแนวทางปฎิบัติรวมถึงจริยธรรมธุรกิจ ต่อต้านการทุจริต เคารพและปฎิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล การพัฒนาผู้นำ และพนักงานทุกคนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ และกิจกรรมด้านความยั่งยืน ส่งเสริมให้มีนวัตกรรมและการสร้างคุณค่าด้านสินค้า บริการ และธุรกิจใหม่ ภายใต้จริยธรรมธุรกิจและหลักธรรมภิบาล

ตลอดระยะเวลากว่า 33 ปีที่ผ่านมา บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้ขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาองค์กรให้เตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงการให้บริการความสะดวกแก่ลูกค้า สังคม ชุมชน และประเทศชาติเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการดูแลพนักงานที่นับว่าเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร

นอกจากนี้ ยังสร้างความร่วมมือ และส่งเสริมพัฒนาความยั่งยืนกับคู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขององค์กรให้เติบโตไปด้วยกัน เป็นไปตามปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo