CEO INSIGHT

ถอดโมเดล แก้ปัญหาบริบทชุมชนกรุงเทพฯ ‘เมืองน่าอยู่’ ผ่านมุมมอง ดร.ยุ้ย -เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์  ถอดโมเดลแก้ปัญหา บริบทชุมชนกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่ สู่ความยั่งยืน ผ่าน มุมมอง ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ จากคนสร้างบ้าน สู่งานสร้างเมือง แกนสำคัญ ทีมสร้างนโยบายพัฒนาเมือง เพื่อกรุงเทพฯ ของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” 

ทันทีที่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ” นักการเมืองอิสระ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม  เปิดตัว ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จากคนสร้างบ้าน สู่งานสร้างเมือง ร่วมทีมสร้างนโยบายพัฒนาเมือง เพื่อกรุงเทพฯ  สปอร์ตไลท์ส่องมาที่ ดร.ยุ้ย ทันที  สำนักข่าว The Bangkok Insight ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามที่ไปที่มา และความสนใจ บนถนนสายนี้ อะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้สนใจเรื่องเหล่านี้
ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ผ่ามุมมองแก้ปัญหาชุมชนกรุงเทพฯ

ดร.ยุ้ย เล่าว่า 2 ปี ของสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย กลายเป็นตัวแปรสำคัญต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องมีการปรับตัวและกลยุทธ์เพื่อเดินหน้าต่อไปให้ได้ นอกจากผลกระทบจากภาคธุรกิจที่ได้รับ แต่สิ่งสำคัญกลับได้มองเห็นอีกด้านของ “ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” หลังจากที่ได้เข้าไปตรวจเยี่ยมคนในพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อม ๆ ไปกับการนำถุงยังชีพไปช่วยเหลือแคมป์คนงาน และชุมชนรอบ ๆ แต่ก็มีคำถามในใจว่า การช่วยเหลือนี้ ท้ายที่สุดแล้ว เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน จึงต้องกลับมามองว่า จะมีทางใดที่สามารถทำได้แบบ ยั่งยืน

@ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นสภาพของชุมชน 

ดร.ยุ้ย บอกว่าตัวเองก็เป็นอีกคนที่ได้ร่วมบริจาคสิ่งของผ่าน พี่ชัชชาติ (ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ) เพื่อนำไปช่วยเหลือคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตอนนั้นก็คิดว่าเพียงเท่านี้ก็น่าจะเพียงพอ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ไปด้วย กลับทำให้เห็นว่าชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร ก็มีสภาพไม่ต่างไปจากแคมป์คนงานก่อสร้าง ต่างเพียงแค่แคมป์คนงานจะอยู่แค่ชั่วคราว เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ไป แต่ชุมชนต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ทั้งชีวิต

ถุงยังชีพที่มีทั้งสิ่งของอุปโภคบริโภคเพียงพอให้พวกเขาได้ประทั่งชีวิตประมาณ 2 สัปดาห์ หากมองผิวเผินก็น่าจะเพียงพอ แต่พอได้ลองคิดว่า “หลังจาก 2 สัปดาห์ ที่อาหารหมด จะมีใครมาบริจาคให้อีก และหากไม่มีคนนำสิ่งของมาให้ พวกเขาเหล่านี้จะอยู่อย่างไร”

ยิ่งทำให้เกิดคำถาม เมื่อมีแม่ลูกอ่อนคนหนึ่งถามว่า “มีนมผงสำหรับเด็กไหม เพราะไม่มีเงินซื้อนมให้ลูก” ดร.ยุ้ย บอกว่าในตอนนั้นได้ก้มลงไปมองในถุงยังชีพ มีเพียงสิ่งของที่เราคิดว่าจำเป็น แต่ตอบสนองความต้องการไม่ตรงจุด เหตุการณ์ครั้งนั้นจึง กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจจะลุกขึ้นมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง!!

ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

@ คิดว่าปัญหาใดที่ต้องแก้ก่อนอันดับแรก 

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย บางคนต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่แทบจะไม่สามารถกันแดดกันฝนได้ ซ้ำยังต้องกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดินรกร้าง หรือ รุกล้ำบริเวณคลอง ที่พบว่าปัจจุบันมีกว่าล้านคน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีราคาสูงและกลายเป็นอสังหาฯ เต็มเมือง หลายครั้งที่หน่วยงานรัฐได้ไล่พวกเขาออกจากพื้นที่รุกล้ำริมคลอง เพื่อก่อสร้างกำแพง หรือเขื่อน เพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ก็ไม่มีใครยอมออก โดยให้เห็นผลว่า “แล้วพวกเขาจะไปอยู่ไหน” ดร.ยุ้ย บอกว่า เป็นคำถามที่ตอบได้ยากเหมือนกัน แต่ก็เป็นความท้าทายที่อยากจะลงไปแก้ เพราะตัวเองก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านอสังหาฯ มานาน ก็น่าจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้แม้อาจจะต้องใช้เวลา ที่จะต้องทำคู่ขนานไปพร้อมกับการสนับสนุนทางด้านอาชีพ เพื่อความมั่นคงในเชิงรายได้ ที่จะต่อยอดให้ครอบครัวลูกหลานมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้เรียนหนังสือ เพื่อไม่ให้วงจรชีวิตย้อนกลับมาอีก

ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

@ โควิด-19 ทำให้ธุรกิจ และชาวบ้านแย่ลงอย่างไร 

ธุรกิจคอนโดไม่มีช่วงไหนที่ไม่ Over Supply ถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่จะต้องจัดการอย่างเป็นระบบ แม้ว่าช่วงนี้ Demand จะลดลง ก็สอดคล้องกับ Over Supply ของผู้ประกอบการที่ลดลงเช่นเดียวกัน แต่วิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้กลับทำให้ “คนจนลงมาก” เพราะความไม่เท่าเทียมของรายได้ โดยตัวเองได้เห็นเองด้วยตาของครอบครัวหนึ่งที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสาม เพื่อไปขายหมูปิ้งหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยนอกระบบร้อยละ 20  ดร.ยุ้ย บอกว่า หากเป็นตัวเองก็คงไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะต้องจ่ายค่าเทอมให้ลูกสองคน และค่าใช้จ่ายรายวันอีก แต่ละเดือนมีรายจ่าย 9,000 บาท สวนทางกับรายได้จากอาชีพขายหมูปิ้ง ที่ลดลงจากการปิดแคมป์คนงาน และปัญหาเคอร์ฟิว ที่ทำให้ระยะเวลาในการขายลดลง  คนเหล่านี้ก็ไม่สามารถกู้ในระบบได้เพราะติดแบล็กลิสต์ นอกจากนี้ ยังเจอเคสของผู้หญิงตกงาน เพราะต้องออกจากงานมาดูแลลูกชายที่ขับแกร็บประสบอุบัติเหตุ มีเพียงแค่พ่อทำงานขับแท็กซี่จากเดิมที่ทำงานทั้งหมดสามคน ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย

ดร.ยุ้ย – เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กับบทบาททีมนโยบาย 

@ ในส่วนของ ดร.ยุ้ย เข้าไปช่วยทำนโยบาย ของ ดร.ชัชชาติ เตรียมการไว้อย่างไร 

โดยจะเน้นในเรื่องของนโยบายที่ชัดเจนให้ตรงกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยการบริหารจัดการเพียงหน่วยงานเดียว เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากของหน่วยงานราชการที่เข้าถึงยากของชาวบ้าน สิ่งที่ทำเป็นอันดับแรกคือการลงพื้นที่และเดินอยู่ในชุมชนเพื่อศึกษาหาปัญหาว่ามีกี่เรื่องในแต่ละบริบทชุมชนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาให้ได้

อย่างในเรื่องของชุมชนแออัด มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้วคือบ้านมั่นคง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างในเรื่องของที่ดิน  โครงการบ้านมั่นคง มีเงื่อนไขของตัวเอง ดังนั้น ตัวเองจึงอยากเข้าไปแก้ปัญหาตามความเข้าใจด้วยว่า การที่พวกเขาไม่ยอมย้ายที่อยู่อาศัย เพราะต้องอยู่ใกล้แหล่งงาน

เราก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เขามี ecosystem ให้มีชีวิตที่ดีอยู่ตรงนั้นได้  อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่เราพยายามแก้ในแต่ละบริบท ที่มีบริบทแตกต่างกัน แต่ละชุมชนมีหลายเงื่อนไขเช่นเดียวกัน

ดร.ยุ้ย - เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์

@ โครงการบ้านมั่นคงถือว่าเป็นโครงการที่ทำมาต่อเนื่องแต่ทำไมยังทำไม่สำเร็จ 

ดร.ยุ้ย ระบุว่า โครงการบ้านมั่นคง ก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะชุมชนเหล่านี้ถ้าไม่มีบ้านมั่นคงก็ถือว่าไม่มีบ้านเลย แต่ที่เห็นว่าชุมชนยังให้ความสนใจน้อยอยู่อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีเงินในการซื้อบ้านมั่นคง เพราะจะต้องผ่อน 15 ปี ดอกเบี้ย 4%  นี่คือความแตกต่างของแต่ละชุมชนที่ทำให้บ้านมั่นคงยังไม่ประสบความสำเร็จในทุกชุมชน

นี่จึงเป็นจุดหลักที่ต้องการเข้าไป เพราะเชื่อว่าโครงการของรัฐหากมีเอกชนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็จะทำให้เป็นโมเดลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างเช่นการทำ พีพีพี เพราะเอกชนต้องทำเป็น SE โปรแกรมให้เข้ากับของรัฐ ที่จะให้รัฐเป็นคนทำ ดังนั้น คิดถึงแนวทางการดำเนินงานแบบ SE หรือ Social enterprise ซึ่งก็เป็นหนึ่งในนโยบาย

“จะเกิดความซ้ำซ้อนในการทำงานกัน หรือมีแนวทางอย่างไรในการทำไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของหน่วยงาน”

อยากให้มองว่าเป็นเรื่องของชุมชนที่ต้องแก้ไขในหลายด้าน จึงไม่น่าเกิดปัญหาในความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพียงแต่เราจะเข้าไปเสริมในบางจุด โดยเฉพาะเรื่องชุมชนริมคลอง ที่จะเข้าไปดำเนินการก่อนในระยะแรก เพื่อดูผลปฎิบัติก่อนถึงจะขยายไปยังพื้นที่ขนาดใหญ่

ดร.ยุ้ย

@ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเข้าไปยกระดับคุณภาพชุมชนให้เข้มแข็ง? 

ดร.ยุ้ย บอกว่า ตัวเองเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ กทม. ที่ตอนนี้มีปัญหามากมาย ทั้งปัญหารถติด ,ฝุ่น PM2.5 , ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในส่วนนี้ ดร.ชัชชาติ ก็จะเป็นคนดู แต่ในส่วนของที่ตัวเองสนใจคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน และก็จะเข้าไปดูในเรื่องงบประมาณของ กทม. ที่จะต้องใช้ตามความเหมาะสมและคุ้มค่าตามโมเดลที่จะได้ดำเนินการ ซึ่งเรากำลังทำอยู่ถ้าหากว่า ดร.ชัชชาติ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม ก็พร้อมที่จะทำ

@ รูปแบบของการลงไปช่วยเป็นลักษณะใด? 

สิ่งที่ ดร.ยุ้ย ยืนยันว่าตั้งไจทำมาก ๆ เลย คือ ecosystem คือการมีเนอสเซอรี่ที่ดี เป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างการันตีให้เด็กสามารถมีโอกาสทางการศึกษาที่ดี และอีกโมเดลคือ เนอสเซอรี่การดูแลคนแก่ผู้สูงอายุ ที่สำคัญมากคือการฝึกอาชีพ พร้อมสร้างระบบการทำงานให้เกิดขึ้นเพราะปัญหาคนตกงานคือปัญหาใหญ่ โดยมั่นใจว่าโมเดลเหล่านี้จะช่วยตอบโจทย์ในการ

แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมาก และตรงเป้าหมาย ที่ถือเป็นการวางแนวทางอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม

This slideshow requires JavaScript.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight