CEO INSIGHT

‘ปิยพร พรรณเชษฐ์’ แม่ทัพหญิง ‘TCMC’ กับโอกาสในวิกฤติ นำพาองค์กรแข็งแกร่ง

“ปิยพร พรรณเชษฐ์” หัวเรือใหญ่ TCMC มองวิกฤติสร้างโอกาส ปรับกระบวนทัพ ทั้งบุคลากร องค์กร ขยับโมเดลธุรกิจสร้างทางโต ชูเรือธงกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ลุยขยายช่องทางออนไลน์ รับเทรนด์ทำงานที่บ้าน

ข้ามห้วยจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สู่ธุรกิจโรงงานผลิต แต่ไม่ใช่ปัญหา สำหรับ “ปิยพร พรรณเชษฐ์” ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TCMC เมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ด้วยมุมมองบวกที่ว่า เป็นโอกาสได้เรียนรู้สิ่งใหม่

ปิยพร พรรณเชษฐ์

นอกจากนี้ ยังสามารถต่อยอดได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นลูกค้าของ TCMC ทำให้มีเครือข่ายจากการบริหารธุรกิจเดิม เพื่อมาต่อยอดสร้างคอนเน็คชั่นในธุรกิจของ TCMC ได้เป็นอย่างดี

ปิยพร เล่าว่า การเข้าร่วมงานกับ TCMC ถือเป็นความโชคดี เนื่องจากเป็นองค์กรที่อยู่มานานกว่า 50 ปี มีความเป็นมืออาชีพสูงมาก และที่โชคดียิ่งกว่าคือ บุคลากรที่นี่มีความตั้งใจที่จะร่วมกันนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ มีค่านิยมองค์กรที่ดี และพร้อมปรับตัว เพื่อรับความท้าทายใหม่ ๆ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในขณะนี้ ทุกธุรกิจ ล้วนต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน แต่สำหรับ ปิยพร กลับมองว่า เป็นโอกาส ที่ได้วิกฤติโควิด เข้ามาสะกิด ทำให้ทุกคนเกิดความตื่นตัว พร้อมปรับตัวตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาการทำงาน นำเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในองค์กร และทำงานเป็นทีมมากขึ้น

PathAJ BenCarpenter 003 281 Edit

เปิดวิสัยทัศน์ “ปิยพร พรรณเชษฐ์” พลิกวิกฤติสร้างโอกาส

“ที่สำคัญคือ วิกฤติโควิด กลับเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ปรับองค์กร ให้ลีน (Lean) ขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทั้งในองค์กร และในโรงงาน ซึ่งทำให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น”

เมื่อก้าวเข้าสู่แม่ทัพ TCMC สิ่งที่ ปิยพร มุ่งมั่นที่จะทำเป็นอันดับแรกคือ การดึงศักยภาพของบุคลากรในองค์กร ออกมาให้ได้มากที่สุด และตั้งใจสร้างบิสซิเนสโมเดล หรือโมเดลธุรกิจที่แข็งแรง ทั้งในระยะกลาง และระยะยาว

ปัจจุบัน ธุรกิจของ TCMC แบ่งกลุ่มสินค้าออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) TCMC มีแบรนด์สินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่ระดับลักซ์ชัวรี่ ถึง บีบวก ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ โดยมีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ในเครือ ได้แก่ Alstons, Ashley Manor, AMX Design, Alexander & James และ Arlo & Jacob ที่เพิ่งปิดดีลเข้าซื้อกิจการเมื่อเร็ว ๆ นี้

ขณะที่ในปีนี้จะขยายไปยังยุโรป และสหรัฐมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสในตลาดใหม่ ๆ

ARLO CARTWRIGHT 034 resize resize resize resize

สำหรับกลยุทธ์ การทำตลาดกลุ่มเฟอร์นิเจอร์นั้น จะเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยมองเห็นโอกาสจากวิกฤติโควิด ที่ทำให้แนวโน้มการทำงานที่บ้านเพิ่มสูงขึ้น และเกิดความต้องการเฟอร์นิเจอร์ ที่ตอบสนองการทำงานที่บ้านที่สะดวกสบายมากขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน วิกฤติโควิด ยังทำให้พฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าเปลี่ยนไป โดยหันมาดูข้อมูล และซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในกลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ แนวโน้มที่เกิดขึ้นคือ ลูกค้าจะชมและเลือกสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ จากนั้นจะมองหาหน้าร้าน เพื่อมาสัมผัสกับสินค้า

แนวโน้มที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นโอกาสของแบรนด์ ที่จะปรับตัวตาม ด้วยการขยายช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายสาขาหน้าร้านจำนวนมาก เพราะลูกค้าสามารถเข้าถึงและเลือกสินค้าได้จากช่องทางออนไลน์ จึงเป็นโอกาสทั้งการลดต้นทุน และการขยายช่องทางเข้าถึงลูกค้าได้ทุกที่ ทุกเวลา

ปิยพร พรรณเชษฐ์

จากโอกาสที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องเร่งพัฒนาสินค้า เพื่อรองรับโอกาสดังกล่าว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ควบคู่กับการขยายช่องทางขายผ่านออนไลน์ ที่พบว่าเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา มียอดขายเติบโตขึ้นถึง 37% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

การเติบโตที่เกิดขึ้น ยังส่งผลให้สัดส่วนรายได้สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มสูงขึ้นจากปกติ 50% เป็น 71% และคาดว่าจะคงสัดส่วนนี้ไปจนถึงสิ้นปี ตามแนวโน้มตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง

กลุ่มวัสดุปูพื้น (TCM Flooring) เป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง จากการหยุดชะงักของอุตสาหกรรมบริการและธุรกิจท่องเที่ยว เนื่องจากลูกค้าหลักเป็น กลุ่มโรงแรมและธุรกิจบันเทิงเป็นหลัก ดังนั้น บริษัทจึงปรับโมเดลธุรกิจ ด้วยการขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ลูกค้าที่อยู่อาศัย อาคารสาธารณะ กลุ่มลูกค้าองค์กร สำนักงาน รวมถึงขยายตลาดส่งออก โดยสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 17% ของรายได้ของ TCMC

อย่างไรก็ตาม จากนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล เชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจโรงแรมมีโอกาสฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทเช่นกัน

ARLO FERN 127 resize resize resize resize

กลุ่มธุรกิจพรม และผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) พบว่า ตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้บริษัทต้องเร่งปรับปรุงเครื่องจักร เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดระดับบน

นอกจากนี้ ธุรกิจกลุ่มออโตโมทีฟ ยังมีโอกาสใหม่ จากการขยายตัวของยานยนต์ไฟฟ้า บริษัทจึงเริ่มพัฒนาสินค้ากลุ่มนี้ เพื่อตอบสนองกับการใช้งานในรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อการเติบโตในอนาคต ตามแนวโน้มตลาด

Isuzu DMAX

ปิยพร ปิดท้ายว่า ในเรื่องของกำลังซื้อ คงต้องใช้เวลาอีกระยะ ซึ่งวัคซีนและการเปิดประเทศ เป็นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นอีก โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่น่าจะฟื้นตัวได้เร็ว หากคนมีความมั่นใจว่า ท่องเที่ยวปลอดภัย จะเห็นคนออกมาเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอน

“วิกฤติครั้งนี้ จะเป็นโอกาสที่ทำให้เราแข็งแรงขึ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ การทำให้องค์กรดีขึ้น และแข็งแรงกว่าเดิม และพร้อมขยายตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องและมีโอกาสเติบโต”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo