CEO INSIGHT

เอสแอนด์พี ปั้นโมเดลธุรกิจใหม่ DELTA ฝ่าโควิดด้วย เดลิเวอรี&เทคอะเวย์

เอสแอนด์พี เปิดกลยุทธ์ฝ่าโควิด ด้วยโมเดลใหม่ “DELTA”  เมนู “กับข้าวไทย” ลุยแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมผนึกพันธมิตรผู้ให้บริการจัดส่ง มั่นใจปีหน้ารายได้ฟื้น 7,000 ล้านบาท เท่าช่วงก่อนโควิด

นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจเอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 จนถึงการระบาดระลอก 3 ล่าสุด ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อยอดขายร้านสาขาของ เอสแอนด์พี แต่พบว่า สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว ประกอบกับการปรับตัวของบริษัท ทำให้ ณ ไตรมาส 1/2564 บริษัทมีรายได้ 1,185.29 ล้านบาท และมีผลกำไร 79.35 ล้านบาท

เอสแอนด์พี

 

อย่างไรก็ตาม การจำกัดพื้นที่นั่งทานในร้านได้ 25% ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ส่งผลให้ยอดขายต่อร้านลดลงเหลือ 25% เช่นกัน ดังนั้น บริษัทจึงได้วางกลยุทธ์ใหม่ ด้วยการให้ความสำคัญกับ การจำหน่ายผ่านช่องทางเดลิเวอรี (Delivery) และ เทคอะเวย์ หรือซื้อกลับบ้าน (Take away) เพื่อสร้างรายได้มาทดแทน รายได้จากการนั่งทานที่ร้าน

ทั้งนี้ บริษัทได้วางเป้าหมายสร้างธุรกิจเดลิเวอรี ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือมียอดขายเพิ่มจาก 500 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 1,000 ล้านบาทในปีนี้ ภายใต้กลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

  • เปิดโมเดลธุรกิจใหม่ DELTA

DELTA หรือ Delivery Take away จะเป็นสาขารูปแบบใหม่ของเอสแอนด์พี ที่มีทั้งบริการจัดส่งถึงบ้าน และซื้อกลับบ้าน โดยขณะนี้เริ่มเปิดให้บริการแล้ว 8 สาขา และจะเพิ่มเป็น 31 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ เน้นการขยายสาขาในปั๊มน้ำมัน ชุมชน คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยส่วนหนึ่ง ได้ปรับหน้าร้านของเอสแอนด์พี เบเกอรี มาเป็นร้าน DELTA ภายใต้ชื่อ “S&P 1344” ใช้งบลงทุน 2.5-2.8 ล้านบาท สร้างยอดขาย 1.5-1.8 ล้านบาท ต่อเดือน ต่อสาขา

590020

  • พัฒนาสินค้าใหม่ ทั้งอาหารและของหวาน

เอสแอนด์พีได้เปิดตัว เมนูใหม่ภายใต้แบรนด์ “กับข้าวไทย” และเร่งทำตลาดเค้กปอนด์ มากขึ้น โดยแบรนด์ กับข้าวไทย ได้พัฒนาเมนูใหม่เพิ่มอีก 20 เมนู เริ่มตั้งแต่กับข้าว 1 อย่างพร้อมข้าว ราคาเริ่มต้น 79 บ้าน โดยจะจำหน่ายเฉพาะช่องทางเดลิเวอรี เท่านั้น จนถึงปัจจุบันมีกว่า 30 เมนู ขณะที่เค้กปอนด์ จะเน้นช่องทางเดลิเวอรีเช่นกัน ปัจจุบันมีเค้กให้เลือกถึง 30 รายการ

  • แพลตฟอร์มออนไลน์โฉมใหม่

บริษัทให้ความสำคัญกับ การขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ด้วยการปรับโฉมเว็บไซต์ใหม่ เพื่อให้เข้าถึงง่ายขึ้น มีการแบ่งประเภทสินค้าหลากหลาย รวมถึงการจัดเลี้ยง ที่แบ่งตามโอกาสงาน เป็นต้น

  • ขยายพื้นที่จัดส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นอกจากมีทีมจัดส่งอาหารของตัวเองแล้ว เอสแอนด์พียังได้ร่วมกับ พาร์ทเนอร์ ผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร ขยายพื้นที่บริการส่งให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งหากรวมทั้งการจัดส่งของบริษัทเอง และพันธมิตร จะทำให้เอสแอนด์ มีจุดบริการส่งครอบคลุมถึง 300 แห่งทั่วประเทศ

590027

การรุกธุรกิจเดลิเวอรี และเทคอะเวย์ ยังรวมถึงกลุ่มลูกค้าองค์กร ที่บริษัทจะให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยเห็นโอกาสการเติบโตในช่วงโควิด ที่ส่งอานิสงส์ให้มีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และใช้บริการจัดส่งมากขึ้น เห็นได้จากมูลค่าตลาดธุรกิจฟู้ดเลิเวอรี ที่สูงถึงกว่า 7.5 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การเติบโตของฟู้ดเดลิเวอรี ยังสะท้อนได้จากยอดขายจากบริการเดลิเวอรีของบริษัท ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน รายได้จากเดลิเวอรี คิดเป็นสัดส่วนยอดขาย 15% ของรายได้รวมบริษัท และคาดว่าสิ้นปีนี้ เป้าหมายยอดขายเดลิเวอรี 1,000 ล้านบาท เป็นไปได้แน่นอน

กลยุทธ์และแผนงานดังกล่าว ถือเป็นการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหาร ยุคโควิด-19 ที่เห็นผลได้ โดยเอสแอนด์พี วางเป้าหมายว่า ในปี 2565 จะสามารถฟื้นรายได้ขึ้นไปถึง 7,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ในช่วงก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ได้

นายอรรถ ปิดท้ายว่า บทเรียนจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เราควบคุมค่าใช้จ่ายทุกด้าน ส่งผลให้ยังคงมีผลกำไรตามเป้าหมาย ดังนั้นจึงเชื่อว่า ในปีนี้จะสามารถกลับไปสู่รายได้หลัก 7,000 ล้านบาทได้แน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo