CEO INSIGHT

‘บัญญัติ 10 ประการ’ สู้โควิด จาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ถึง ‘บิ๊กตู่’

วิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติ ส่งผลให้เกิดความพยายามในทุกภาคส่วนที่จะร่วมกันช่วยเหลือเพื่อให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)เป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ ที่ขอนำเสนอบัญญัติ 10 ประการ ผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า

เศรษฐา ทวีสิน

วิกฤติที่เกิดจากเชื้อโควิด-19 ครั้งนี้นับเป็นวิกฤติสังคมและเศรษฐกิจที่ผมคิดว่ารุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก เป็นความท้าทายอันหนักหน่วงของท่านนายกรัฐมนตรีและทีมงานซึ่งมองผ่านเลนส์คนทำธุรกิจ

ผมเห็นด้วยกับแนวทางการรับมือในช่วงที่ผ่านมา โดยสามารถตัดสินใจได้ค่อนข้างเฉียบขาดและดำเนินมาตรการที่ แรง และ เร็ว เปรียบเหมือนฉีดยารักษาโรคให้แรงไว้ก่อน จัดการอาการป่วยหนักให้หาย จะมีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ เราค่อยมารักษากันภายหลัง

พอได้เห็นมาตรการเหล่านี้เริ่มส่งผลในทางที่ดี ผมจึงตั้งใจเขียนจดหมายเปิดผนึกนี้ถึงท่านนายกฯ เพื่อนำเสนอ “วัคซีนสูตรที่สอง” ที่จะช่วยเสริมความเร็วและความแรงเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจอันยวบยาบในระยะสั้นและกลางดังรายละเอียดต่อไปนี้

1. การลดภาษี มาตรการที่จะใส่เงินเข้ามือประชาชนตรงที่สุดคือ การลดภาษีบุคคลธรรมดาที่นอกจากเพิ่มกำลังซื้อแล้ว ยังเพิ่มแรงจูงใจให้คนทำงานมากขึ้นเป็นการเพิ่ม productivity อีกทางหนึ่ง ซึ่งเมื่อมีเงินก็มีการจับจ่ายใช้สอยส่งผลให้สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ  (multiplier effect) ให้เกิดการบริโภค การผลิต การจ้างงาน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งเรื่องลดภาษีนี้รัฐบาลเคยพูดไว้ตอนหาเสียง ควรต้องเร่งให้เร็ว อย่ารอช้า

สินค้าเกษตร 1

2. ภาคการเกษตร ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงและนับเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อประเทศ ถ้ากลุ่มคนรากหญ้าที่เป็นสันหลังของเศรษฐกิจเหล่านี้อยู่ไม่ได้ เราทุกคนก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นควรมีมาตรการช่วยประกันราคาพืชผลให้เกษตรกร โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ที่มีผลผลิตสูงสุด 5 อันดับ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และอ้อย

รัฐบาลต้องรับภาระตรงนี้ไปก่อนอย่างน้อย 2 ปี ยกตัวอย่างมันสำปะหลังที่ตลาดกำลังชะงัก ราคาหัวมันกิโลกรัมละ 7 บาท เพิ่มให้เท่ากับปีสองปีก่อนที่กิโลกรัมละเกิน 2 บาทเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กลับไปสร้างผลิตผลทางการเกษตรแทนที่จะรอเงินช่วยเหลืออย่างเดียว

3. การท่องเที่ยว หนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุดควรจะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ควรต้องประสานกันให้ดี ทันทีที่ทางสาธารณสุขส่งสัญญาณว่าสามารถผ่อนคลายได้ อย่างแรกที่ต้องทำเลยก็คือ ต้องเพิ่มการหักลดหย่อนภาษีสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศ และขยายเวลาให้สามารถลดหย่อนต่อเนื่องไป 3 ปี ไม่ใช่แค่เป็นช่วงสั้นๆ ตามเทศกาลเท่านั้น ทำแบบนี้ภาคธุรกิจก็จะสามารถวางแผนการปรับตัวได้อย่างมั่นใจตามโรดแม็ปที่รัฐบาลบอกเอาไว้

fig 10 05 2019 04 49 59

4. รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจและดึงนักท่องเที่ยวกลับมา โดยใช้จุดเด่นด้านสาธารณสุขไทยที่พิสูจน์แล้วว่า ค่อนข้างมีประสิทธิภาพที่ดี และได้รับการยอมรับไปทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญ จีน หรือ อินเดีย เราต้องเร่งพิจารณามาตรการยกเว้นการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยเพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้กลับมา อย่างไรเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจการจ้างงานที่จะเกิดขึ้น และ multiplier effect ที่จะตามมาต้องมากกว่าประเด็นรายได้จากค่า visa fee ที่จะเสียไปแน่นอน ต้องมองให้ขาดและก้าวข้ามให้ได้

นำเสนอมาถึงตรงนี้จะไม่พูดถึงอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ก็คงไม่ได้ ซึ่งผมต้องออกตัวก่อนว่าไม่ได้ต้องการสร้างประเด็นเพื่อประโยชน์กับกลุ่มธุรกิจนี้แต่อย่างใด แต่ไม่มีใครปฏิเสธว่าอสังหาฯ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณได้สูงมากอุตสาหกรรมหนึ่ง เนื่องจากเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการจัดซื้อและจัดจ้างในหลายภาคตามมาไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงอุตสาหกรรมบริการ ฯลฯ

ดังนั้นมาตรการภาษีและดอกเบี้ยต่างๆ ที่เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขาย อสังหาฯ รัฐบาลต้องมองให้ทะลุ ต้องให้แน่ใจว่าประโยชน์ของมาตรการเหล่านั้นได้ประโยชน์จริงกับผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นการซื้อ ซึ่งผมมีข้อเสนอเพิ่มเติมต่อจากด้านบนดังนี้

fig 22 05 2020 11 39 46 e1590147764778

5. พิจารณาลดหย่อนภาษีให้กับคนซื้อบ้านหลังแรกเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันให้ที่ 2 แสนบาทในปีที่โอนกรรมสิทธิ์ปีเดียว ให้เพิ่มไปได้สูงสุด 1 – 3 ล้านบาทเป็นไปได้หรือไม่ เพราะจำนวนเงินสุทธิที่เข้ากระเป๋าของผู้บริโภคแท้ที่จริงแล้วขึ้นกับอัตราภาษีเงินได้ของเขาในปีนั้น ลดหย่อนรายจ่ายซื้อที่อยู่อาศัย 2 แสนบาท จำนวนเงินที่เข้ากระเป๋าผู้บริโภคจริงๆ จะน้อยมาก เทียบเท่ากับ 2 แสนบาทคูณด้วยอัตราภาษี ยกตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อบ้านเสียภาษีเงินได้อยู่ในอัตรา 10% จำนวนเงินที่เขาจะได้รับประโยชน์คือ 20,000 บาท (200,000 x 10%) ซึ่งน้อยมากไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะจูงใจให้เกิดการซื้อได้

6. เพิ่มการลดหย่อนเงินประกันสินเชื่อบ้าน เพราะการประกันสินเชื่อบ้าน หรือ ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) เป็นการทำประกันชีวิตประเภทหนึ่งที่มีจุดประสงค์อยู่ที่การประกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ โดยให้คุ้มครองสินเชื่อของผู้กู้ ซึ่งในกรณีนี้ คือ สินเชื่อบ้าน ทำให้แม้ว่าจะเกิดเหตุต่อชีวิตผู้กู้ก็ไม่กระทบต่อการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน เพราะบริษัทรับประกันจะทำหน้าที่ผ่อนชำระหนี้แทนผู้กู้เอง ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น ลดปัญหาเรื่องซื้อ โอนไม่ได้เพราะกู้ไม่ผ่านลง ช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจได้ว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้นเขาจะไม่สูญเสียบ้านซึ่งเป็นหลักประกัน และช่วยผู้ให้กู้ให้ได้รับเงินคืนหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

รัฐบาลน่าจะยื่นมือเข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนนี้ แต่ถ้าหากเป็นการลดหย่อนดอกเบี้ย ลดค่าธรรมเนียมการโอน หรือค่าธรรมเนียมการจดจำนอง เรื่องพวกนี้ไม่จำเป็นเพราะผู้ประกอบการได้เตรียมเอามาจัดเข้าไปเป็นโปรโมชันให้ลูกค้าอยู่แล้ว กลายเป็นว่ารัฐไปช่วยผู้ประกอบการให้ประหยัดงบส่งเสริมการขาย ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ซื้อ

บ้าน เงิน133631

7. ยกเลิกมาตรการ LTV เพราะการผ่อนคลายจะไม่พอ สถานการณ์ตลาดตอนนี้ไม่มีใครเก็งกำไรแล้วและคงไม่ใช่สภาวะที่อสังหาริมทรัพย์จะทำให้ฟองสบู่แตกได้อย่างที่กังวล ผมต้องเรียนว่าผลกระทบของการที่จะสกัดการเก็งกำไรหรืออุปสงค์เทียม เสียหายลามมาถึงกลุ่มความต้องการซื้ออยู่เอง โดยเฉพาะคนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ตามความจำเป็นของสภาวะที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในวงกว้าง ซึ่งเริ่มที่จะมีสัญญาณที่ไม่ดีตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตินี้ด้วยซ้ำไป

8. มาตรการการเงินการคลังที่ผ่อนคลายแบบไม่เคยมีมาก่อน แม้ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยมาต่อเนื่องจนบอกว่าเป็น historical low แต่สุดท้ายจะยังไม่พอสำหรับสถานการณ์ที่ไม่ปกติขนาดนี้ เงินฝากของเศรษฐีที่ถูกเก็บอยู่ในธนาคารต้องนำกลับออกมาเพื่อหมุนเวียนในระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และเช่นกัน multiplier effect ที่จะตามมา ต้องคิดว่าเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อวิกฤติจบไป ดังนั้น ผมหวังว่าจะได้เห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปอีกในการประชุม กนง. ครั้งต่อไปเพื่อเป็นการช่วยธุรกิจทุกภาคส่วน และครัวเรือนที่เป็นหนี้อยู่ด้วย

9. โจทย์ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งตอนนี้คือทำอย่างไรให้มีการเลิกจ้างงานน้อยที่สุด ตอนนี้การถูกเลิกจ้างงานน่าจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับทุกคน เพราะตลาดแรงงานไทยมีการจ้างงานนอกระบบและในกลุ่ม SMEs สูงมาก ซึ่งกลุ่มนี้มีความเปราะบางต่อการถูกเลิกจ้าง อย่าลืมว่าเรายังไม่ได้พูดถึงกลุ่มนักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกว่า 300,000 – 400,000 คน พวกเค้าจะหางานทำที่ไหนในสภาวะแบบนี้

แรงงาน1612

ดังนั้นท่านนายกฯ ต้องเรียกเจ้าของธุรกิจและเจ้าของกิจการอันดับต้นๆ ของประเทศเพื่อมาชี้แจงถึงความจำเป็นในการคงการจ้างงานและห้ามเลิกจ้างโดยเด็ดขาด ถือเป็นหน้าที่ของภาคธุรกิจที่จะต้องช่วยทำหน้าที่ประคองตลาดแรงงานไปด้วยกันทุกคน

นอกจากนี้รัฐบาลสามารถช่วยสร้างความเชื่อมั่นและรับมือกับปัญหาว่างงานที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วยการสั่งหน่วยงานราชการจ้างคนเพิ่มให้มากที่สุดก็เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นประจำหรือชั่วคราว เช่น หน่วยงานสาธารณสุขหรือตำรวจ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นมากขึ้นในยุควิกฤตินี้ ซึ่งถ้าเราแก้ปัญหาการเลิกจ้างไม่ได้ จะเป็นการซ้ำเติมสภาวะเศรษฐกิจและสังคมให้แย่ไปกว่านี้อีก

ถึงเวลาแล้วที่เราจะให้ความสําคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าเสถียรภาพทางการเงิน ผมจึงขอเสนอให้ทางหน่วยงานภาครัฐ “do whatever it takes” หรือ “จัดเต็มให้เร็วและแรง” เพื่อสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ ผ่านการกระตุ้นปัจจัยทางอุปสงค์เพื่อให้เกิดกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมต่อเนื่องทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การจ้างงานหรือการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้ลูกจ้างเกิดรายได้มากขึ้น เป็นวงจรไปเรื่อยๆ ซึ่งผมมองว่าสามารถทำได้หลายภาคส่วนดังที่กล่าวไปข้างต้น

10. ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความสามารถในการรับมือกับปัญหา และคว้าเอาโอกาสที่ผ่านเข้ามาให้ทันท่วงที มีความสำคัญและเป็นปัจจัยในการอยู่รอดของธุรกิจน่าจะต้องทำ อะไรที่มีกระบวนการและขั้นตอนมาก ใช้เวลานานจนในบางครั้งอาจทำให้พลาดโอกาสสำคัญๆ หรือเลวร้ายไปกว่านั้น คือ ไปไม่รอดไปเลย

หุ้น1288 e1568360243475

อย่างเรื่องกระบวนการเพิ่มทุนออกหุ้นใหม่ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคต่อการจัดการเพราะขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก และใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 45 ถึง 60 วัน ซึ่งอาจทำให้กิจการพลาดโอกาสดีๆ ไป

สำหรับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่อะไรก็เกิดขึ้นได้ ในความเห็นของผม ฝ่ายจัดการควรมีเครื่องมือหรืออำนาจที่จะตอบรับกับโอกาสดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที ตัวอย่างเช่น กำหนดไปเลยว่า ภายในกรอบราคาหุ้นนี้ และสัดส่วนการถือหุ้นที่จะออกเท่านี้ ให้เป็นอำนาจตามกฏหมายของคณะกรรมการบริษัทที่สามารถดำเนินการไปได้เองโดยไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขออนุมัติ เพียงรายงานให้ผู้ถือหุ้นทราบก็เพียงพอ เพื่อที่ฝ่ายจัดการจะได้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะจัดการในเรื่องโครงสร้างทุนของกิจการได้ในกรอบประมาณหนึ่ง

เรื่องนี้ฟังดูแล้วอาจจะขัดกับความรู้สึก หรือตรรกะที่เราเคยเรียนมา แต่ผมเชื่อว่าในเรื่องนี้ มีจุดที่สมดุลที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้กับทั้งตัวกิจการ และผู้ถือหุ้นของบริษัท และเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อความคล่องตัวในการบริหารเงินทุนกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

บัญญัติ 10 ประการที่ผมชี้แจงไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดที่น่าจะช่วยเสริมแนวทางของรัฐบาลปัจจุบันที่ใช้กระสุนที่มีให้ หนัก แรง และเร็ว ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาอีกครั้ง ซึ่งถ้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจกลับมาเร็วเท่าไหร่ก็จะทำให้ภาครัฐกลับมามีรายได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นจะช่วยมีการจ้างงาน และประชาชนมีรายได้ครับ

Avatar photo