CEO INSIGHT

เปิดแนวคิดครีเอทีฟบัดดี้เมื่อ ‘นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว’ ขอทำ ‘จริงใจมาร์เก็ตติ้ง’

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว
นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว

สำหรับใครที่ชื่นชอบคลิปชวนฮาของโน้ส – อุดม กับการนำเสนอยาสีฟันยี่ห้อเวลเดนท์จนมียอดการรับชมบน YouTube ไปแล้วกว่า 2.6 ล้านครั้งในชั่วระยะเวลาไม่ถึง 10 วันนั้น ทีมงาน The Bangkok Insight จะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักอีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์คลิปดังกล่าวก็คือ “กอล์ฟ – นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว” ครีเอทีฟแถวหน้าของเมืองไทย โดยในวันนี้เขาจะมาแบ่งปันประสบการณ์เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเส้นทางใหม่ที่เขาเลือกแล้วว่าอยากเป็น “ครีเอทีฟ บัดดี้”โดยประสบการณ์กว่า 10 ปีของนันทวัฒน์เริ่มต้นขึ้นที่ซาทชิ แอนด์ซาทชิ (Saatchi & Saatchi) เมื่อปี 2545 ที่เขายอมรับว่าในช่วงต้น ๆ นั้นมีความสุขมากกับการทำในสิ่งที่เชื่อผ่านการสร้างชิ้นงานต่าง ๆ และชิ้นงานเหล่านั้นก็ได้พิสูจน์ว่ามันเวิร์ก เมื่อเขาสามารถคว้ารางวัลโกลด์คานส์กลับมาฝากประเทศไทยได้หลายครั้ง แต่เมื่อเติบโตมาถึงจุดหนึ่ง เขาก็พบว่ามันมีจุดเปลี่ยนบางอย่างเกิดขึ้นกับชีวิต นั่นคือ ไม่สามารถมีความสุขกับงานได้อีกต่อไป 

“สำหรับผม ถ้าสิ่งที่เราเชื่อ เราพูด เราทำเป็นอันเดียวกัน คุณจะมีพลังทั้งวันเลย ผมเป็นอย่างนี้ตอนต้น ๆ ของการทำงานที่เมืองไทย มันไม่ใช่งานด่วนเหมือนงานไมโครเวฟ แล้วต้องรีบเสิร์ฟ เราก็ทำในสิ่งที่เชื่อ แล้วก็โชคดีที่ได้รางวัล อยู่ในวงจรนั้นผมมีความสุขมาก ผมตัดสินใจไปเมืองนอก อยากไปเรียนรู้สังคมใหม่ ๆ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เราเริ่มรู้สึกว่าเราขายวิญญาณ ตอนนั้นตำแหน่งใหญ่ เงินเดือนเยอะแล้ว แต่รู้สึกว่าเราพูดแล้วเราทำไม่ได้ เราพูดว่าแบรนด์ดิ้งต้องเป็นอย่างโน้นอย่างนี้แต่เราขายลูกค้าไม่ผ่าน เราต้องทำสิ่งที่ลูกค้าบอกให้เราทำ มันก็เลยไม่ใช่สิ่งที่เราภูมิใจ”

“บางครั้งแอคเคาน์ยาก ๆ มักจะเป็นแอคเคาน์ระดับ regional ที่มีสูตรสำเร็จมาจากบริษัทแม่แล้ว เราก็แค่ทำแบบนั้นในเวอร์ชันภาษาไทยออกมา แม้ว่าไอเดียนั้นจะไม่เหมาะกับเมืองไทยก็ตาม ครีเอทีฟก็พยายามจะทำในข้อจำกัดนั้นให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายมันก็เหมือนกับเสียเวลา 6 เดือนเพื่อจะคลอดหนังที่มันอาจจะสร้างยอดขายได้นะ แต่ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ ไม่ได้สร้างรางวัลให้กับผู้บริโภค พอทำแบบนี้พลังมันหายไปเรื่อย ๆ เราส่องกระจกแล้วไม่ภูมิใจแล้ว”

“พอมีลูก เราก็เลยเกิดคำถามว่าลูกอยากมีพ่อแบบไหน ระหว่างพ่อที่มีความเครียดกับงาน แต่ได้เงินเยอะ มั่นคงแน่นอน กับพ่อที่ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ตอนนั้นผมคิดว่ามันมีแค่ A กับ B แล้วผมก็ตัดสินใจเลือก B คิดแทนลูกว่าลูกน่าจะอยากได้พ่อที่แฮปปี้มากกว่า พอมาตอนนี้ ผมพบว่า สิ่งที่เคยคิดไว้ ว่าถ้าต้องเลือกระหว่างเงินกับความฝัน แล้วพอเราเลือกความฝันโดยคิดว่าจะได้เงินน้อยลงนั้น ไม่จริงเสมอไป เพราะผมพบว่า มันมีเรื่องมหัศจรรย์เกิดขึ้นอีกเยอะมาก งานมันสนุกกว่าเดิมร้อยเท่า แต่เงินมันก็ไม่น้อยนะ แล้วพอเราทำสิ่งที่เราเชื่อว่า อยากให้ลูกค้าได้ประโยชน์ ลูกค้าก็อยากให้เงินเรา แถมเขายังไปบอกเพื่อน ๆ ต่อให้อีกด้วย”

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว
ซีอีโอแห่งนวิน คอนซัลแทนต์

นั่นคือที่มาของบทบาทในปัจจุบันของ นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว กับการบอกใคร ๆ ว่าเขาคือ “ครีเอทีฟ บัดดี้” และเป็นซีอีโอของบริษัท นวิน คอนซัลแทนต์ (ตั้งจากชื่อลูกชายของเขาเอง) ที่พร้อมจะลงมาช่วยแก้ปัญหาของลูกค้าโดยใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” เป็นต้นทุน

“การทำงานของเรา ครั้งแรกที่เจอลูกค้า ผมจะแปลงร่างเป็นพี่ดู๋ สัญญาเลย จะตะลุยถามไปจนถึงแพสชั่น ซึ่งผมพบว่า บางที แพสชั่นของเขาคือแบรนด์ไอเดียที่ดีมาก ๆ แล้วระหว่างคุย ถ้ามีไอเดียบางอย่างแว้บเข้ามา ผมจะไม่กั๊กไว้ ผมจะถามลูกค้าเลยว่าอันนี้ใช่ไหม ถ้าใช่ เขาชอบปุ๊บ ผมจะถามว่างั้นออนไลน์ฟิล์มน่าจะประมาณนี้ได้ไหม ถ้าใช่ ผมสามารถโทรหาผู้กำกับในบ่ายวันนั้นเลย ผู้กำกับบอกราคามาปุ๊บ ผมก็โทรหาลูกค้าเลยว่าราคานี้โอเคไหม ถ้าลูกค้าโอเค ผมก็จะแนะนำลูกค้ากับโปรดักชั่นเฮาส์ให้ไปคุยกันเองเลย การทำงานลักษณะนี้ เลยทำให้โปรเซสที่เล่ามามันจบใน 3 – 4 วัน ขณะที่ถ้าเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจจ๋า ๆ กระบวนการเหล่านี้อาจกินเวลา 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งบางทีมันไม่ทันการณ์”

โดยตอนนี้ นวิน คอนซัลแทนต์ ในมือของนันทวัฒน์ผ่านพ้นปีแรกของการดำเนินธุรกิจไปแล้วเรียบร้อย และก็เป็นปีที่เขาต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าที่แวะมาเยือนเป็นครั้งที่สองด้วย

“ปีแรกของนวินเหมือนปีของการปรับตัว ผมก็เหมือนผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่พอออกมาทำเอง ก็มักจะความฟู ความฟุ้ง ตามมาด้วย ปีแรกของผมจึงเป็นปีที่ผมพบว่า ไม่มีใครเป็นที่ปรึกษา หรือต้นแบบให้เราได้เลย และความที่เราอยากให้มันออกมาเจ๋งมาก ๆ เราก็กดดันตัวเอง จนทำให้โรคซึมเศร้ากลับมาเป็นรอบที่ 2 ซึ่งรอบนี้ตอนแรกผมโกรธนะที่กลับมาเป็นได้ไง แต่ตอนนี้ก็รู้สึกขอบคุณแทน เพราะเรามองเห็นแล้วว่ามันเป็นคำเตือนจากจิตวิญญาณที่บอกว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแปลงแล้วล่ะ”

ด้วยเหตุนี้ นันทวัฒน์จึงตัดสินใจถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าวออกมาเป็นหนังสือ “เมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์” ที่มีต้นฉบับดิจิทัลพร้อมแจกจ่ายฟรีให้กับทุกคนที่สนใจ รวมถึงทำแคมเปญบนเฟซบุ๊กของตัวเอง ที่เขาได้พบว่า มันได้รับความสนใจจากเพื่อนฝูงและกัลยาณมิตรมากกว่าที่คิด

“ผมเจอคนอาสาขอแปลให้เป็นภาษาอังฤษ เจอผู้กำกับที่บอกว่าพร้อมจะถ่ายวิดีโอให้ฟรี เพื่อนผมมีห้าง บอกว่าถ้ามีงานเปิดตัวหนังสือก็มาใช้สถานที่ได้ฟรีเลย มีถึงขั้นที่ว่าโรงพิมพ์ขอพิมพ์ให้ฟรีด้วย มันเป็นปรากฏการณ์ที่ดีมาก เป็น Crowd Funding ที่ไม่ต้องใช้เงินเลย”

เมื่อครีเอทีฟทำงานร่วมกับมือเดี่ยวไมโครโฟน

การใช้ความคิดสร้างสรรค์ของนวิน คอนซัลแทนต์ ยังได้นำเขาไปพบกับมือหนึ่งของวงการเดี่ยวไมโครโฟน อย่าง “โน้ส – อุดม แต้พานิช” และร่วมกันสร้างคลิปที่สามารถสร้างปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ตอนนี้ได้เป็นอย่างดีอย่างยาสีฟันเวลเดนท์ที่นันทวัฒน์เผยว่าเป็นอีกหนึ่งงานที่เขาภูมิใจ

“วันที่โยนไอเดียกัน มันก็ปลื้มนะ จากที่เราเคยได้ดูพี่โน้สในเดี่ยวฯ แต่นี่เราได้ระดมความคิดด้วยกัน เราก็บอกเขาว่า ถ้าความที่พี่โน้สเป็นเดี่ยวฯ ทำไมไม่จัดสแตนด์อัปคอมเมดี้ในซูเปอร์มาร์เก็ตเสียเลย แล้วก็เล่าสรรพคุณของยาสีฟันในวิธีที่พี่โน้สเป็น พี่โน้สบอกเออ ชอบ เอาอันนี้ แล้วพี่โน้สก็เล่นจริง ๆ มีปฏิสัมพันธ์จริง ๆ กับแฟนคลับ แล้วก็มีกล้องแอบถ่าย งานนี้กรูเม่ร์มาเก็ตก็เล่นด้วย คือในนั้นเราไม่ได้จัดฉาก ไม่ได้ปิดห้างแล้วก็เอาคนของเราลงไปเล่น แต่เราจัดกันตอน 10.00 – 12.00 น. ทำให้เราได้ภาพคนจริง ๆ งานที่ออกมาเลยเหมือนสตันท์ฟิล์ม”

“ที่ภูมิใจคือเราไม่มีผู้กำกับโฆษณา มีพี่โน้ส พี่แต้ (น้องชาย) แล้วก็ผม ช่วย ๆ กัน ต้องให้เครดิตคุณแต้ที่วางแผนดีมาก ๆ ทั้งการวางตำแหน่งกล้อง ฯลฯ เพราะเขาทำงานเดี่ยวฯ ส่วนพี่โน้สจะมีเซนต์ของความเป็นผู้กำกับ และความเป็นครีเอทีฟโฆษณาสูงมาก”

“มันก็เป็นกรณีศึกษาเหมือนกัน เพราะปกติแล้ว หนังโฆษณา คนดูจำ Brand Awareness ได้ก็โอเคแล้ว แต่นี่เราทำแล้วคนจำได้ถึงขั้น Attribute เลย คือจำได้ว่ามีสี กลิ่น รสอะไร ราคาเท่าไร จะว่าฮาร์ดเซลล์ก็ไม่เชิงเพราะมันเป็นเอนเทอร์เทนเมนต์คลิป มันมีฟุตเทจบางตอนที่ถ้าเป็นหนังโฆษณาผมควรเอาออก เพราะมันไม่เกี่ยวกับไอเดีย แต่พี่โน้สบอกว่าถ้าเราทำแล้วเหมือนโฆษณาคือเรามาผิดทาง แต่ถ้ามันดูแล้วไม่เหมือนโฆษณา คนจะสนใจ เราให้คนดูชอบก่อน เพราะถ้าคนดูชอบคอนเทนต์ คนดูจะชอบแบรนด์ จะจำแบรนด์ได้” นันทวัฒน์บอกเล่าประสบการณ์

นันทวัฒน์ ชัยพรแก้ว
เมื่อครีเอทีฟพบจิตแพทย์

ลุย “ฟรีแลนซ์ อะคาเดมี่” ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

การคร่ำหวอดในอุตสาหกรรมเอเจนซีมายาวนานยังทำให้นันทวัฒน์มองเห็นถึงจุดบางจุดที่ขาดหาย และเขาเห็นว่า หากไม่รีบเติมจุดนั้นเสียแต่วันนี้ จะเกิดปัญหาใหญ่ตามมาในอนาคต นั่นคือ เรื่องของการสร้างคน

“ทุกวันนี้ อุตสาหกรรมเอเจนซีทำให้เราพบ Pain Point สองจุด จุดแรกคือ มายเซ็ทของเด็กเปลี่ยนไปแล้ว เด็กอยากเป็นฟรีแลนซ์ แต่ระบบการศึกษาของไทยยังสอนให้เขาไปเป็นพนักงานประจำ กับจุดที่สองคือ เด็กยังไม่เจอว่าแท้จริงแล้วพวกเขาอยากเป็นอะไร นั่นจึงเป็นที่มาของฟรีแลนซ์ อะคาเดมี่ ที่เราอยากเปิด รับเด็กปี 3 คัดเฉพาะเด็กที่เกือบเก่ง แบ่งเป็นสองสาย คือศิลปะกับคอมเมอเชียล ซึ่งจะเชิญคนระดับท็อป ๆ ของประเทศมาสอน รวมถึงสอนด้วยว่า ถ้าเป็นฟรีแลนซ์แล้วต้องวางบิลอย่างไร ได้บรีฟมาแล้วต้องคิดกี่ออปชัน ทำภาษีอย่างไร เรียกว่าครบวงจร รวมถึงเปิดรับบุคคลทั่วไปด้วย ซึ่งค่าเรียนสำหรับนักศึกษาก็จะย่อมเยากว่าคนทำงาน”

นอกจากนี้ เขายังเตรียมสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมฟรีแลนซ์ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับธุรกิจที่มองหาฟรีแลนซ์คุณภาพ และคนที่ไม่อยากทำงานประจำได้มีช่องทางไว้ติดต่อลูกค้าเองอีกด้วย โดยทั้งหมดนี้ นันทวัฒน์เผยว่าจะได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในปีนี้แน่นอน

ก่อนจากกัน นันทวัฒน์ยังได้เล่าถึงอีกหนึ่งบทบาทที่เขาเป็นในเวลานี้ กับการเป็นวิทยากรให้กับสถาบันต่าง ๆ ที่เขาเองก็ชื่นชอบไม่แพ้การทำงานกับลูกค้า

“ผมชอบการแชร์สิ่งที่เรารู้ เราเคยทำงานตั้ง 7 ประเทศตลอด 9 ปี มันทำให้เรามีประสบการณ์หลากหลายว่าการทำตลาดยุโรป การทำตลาดเอเชียต่างกันอย่างไร และผมเชื่อว่า ถ้าเกิดผมไปพูดที่คลาสไหนก็ตาม ผมน่าจะเป็นคนหนึ่งที่กล้าเล่าความล้มเหลวตัวเองแบบไม่อายปาก ว่าผมทำแบบนี้แล้วล้มเหลวนะ ทำแบบนี้แล้วไม่เวิร์กนะ แต่สุดท้ายกลายเป็นว่า ผมได้ลูกค้ามาเพียบเลย ก็รู้สึกขอบคุณพระเจ้า ที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ มีเพื่อนที่ดี มีกัลยาณมิตรที่ดี และขอบคุณแม่ที่สวดมนต์ให้ผมทุกวันครับ”

Avatar photo