CEO INSIGHT

‘คู่มือโลกหลังโควิด’ แบบฉบับ ‘ธนา เธียรอัจฉริยะ’

ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง กูรูการตลาด ที่มีแนวคิดน่าสนใจ สำหรับ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” โดยเฉพาะบทความเรื่อง “คู่มือโลกหลังโควิด” ( Post covid handbook) ที่ธนา ถ่ายทอดความคิดลงบนเพจเฟซบุ๊ก “เขียนไว้ให้เธอ” ดังนี้

“เราคงคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าโลกหลังโควิดนั้นน่าจะมีคนจำนวนมากต้องถูกออกจากงานที่เคยมี ไม่ว่าจากสาเหตุที่เศรษฐกิจที่แย่ลง บริษัทห้างร้านปิดตัวไปเนื่องจากวิกฤติ โรงงานเริ่มใช้เครื่องจักรมากขึ้น และบริษัทที่ยังคงอยู่ก็จะต้องทำตัวผอมลงเพื่อให้อยู่รอด คนที่ถูกออกจากงานเหล่านี้ จำนวนไม่น้อยที่อาจจะมีอายุในวัยที่เริ่มต้นอะไรก็ยากมาก หรือแม้แต่ผู้ที่อยู่รอดจากภัยพิบัตินี้ที่เป็นธุรกิจขนาด SME จะใช้วิธีเดิม ทำแบบเดิมก็รู้แล้วว่าคงไม่ได้ กระบวนการที่จะเริ่มธุรกิจ เริ่มอาชีพใหม่นั้นควรจะเริ่มอย่างไรดี

ธนา เธียรอัจฉริยะ

นอกจากนั้น ภัยพิบัติโควิดครั้งนี้ ยังนำมาถึงกระบวนความคิดใหม่ๆที่ตั้งคำถามกับการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจแบบเดิม การสร้างความมั่งคั่งแบบทำงานหนักแทบตาย การแสวงหาความสำเร็จ ชื่อเสียง การสร้างอาณาจักรใหญ่ๆ กินรวบทุกอย่าง วิธีคิดเหล่านี้กำลังถูกท้าทายจากการเขย่าของโควิดอย่างมาก การใฝ่หาความสมดุลของชีวิต ความสุขในการทำงาน ความตระหนักว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน การที่ตัวเล็กและเบานั้นกลับกลายเป็นเรื่องดีเวลาพายุมา ฯลฯ กระบวนการคิดที่จะเริ่มอะไรใหม่ๆ มีจุดประสงค์ใหม่ก็มีคำถามอีกว่าจะเริ่มอย่างไรดีเช่นกัน

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเคยอ่านมาเมื่อหลายปีก่อน ในวันว่างๆเลยหยิบเอามาอ่านซ้ำอีก และรู้สึกได้ว่าเป็นหนังสือที่เมื่อมองผ่านบริบทในตอนนี้แล้ว เป็นเสมือนคู่มือที่ช่วยนำทางให้คิดใหม่ทำใหม่ในโลกหลังโควิดได้อย่างดีมากๆเล่มหนึ่งเลยทีเดียว

หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นที่บทนำไว้ว่า

“การคิดใหม่และกำหนดอนาคตใหม่ เราจำเป็นต้องละวางความล้มเหลว กระทั่งความสำเร็จในอดีต (abandonment) จำเป็นต้องสำรวจตัวตนของเราอย่างเคร่งครัด (soul searching) จำเป็นต้องฟังเสียงสะท้อนจากรอบด้าน (reflect) ค้นหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเอง (identity) สร้างความแข็งแกร่งขึ้นมาใหม่ให้ถูกตรงกับโลกที่เปลี่ยนไป (context) เราจำเป็นต้องหาที่ยืนให้ได้ที่หนึ่งที่ใดในโลกใบนี้ (differentiate) และเราจำเป็นที่จะต้องมีความมุ่งมั่น เพ่งความสนใจไปที่เป้าหมายหนึ่งใดโดยไม่ไขว้เขว (focus)

ทัศนคติ (attitude) ที่ถูกต้อง วิสัยทัศน์ (vision) ที่ชัดเจน การลงมือทำอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ผิดพลาดล้มเหลวก็ไม่ย่อท้อเปลี่ยนใจ ดังเช่นบทเพลงแห่งการเดินทัพทางไกล คือวิถีใหม่ที่จะพาเราไปสู่อนาคต

อนาคตที่กำหนดได้ แม้ในสถานการณ์เลวร้ายที่สุดของชีวิต…”

หนังสือเล่มนี้พาเราเดินทางตามบทนำนั้น โดยเริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักตัวเอง ผ่านคำสอนของปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์ด้านการจัดการแห่งยุคสมัย โดยบอกให้เรารู้จักประเมินตนเองเป็นระยะ ยอมรับกับตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่า อะไรที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จ อะไรที่ทำแล้วล้มเหลว อะไรที่เราทำได้ ทำไม่ได้

“เราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง เชี่ยวชาญทุกด้าน เราจึงควรใช้พลังงานไปกับด้านที่เราถนัด ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างผลงานที่เด่นชัดให้เราแล้ว ยังจะช่วยให้เรามีความสุขขณะทำงานด้วย เมื่อมีความสุข เราย่อมอดทนทำงานนั้นได้ยาวนานขึ้น แม้ยากลำบาก เราก็จะไม่ย่อท้อ

เมื่อยืนระยะทำงานที่รักได้นาน โอกาสที่จะโดดเด่นย่อมมีมากกว่าผู้อื่น

นี่คือหัวใจของกลยุทธ์แห่งการรู้จักตนเอง “

ธนา1

ในบทของ soul searching หนังสือได้พาย้อนไปถึงยุคสงครามใหญ่ของญี่ปุ่นในอดีต ที่ทำให้เกิดโรนินพเนจรหลายหมื่นคน เหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่เลิกกิจการแล้วผู้คนตกงานมากมาย โรนินต้องเอาตัวรอดด้วยการฝึกฝนประลอง และมีชีวิตเป็นเดิมพัน มิยาโมโต้ มุซาชิ กลายเป็นซามูไรที่โดดเด่นเป็นตำนานขึ้นมาจากยุคสมัยนั้น

“ แม้ไม่โหดร้ายเท่า แต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ทำให้เราทุกคนมีโอกาสตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับมุซาชิคือการเป็นซามูไรไร้สังกัด

ทุกคนจำเป็นต้องค้นหา สร้างตัวตน สร้างธุรกิจ สร้างชีวิต สร้างอนาคตขึ้นมาใหม่ เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุคแห่งความวุ่นวายโกลาหล และทุกคนมีโอกาสผิดพลาดล้มเหลวได้ตลอดเวลา การลุกขึ้นมาใหม่ให้ได้ทุกครั้งที่เกิดความผิดพลาด จะกลายเป็นทักษะสำคัญแห่งอนาคตอันไม่แน่นอนนับจากนี้…”

ในบทของ reinventing yourself การสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ หนังสือได้เล่าถึงความกล้าหาญของคนหนุ่มญี่ปุ่น 19 คน ที่ยอมรับว่าประเทศตัวเองล้าหลัง ยอมหลบหนีขึ้นเรือพร้อมโทษประหารเพื่อไปศึกษาวิทยาการใหม่และสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
“ เมื่อถูกอนาคตไล่ล่า จงอย่าเสียเวลากับการโหยหาอดีตอันยิ่งใหญ่ อย่างคร่ำครวญกับสงครามที่เพิ่งผ่านพ้นไป หากจงเร่งสร้างตนเองขึ้นมาใหม่ เพราะการสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่คือหัวใจของการสร้างอนาคต”

แล้วจะสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ได้อย่างไร หนังสือก็พาเรามาสู่บทที่ชื่อ “focus” มั่นในทิศทางของตัวเอง

“เลโอนาร์โด ดาวินชี เคยเขียนไว้ว่า เล็กๆที่แน่นอน ดีกว่าใหญ่ที่ไม่จริง ซึ่งเมื่อเทียบกับตำรากลยุทธ์ทุกยุคทุกสมัย ทุกตำราต่างกล่าวตรงกันว่า ให้ตัดเรื่องไม่จำเป็นออกไป และมุ่งความสนใจไปที่เรื่องหนึ่งเรื่องใด ดังแสงเลเซอร์ที่แทงทะลุเหล็กแผ่นใหญ่ดังหัวเจาะเพชรที่ทะลวงได้แม้ชั้นหิน

นี่คือหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ที่เรียกว่า focus “

หนังสือพาเราไปเยือนร้านชา ippudo ที่ตั้งมากว่าสามร้อยปี พาไปเข้าใจจิตวิญญาณของ studio ghibli ที่มีเป้าหมายชัดเจน ปณิธานที่เรียบง่ายแต่เปลี่ยนอุตสาหกรรมอนิเมชั่นญี่ปุ่นไปตลอดกาล แล้วนำเราเข้าสู่การสร้างสิ่งที่น่าจะสำคัญที่สุดของการอยู่รอดได้ในโลกที่วุ่นวายเช่นนี้ ก็คือการสร้างอัตลักษณ์ (identity)

หนังสือ 1

การสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น (identity) ที่จะทำให้เราอยู่รอดและแข็งแรงได้นั้นคืออะไร สำหรับ studio gibli นั้นก็คือ ความเข้าใจในมนุษย์ ทีทำให้หนังของ gibli เด่นออกมาจากหนังอนิเมชั่นทั่วไป หนังสือก็พาเราไปพบกับ paul smith ผู้มาทีหลังในวงการแฟชั่นยุโรปที่เต็มไปด้วยเทพแฟชั่นทั้งหลาย paul smith มาพร้อมกับแนวความคิด อัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ลดความเป็นทางการของสูทลง สร้างความสนุกสนานและปฏิเสธที่จะคุมขังอนาคตไว้กับความรุ่งเรืองในอดีต

“ พอลเคยบอกไว้เป็นหลักสำคัญในการทำงานว่า

1. จงเริ่มต้นอะไรใหม่

2. ใส่ใจกับความรื่นรมย์

3. การงานไม่ใช่เรื่องชั่วโมงสั้นหรือยาว แต่งานต้องทำทุกชั่วโมง

4. คุณไม่สามารถทำงานโดยไม่ลงมือทำได้

5. จงมองหาลู่ทางใหม่ๆที่จะแหกกฎเสมอ

เขาบอกว่า คุณไม่ได้หยุดทำงานเพราะแก่ แต่คุณแก่เพราะหยุดทำงาน

พอลเป็นเจ้าของสมญา classic with a twist ซึ่งช่วยขยับดีไซน์อังกฤษให้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยและความซ้ำซากจำเจ

นี่คือการสร้างดีเอ็นเอหรืออัตลักษณ์ใหม่”

ในระหว่างที่อ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็สลับดูสารคดีที่เคยดูเมื่อหลายปีก่อนที่ netflix เพิ่งเอามาใส่ เป็นสารคดี jiro dream of sushi ของปู่จิโร่ที่ปัจจุบันอายุเก้าสิบกว่าปีแล้ว ร้านซูชิเล็กๆที่มีที่นั่งแค่สิบที่ ได้มิชลินสตาร์ 3 ดาว โดยความหมายของมิชลินสามดาวก็คือว่า มีคุณค่าพอที่จะบินไปประเทศนั้นๆเพื่อเหตุผลที่จะได้กินร้านนี้เพียงอย่างเดียว

คุณปู่จิโร่เป็นผู้ที่เรียกได้ว่าหมกมุ่นทั้งชีวิตและจิตวิญญาณให้กับซูชิ พัฒนาเทคนิคต่างๆเพื่อไปสู่ขั้นสุดยอดทุกวัน เริ่มต้นแม้แต่ตอนที่ปู่หนุ่มๆ คนทำซูชิทุกคนบอกปู่ว่าซูชิพัฒนามาจนไปไหนต่อไม่ได้แล้ว ปู่ก็ไม่เชื่อ แต่ใส่ทั้งชีวิตเพื่อทำงานที่ตัวเองรักให้ดีที่สุดแม้แต่ในวัยเก้าสิบปี ปู่ก็ยังไม่คิดว่าดีที่สุดอยู่ดี

คุณยามาโมโต้ นักวิจารณ์อาหารชื่อดังสรุปถึงคุณลักษณะของปู่จิโร่ที่ทำให้ปู่จิโร่มีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นกว่าคนอื่นในโลกแห่งซูชิว่า ปู่จิโร่มี work ethic ที่สูงมาก พยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำงานให้ดีที่สุด มี self improvement ที่จะฝึกตัวเองให้เก่งขึ้นตลอด มีความสะอาด cleanliness ซึ่งเป็นหัวใจของร้านอาหาร มีความอดทนต่ำ impatience ที่จะไม่ยอมประนีประนอมถ้าตัวเองเชื่อแบบนั้น และมี passion ที่สูงมากๆที่จะหมกมุ่นและตกหลุมรักกับงานที่ตัวเองทำ …

การสร้างอัตลักษณ์ใหม่ของตัวเองดูจะมีทางอะไรบางอย่างที่พอลและปู่จิโร่สอนไว้อยู่จริงๆ

ในช่วงโควิดนี้ ธุรกิจใหญ่ๆที่มีสัมภาระเยอะ มีของต้องแบกไว้มาก กลับกลายเป็นภาระที่ทำให้ตัวเองไม่ยืดหยุ่น หลายธุรกิจอาจต้องล้มหายตายจากไปเพราะภาระที่หนักหน่วง หลังโควิด ธุรกิจเล็กแต่คล่องและมีอัตลักษณ์ของตัวเอง อาจจะกลายเป็นวิถีใหม่ที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ในกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้

“ขนาดที่เหมาะสมกับสภาพน่านน้ำใหม่ เป้นหัวใจสำคัญที่คนทำธุรกิจต้องขบคิด ในยุคที่กิจการก้าวหน้า กำไรเติบโต เรามักไม่ค่อยคำนึงถึงต้นทุนมากนัก แต่เมื่อรายได้ลดลง กำไรหดหาย ต้นทุนกลายมาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการประคองธุรกิจ

การปรับลดขนาดและหาความเหมาะสมใหม่ เป็นหัวใจของการเผชิญหน้าความจริง”

หนังสือพาไปแวะร้านบาแกตต์ที่หอมอร่อยที่สุดในปารีส บิ๊กไบค์ที่เยอรมัน พาไปดูการสร้างอัตลักษณ์ตัวเองเพื่ออนาคตของเมืองเล็กๆในแอนเวิร์ปที่เบลเยี่ยม

“ นี่คือลักษณะสำคัญของการจะทรงตัวอยู่ได้ในโลกสมัยใหม่ ไม่ว่าสินค้านั้นจะเป็นอะไร เล็กหรือใหญ่ ถ้านำพาตัวเองไปจนถึงจุดสูงสุดได้ สินค้านั้นจะมีที่ยืนเสมอ”

“ คุณจะเสนอสิ่งที่ดีที่สุดสิ่งใดในตัวคุณให้โลก อย่างน้อยก็โลกเล็กๆรอบๆตัวคุณ”

หนังสือสรุปไว้ท้ายเล่มว่า “ ในโลกสมัยใหม่ที่เทคโนโลยีก้าวหน้า และประชากรเชื่อมถึงกันอย่างไร้พรมแดน การเริ่มต้นธุรกิจขนาดเล็กไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ถ้าคุณมุ่งมั่นตั้งใจ และตอบตัวเองว่าคุณจะนำเสนอสิ่งใด

กาแฟที่ดีที่สุด
บาแกตต์ที่ดีที่สุด
ซูชิที่ดีที่สุด
ภาพเขียนที่ดีที่สุด
เสื้อผ้าที่ดีที่สุด
ร้านหนังสือที่ดีที่สุด
โรงเรียนที่ดีที่สุด
มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด
หรือวิวที่ดีที่สุด
ตามสูตรของคุณ”

ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความเพลิดเพลินราวกับว่าหนังสือเพิ่งเขียนมาเพื่อเป็นคู่มือใช้ชีวิตและทำธุรกิจหลังโควิดหายไป หนังสือเล่มนี้ถึงแม้จะเขียนมาหลายปีแล้ว แต่บริบทในตอนนี้ช่างน่าหยิบขึ้นมาอ่านใหม่หรือใครยังไม่เคยอ่านก็อยากแนะนำมากๆ

ถ้าพอมีเวลาจากการเต้น เจนนุ่นโบว์ เสพข่าวโควิด ทำกับข้าว เล่นเกมส์ บ่นโน่นนี่ในไลน์ ฯลฯ และพอเหลือเวลาอ่านหนังสือได้แค่เล่มเดียวในช่วงกักตัว ผมแนะนำหนังสือเล่มนี้ เป็น postcovid handbook ในความเห็นของผม

“ปัญญาอนาคต future โดยภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ของสำนักพิมพ์ openbooks ครับ”

ที่มา : https://web.facebook.com/101815121284197/photos/a.101865634612479/160363422096033/?type=3&theater

Avatar photo