CEO INSIGHT

เปิดวิสัยทัศน์ ‘นิตินัย’: ทอท. เปิดน่านฟ้าใหม่ รับมือ ‘ไฮสปีด’ ฆ่าสนามบิน 6 แห่ง (ตอนจบ)

บทสัมภาษณ์พิเศษ เปิดวิสัยทัศน์ “นิตินัย ศิริสมรรถการ” ตอนที่ 2 ได้พูดถึงการเปิดตัว S-Curve ลูกใหม่เพื่อช่วยค้ำยันธุรกิจของ “บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.” ในขณะคลื่นลูกที่ 1 กำลังอ่อนแรง โดยพระเอกของ S-Curve ลูกที่ 2 คือการกระโดดเข้าสู่เชิงพาณิชย์ โลกดิจิทัล และการค้าไร้พรมแดน ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจดั้งเดิม

แต่ S-Curve ลูกที่ 2 ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ ทอท.  เพราะ “กำพืดจริงๆ เราคือคนทำสนามบิน”

57122288 879543199043608 254471422104043520 n

เปิดห้วงอากาศซ้ายขวา

“นิตินัย” เล่าถึงสภาพธุรกิจในปัจจุบันว่า ทอท. เป็นรัฐวิสาหกิจที่บริหารสนามบินทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่, สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย

สนามบินทั้ง 6 แห่ง ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ Hub สนามบินที่มีเส้นทางหลากหลาย และเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง ได้แก่ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, สนามบินภูเก็ต และสนามบินเชียงใหม่ ส่วนประเภที่ 2 คือ Gateway สนามบินที่เป็นประตูสู่พื้นที่นั้นๆ แต่ไม่ได้มีเส้นทางบินที่หลากหลายและไม่ได้เป็นศูนย์การการเดินทาง ได้แก่ สนามบินหาดใหญ่ และสนามบินเชียงราย

สนามบิน ดอนเมือง 5

ปัญหาของ ทอท. คือ เรามีสนามบินที่เป็น Hub อยู่ใน 3 ภูมิภาค ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ แต่ไม่มี Hub อยู่ที่ภาคตะวันออกหรือตะวันตก เมื่อผู้โดยสารเดินทางจากต่างประเทศไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือภาคตะวันตก บางคนก็ต้องมาลงที่กรุงเทพฯ ก่อน แล้วต่อเครื่องบินไปอีสานหรือภาคตะวันตกอีกรอบ ซึ่งเป็นการบินตัดน่านฟ้าที่ไม่เหมาะสม ทำให้ห้วงอากาศเต็มเร็ว ขณะเดียวกันก็ทำให้ห้วงอากาศรอบกรุงเทพฯ แออัด เราจึงอยากได้ห้วงอากาศซ้ายขวา เพื่อให้เครื่องสามารถบินไปลงที่อีสานหรือภาคตะวันตกได้เลย

จากเหตุผลนี้ ทอท. จึงวางยุทธศาสตร์เรื่อง Hub ไว้ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ, ภาคใต้, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก และตะวันตก “อันนี้คือในอุดมคติ” 

วันนี้จึงมีการพูดถึงการเข้าบริหารสนามบินต่างๆ อีก 3 แห่ง สำหรับด้านตะวันออก ทอท. จะพูดคุยกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เรื่องการเข้าบริหาร “สนามบินอุดรธานี” ซึ่งเป็นประตูเชื่อม สปป.ลาว และเป็นน่านฟ้าตะวันออก ด้าน “สนามบินบุรีรัมย์” ก็เป็นน่านฟ้าทางภาคตะวันออกตอนใต้แห่งเดียวที่ไม่ชนกับสนามบินอุดรฯ  ด้านฝั่งตะวันตกก็คือ “สนามบินตาก”

fig 09 04 2019 15 06 50

“ไฮสปีด” ฆ่าสนามบิน

นอกจากเหตุผลเรื่องการใช้ห้วงอากาศอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว การปั้น Hub ใหม่ในฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกยังมีความสำคัญกับ ทอท. ในฐานะยุทธศาสตร์ที่ใช้รับมือโครงการรถไฟความเร็วสูง

“นิตินัย” ให้ความเห็นว่า สนามบินแบบ Gateway ที่ไม่ได้มีเส้นทางบินหลากหลาย ไม่ใช่ศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร เช่น เชียงรายและหาดใหญ่ มีแนวโน้มที่ “วันหนึ่งจะพังเพราะรถไฟความเร็วสูง” เพราะฉะนั้น Gateway เหล่านี้อาจจะต้องยุบตัวลงในอนาคต แตกต่างจากสนามบินที่เป็น Hub ซึ่งมีการเชื่อมต่อที่หลากหลาย จึงสามารถเติบโตไปพร้อมกับรถไฟความเร็วสูง

“สนามบินที่เป็น Gateway จะถูกรถไฟความเร็วสูงฆ่าหมด แต่สนามบินที่เป็น Hub จะถูกรถไฟความเร็วสูงสนับสนุน นี่จึงเป็น S-Curve ลูกสุดท้ายของ ทอท. ที่จะต้องทำตั้งแต่วันนี้”

fig 03 04 2019 13 36 55

นอกจากการรับโอน และเข้าบริหารสนามบินใหม่ๆ แล้ว ทอท. ก็กำลังรีดไขมันเพื่อทำให้องค์กรมีความยืดหยุ่น เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงได้แตกไลน์งานบางอย่างออกมาตั้งเป็นบริษัทลูก เช่น บริษัทรักษาความปลอดภัย (รปภ.) เพื่อให้การรักษาความปลอดภัยในสนามบินมีมาตรฐานดีขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาไปเป็นธุรกิจเสริมในอนาคตได้อีกด้วย

“ผมไม่ทราบว่าจะเห็นภาพทั้งหมดนี้ในอีกกี่ปี เพราะผมก็มีสัญญาเหลืออยู่ 3 ปี แต่เราก็อยากตอกเสาเข็มให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งการบริหารอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้อยู่ในยุคผมแล้ว แต่ถ้าไม่มีเสาเข็มอันนี้ เขาก็ขึ้นโครงไม่ได้ ผมออกไป แล้วหันมา ก็รู้แก่ใจว่ามันพังในมือผมอยู่ เพียงแต่ตอนนั้นมองไม่เห็นมือผมเท่านั้น”

Avatar photo