CEO INSIGHT

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ย้ำชัดเลิกโตแบบล่าตัวเลข ‘GDP-FDI’

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ระบุชัดประเทศไทย จะโตแบบเดิมๆไม่ได้ เลิกโตแบบล่าตัวเลข GDP-FDI ต้องหารูปแบบการเติบโต ที่เป็นแนวที่ใหม่ ที่ต่างไปจากที่เคยโตมา ย้ำต้องสร้างท้องถิ่นเข้มแข็งเป็นสากลแข่งกับโลก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ท้องถิ่นที่สากล: อนาคตประเทศไทย Globally Competitive Localism: Future of Thailand” ภายในงานเสวนา “Big Heart Big Impact สร้างโอกาสคนตัวเล็ก…Power of Partnership จับมือไว้ ไปด้วยกัน” ที่จัดโดยสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เนื่องในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 14 โดยผู้ว่าแบงก์ชาติระบุว่า “ประเทศไทยจะโตแบบเดิมๆไม่ได้ ต้องหารูปแบบของการเติบโตที่เป็นแนวที่ใหม่ ที่ต่างไปจากที่เคยโตมา” มีอย่างน้อย 3 เกร็ดที่สะท้อนว่าจะไปแบบเดิมๆไม่ค่อยได้

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ประเทศไทยจะโตแบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องหารูปแบบของการเติบโต ที่เป็นแนวที่ใหม่ ต่างไปจากที่เคยโตมา

3 เรื่องบ่งชี้โตแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว! 

อย่างแรก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การเติบโตในแง่ GDP ไม่ได้สะท้อนไปสู่เรื่องของความมั่งคั่ง หรือรายได้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร Nonominal GDP (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน ) รวมเงินเฟ้อ โต 100 มาเป็น 180 แต่รายได้ครัวเรือนที่โตมาในช่วงนั้นไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ตามหลังพอสมควร

“เราก็ทราบกันดีว่าอัตราการเติบโตของของเศรษฐกิจโดยรวม GDP ถ้ามองไปข้างหน้า มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง จากปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรต่างๆ ที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของโครงสร้างประชากร ยิ่งสําคัญว่าการเติบโต สะท้อนไปสู่รายได้ของครัวเรือน ความมั่งคั่ง ชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม ที่เราเห็นที่ผ่านมา ไปเน้นตัวเลข GDP ที่มันโต ไม่ได้หมายความว่า รายได้เพิ่มขึ้น แต่เหตุผลจริงๆ ที่เราแคร์เรื่องพวกนี้ ที่เรื่องไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ หรืออะไรต่างๆ มันไม่ใช่แคร์ด้วยตัวเลขของตัวมันเอง แต่เราแคร์เพราะว่ามันจะนําไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

อย่างที่สองที่สะท้อน คือ นอกจากมุมมองของรายได้ครัวเรือนแล้ว ถ้าดูในแง่มุมของธุรกิจเช่นเดียวกัน มีการกระจุกตัวค่อนข้างสูง จากข้อมูลสัดส่วนของรายได้ธุรกิจ พบว่าธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีสัดส่วน 5% ของธุรกิจทั้งหมด มีสัดส่วนของรายได้สูงถึง 89 หรือเกือบ 90% และสัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นมา ในช่วงเวลาก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 84-85% จึงเห็นการกระจุกตัวของรายได้ธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมา และก็เห็นว่าคนตัวเล็กหรือตัวที่เกิดใหม่ ธุรกิจที่มีอายุน้อย ที่อายุน้อยกว่า 5 ปี ช่วงหลังมีอัตราการตายจาก(exit) เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนว่าในแง่ของธุรกิจเรื่องเกี่ยวกับ พลวัต(dynamicisms) ในประเทศเริ่มที่จะลดลง การกระจุกตัวสูงขึ้น

อย่างที่สาม ที่สะท้อนว่า บริบทโลกเปลี่ยนไปและอานิสงส์ที่ไทยอาจจะได้รับจะไม่เหมือนเดิม  คือความสามารถของเราที่จะพึ่งตัวที่เราเคยขับเคลื่อนอย่างดี อย่างเรื่อง การลงทุนต่างประเทศ หรือ FDI ที่เข้ามาในไทย เราจะพึ่งอย่างเดิมไม่ได้

ตัวเลขส่วนแบ่งตลาด (market share) ของไทยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของ FDI  ย้อนกลับไปถึงปี 2548 จะเห็นว่าส่วนแบ่งตลาดของไทยในโลกอยู่ที่ 0.57% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนแบ่งตลาดน้อยมากแทบจะเป็นศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย กัมพูชา แต่เวลาผ่านไปล่าสุดปี 2565 สิ่งที่เห็นคือ ส่วนแบ่งของไทยค่อนข้างทรงตัว แต่ประเทศอื่นพุ่งขึ้น และช่วงหลัง ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซียมาแรง สัดส่วนมาร์เก็ตแชร์เพิ่มสูงขึ้น เห็นได้ชัด

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ดร.เศรษฐพุทธิ กล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าเราไม่ควรที่จะไปดึงดูดการลงทุน FDI และขอย้ำว่าการดึงดูดการลงทุนต่างประเทศเป็นเรื่องสําคัญ เพราะเป็นตัวที่จะนําไปสู่เรื่องของนวัตกรรมใหม่ ประสิทธิภาพที่จะเพิ่มขึ้น แต่สะท้อนว่าเราจะทําแบบเดิมไม่ได้ คือสมัยก่อนเหมือนกับเรามีเสน่ห์ อยู่เฉย ๆ ก็วิ่งมาหาเรา แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เราต้องปรับตัว ต้องออกแรงมากขึ้น แล้วระหว่างนี้ก็สะท้อนด้วยว่า เราจะไปพึ่งต่างชาติไม่ได้เหมือนเดิม หมายความว่าเราจําเป็น มีความจําเป็นที่ต้องพึ่ง ความเข้มแข็งภายในของเรามากขึ้น

เลิกโตแบบล่าตัวเลข GDP-FDI ต้องเน้นท้องถิ่น

ดร.เศรษฐพุทธิ กล่าวว่าถ้าโตแบบเดิมไม่ได้ แล้วจะโตอย่างไร สิ่งหนึ่งที่อาจจะเห็นจากภาพที่จะพยายามใช้มาเป็นเกร็ด สะท้อนว่า “เราไม่ควรโตแบบแบบล่าตัวเลขอย่างเดียว ล่าตัวเลข GDP ล่าตัวเลข FDI การลงทุนอะไรต่างๆ เพราะท้ายสุดสิ่งที่เราแคร์ คือเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ของคน แล้วเราก็เห็นว่า การเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่ได้สะท้อนนําไปสู่เรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การดู FDI การลงทุนจากต่างประเทศ  ไม่ควรดูแค่ตัวเลข เพราะอาจจะไม่ได้มาแรงเหมือนสมัยก่อน แต่ต้องดูว่าประเทศได้ประโยชน์จากเรื่องการลงทุน ว่าสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้แค่ไหน ต้องดูให้มั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้น่าไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

“ถ้าจะล่าตัวเลข ตัวเลขที่ควรล่าไม่ใช่ตัวเลขพวกนั้น แต่ควรล่าตัวเลขที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราย ได้คน ความมั่งคั่งของคน หรือที่สำคัญก็ตัวเลขอื่นๆ ที่สะท้อนคุณภาพของชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องสาธารณสุข เรื่องการศึกษา เรื่องโอกาสอะไรต่างๆ” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวและว่าทราบดีว่าการล่าตัวเลข ตัวเลขก็ไม่สวยเหมือนสมัยก่อน ที่ผ่านมาไม่ได้ส่งอานิสงส์ต่อสิ่งที่เราแคร์จริงเท่าที่ควร เราก็เห็นการเติบโดที่พูดง่ายๆ คือ กระจุกอยู่ไม่กี่ที่ มันไม่ยั่งยืน เราต้องหาวิธีที่จะโต ที่จะอยู่บนฐานที่มันกว้างขึ้นกว่าเดิม เข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

“ต้องโตแบบ เน้นเรื่องของ local เน้นเรื่องของท้อง ถิ่นมากขึ้น แล้วคนส่วนใหญ่อย่างที่เห็นประชากรประมาณ 80% ก็อยู่นอกเขต กทม. และปริมณฑล  ต้องไปเน้นเรื่องของการสร้างความมั่งคั่งในพื้นที่ด้านนอก จากพื้นที่ที่เคยเน้นเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นหลัก” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ประชากรเกือบ 80% อยู่นอกกรุงเทพฯ และปริมณฑล  เมื่อดูทั้งประเทศ สัดส่วนของประชากรที่อยู่ในกรุงเทพฯ สะท้อนความใหญ่ของเมืองหลวง เทียบกับเมืองอื่นๆ หรือเทียบกับประชากรที่เหลือของประเทศ ประเทศไทยมักจะติดอันดับต้นๆ ของโลก เพราะว่าเหมือนกับเมืองที่ใหญ่ที่สุดคือ กรุงเทพฯ และเมืองที่สอง เมืองที่ 3 รองลงมา มีช่องว่างระหว่างกันมหาศาล ที่อื่นไม่ได้เป็นอย่างนั้น มีความสมดุลกว่า คือ หมายความว่าเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง เมืองที่สองปกติประมาณครึ่งหนึ่งของขนาดของเมืองแรก เมืองที่ 3 ครึ่งหนึ่งของขนาดเมืองที่สอง เป็นภาพอย่างนี้ที่เรียก rank-size rule แต่ประเทศไทยไม่ใช่แบบนั้น ค่อนข้างผิดเพี้ยน พอสมควร สังคมเมืองที่มีอยู่กระจุกตัวอย่างหนาแน่นและหนักอยู่ที่กรุงเทพฯ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถามว่าจะไปอย่างนี้ต่อไปได้หรือไม่ คำตอบคือ ถ้าจะไปอย่างนี้ อัตราการเติบโตของโอกาสที่จะสร้างความมั่งคั่งในวงกว้างก็จะน้อยลง มีการศึกษาของธนาคารโลก ที่พยายามคํานวณอัตราการเติบโตของ GDP ของกรุงเทพฯ จะเห็นว่า GDP ต่อหัวของกรุงเทพฯ สูง คนมากประสิทธิภาพมาก แต่อัตราการเติบโตต่ำมาก ล่าสุดที่คํานวณออกมาอยู่ที่ประมาณแค่ 0.22%

“ถ้าเราพยายามอิงกับการเติบโตแบบเดิมๆ เน้นกรุงเทพ อัตราการเติบโตในภาพรวม ก็จะชะลอตัวลง แต่การโตแบบเน้นท้องถิ่น เน้น local ที่สําคัญคือ ต้องโตแบบแข่งขันได้ ต้องมีความเป็นสากล ที่เข้ามาแฝงด้วย เพราะมิฉะนั้นจะไม่ยั่งยืน ถ้าจะให้เราไปอย่างต่อเนื่องได้ การที่จะเน้นเรื่องของท้องถิ่น ที่สําคัญต้องเป็นท้องถิ่นที่ที่แข่งขันได้ ถ้าให้ชัดเลยแข่งกันกับโลกด้วยซ้ำไป เพราะการแข่งขันปัจจุบัน ไม้ได้แข่งขันกันเองระหว่างจังหวัด แต่แข่งขันกับโลก อย่างที่ชัดกับเหมือนท่องเที่ยว ถ้าเราอยากจะดึงนักท่องเที่ยวมาจากต่างประเทศ  เราก็เห็นว่าเป็นเครื่องยนต์สําคัญที่ทําให้บางเมืองโตได้ในไทย เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่  มาจากการที่ไปต่อท่อกับอุปสงค์ของโลกไม่ได้พึ่งแค่เฉพาะในประเทศ” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าการที่จะทําได้ต้องแข่งขันกับโลกได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเลือกที่จะไปที่ไหนก็ได้ในโลก  ท้ายสุดต้องเป็นท้องถิ่นที่แข่งขันได้ ที่สําคัญจะให้ดีเลยก็ต้องแข่งขันกับโลกได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเพราะท้องถิ่น เจอความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะในบริบทของไทย อย่างแรกจะเห็นว่า คนในบ้านเรา ด้วยความที่ทุกอย่างค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ จะเห็นว่าคนท้องถิ่นกระจายตัว มีความความหนาแน่นของประชากรที่ต่ํา อาจจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ดีถ้าหนาแน่นคนไม่อยากอยู่ แต่ในแง่ธุรกิจทราบกันดีว่า ถ้าขาดความหนาแน่น อุปสงค์ก็ไม่ค่อยมี ตลาดก็ไม่ค่อยโต  เห็นชัดจากตัวเลข กรุงเทพฯ มีประชากรที่ค่อนข้างหนาแน่นกระจุกตัว 3,500 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่ที่ภาคอื่นภาคเหนือ 70 คนต่อตารางกิโลเมตร ภาคอีสาน ประมาณ 30 คนต่อตารางกิโลเมตร ภาคใต้ 34 คนต่อตารางกิโลเมตร การกระจายตัวของคนในที่อื่นค่อนข้างสูง ทําให้โอกาสที่จะจับ (tap) ตลาด ที่มีนัยยะ มีขนาดก็ลําบากขึ้น “ถ้าจะโตก็ต้องไป tap โลก ไม่ใช่ไป tap แค่อุปสงค์ในพื้นที่” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

อย่างที่สอง ธุรกิจในท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็จะเห็นว่าเป็นขนาดเล็ก ก็ไม่น่าแปลกใจ สุดท้ายภูมิศาสตร์มีความหลากหลายในพื้นที่ต่างๆ บางทีทําให้เรื่องของขนาดของตลาด อาจจะไม่ได้โต หรือกว้างขวางเท่าที่อยากจะเห็น

3 ความท้าทายที่ท้องถิ่นแข่งได้ยาก

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า 3 ความท้าทาย ที่สะท้อนว่า โอกาสที่เราจะสร้าง Economy of Scale  ลําบากขึ้น การรวมตัวยากขึ้นในท้องถิ่น การรวมตัว หรือ Economy of Scale สําคัญ เพราะถ้าจะแข่งขันได้ ต้นทุนต้องต่ำ และสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ต้นทุนต่ำก็คือ ต้องมีความสามารถผลิตหรือทําอะไรที่มี size มีขนาดมี scale พอสมควรแล้วจะทำอย่างไร ที่จะให้ท้องถิ่นแข่งขันได้ แล้วก้าวข้ามอุปสรรคความท้าทายได้

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าขอเริ่มด้วยสิ่งที่ไม่ใช่ สิ่งที่ไม่ควรทํา สิ่งหนึ่งที่ชัดก็คือ ด้วยรูปแบบ (pattern) ต่างๆ การที่จะพึ่งการเติบโต โดยที่จะให้คนเข้ามาในกรุงเทพฯ ในปริมณฑลอีก ไม่ใช่แล้ว ตอนนี้ความหนาแน่นในกรุงเทพฯ เริ่มส่งผลในเชิงลบ ความหนาแน่นทําให้ต้นทุนต่างๆ เริ่มเพิ่มขึ้น มีความแออัด รถติด ต้นทุนต่างๆสูง ตรงนี้ก็คงเป็นตัวที่สะท้อนถึง GDP ต่อหัวในกรุงเทพฯและปริมณฑลเริ่มที่จะชะลอตัวลง

“อีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่ามันสะท้อน  คือนโยบายของเราที่พยายามแบบเน้นการกระจายความเจริญ และกระจายแบบกระจายให้สุดๆ เลย ซึ่งก็ไม่ใช่ ต้องดูว่าแต่ละที่ที่จะพยายามกระจายไป มีศักยภาพอย่างไร ให้จะกระจายแบบจะให้ไปทั่วไป ก็ไม่ค่อยประสบความสําเร็จ ตัวอย่างหนึ่งของสไตล์นโยบายที่ผมคิดว่ามันไม่ค่อยจะประสบความสําเร็จ แล้วก็คงไม่ใช่เป็นทางออก  คือการที่เราจะพยายามไปไป พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ special economic zone หวังว่าการที่จะไปสร้างโซนพวกนี้ ในที่ที่มันอาจจะไม่ได้เหมาะสมกับธุรกิจนัก อยู่ดีๆจะดึงดูดการลงทุนแล้วก็ไปสร้างความมั่งคั่ง ผมว่าเป็นไปได้ค่อนข้างยาก ที่ผ่านมาเราก็มีนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ทํามาตั้งแต่ปี 2558 มูลค่าการลงทุนคิดเป็นสัดส่วนของมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในประเทศทั้งหมด มีเพียง 0.5% ไม่ถึง 1% ไปด้วยซ้ําไป” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว และว่าเจตนารมณ์ของนโยบายเป็นสิ่งที่ดี เพราะหวังว่าจะกระจายความเจริญ แต่ถ้าไม่ดูศักยภาพ ความเป็นไปได้ ก็จะกระจายแบบเหมือนจะให้กระจาย มันไม่ได้

สร้างท้องถิ่นสากลจาก 6 แนวทาง

ถามว่าแล้วทําอย่างไรให้ท้องถิ่นที่ออกไปในแนวสากลเกิดขึ้นได้ องค์ประกอบที่จะทำให้ท้องถิ่นที่สากลเกิดขึ้นได้และแข่งขันได้ โดยองค์ประกอบที่เหมือนกับขาดไม่ได้ ของที่จําเป็นแต่อาจจะไม่พอ   ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อย่างแรกคือการเชื่อมกับตลาด ด้วยความที่ว่าท้องถิ่น มีคนในพื้นที่ไม่หนาแน่น มีการกระจายตัวค่อนข้างเยอะ ถ้าพึ่งตลาดที่อยู่ได้ตรงนั้น การเข้าถึงตลาดต้นทุนก็จะสูง ตลาดก็มีขนาดไม่พอโอกาสที่จะแข่งขันได้ แล้วก็เอาต้นทุนให้ต่ำอย่างที่ควรจะแข่งขันได้ โอกาสน้อยมากมาก “ตลาดที่เราควรเชื่อมก็หนีไม่พ้นตลาดโลก ตอนนี้กระแสของออนไลน์ เราก็เห็นว่ามันส่งอานิสงส์ทําให้การเชื่อมตลาดทําได้ง่ายขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ประเทศไทยในฐานะที่ประเทศที่เป็นเกษตร ผมว่าเรามีโอกาสตรงนั้นสูง แต่ที่สําคัญ คือต้องกลับไปเรื่องความเป็นสากล เราอาจจะมีพื้นที่ที่เฉพาะ แบบมาจากพื้นที่ตรงนี้เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่ที่อื่นก็แข่งไม่ได้เพราะว่ามันเป็นของมาจากพื้นที่ตรงนี้ แต่แม้มีจุดเด่น แต่แข่งขันไม่ได้ก็ไม่ใช่ ผมว่าโจทย์ของเรา คือ การสร้างเรื่องพวกนี้ให้ได้มีโอกาสจริงๆ ช่วงหลัง โดยเฉพาะที่ว่ากระแสของเรื่องของคนใส่ใจ traceability ว่าของ โดยเฉพาะที่บริโภคเข้าไป มาจากไหน มี story โอกาสบ้านเราจริงๆค่อนข้างสูง

ส่วนการเชื่อม เชื่อมตลาด สร้างมูลค่าเพิ่ม สําหรับท้องถิ่น อาจจะเป็นไม่ง่าย ทําอย่างไรที่จะยกระดับให้เป็นสากลได้ ซึ่งดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ต้องมีความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ (partner) ซึ่งพาร์ทเนอร์ก็จะช่วยได้ ตัวเล็กจับมือกับตัวใหญ่ หาจุดแข็งจุดเด่นของแต่ละฝ่ายมาหาประโยชน์ร่วมกัน หาสิ่งที่ win-win และย้ำว่า “ต้องเป็นสิ่งที่ win-win จริง ไม่ใช่แบบตัวใหญ่เอาเปรียบตัวเล็ก ไปกดราคา และไม่ใช่แบบตัวใหญ่ช่วยตัวเล็กในรูปแบบที่ไม่ได้ตอบโจทย์ธุรกิจ ไม่ควรเป็นแค่การช่วยเหลือแบบ CSR เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น จะไม่ยั่งยืน”

ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ตรงนี้ที่สําคัญ คือต้องมีการร่วมมือ ที่มีเหตุแล้วมีผลในแง่ธุรกิจ เพื่อจะให้ไปต่อได้ เพื่อให้ทําได้อย่างยั่งยืน “ไม่ใช่แค่การถ่ายรูปแล้วบริษัทใหญ่ใหญ่เอาไปลงในรายงานประจําปี แล้วระหว่างนั้นก็ไม่ทําอะไร มันต้องเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลของทั้งสองฝ่าย มีประโยชน์ทางด้านธุรกิจ มิฉะนั้นจะไม่ยั่งยืน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า บางครั้งการคิดแบบการกระจายตัวอย่างเดียว ไม่ใช่ เพราะการเจริญไม่ใช่การกระจายความเจริญแบบทั่วไป “จริงๆ สําหรับผมมันเป็นการสร้างการกระจุกตัวใหม่ ๆ ก็คือ ทําให้เมืองรองโตได้ กระแสคนเข้าเมืองผมคิดว่า ยังจําเป็น แต่ไม่ใช่แค่ว่าเข้ามาในกรุงเทพปริมณฑล หรือในเมืองที่ใหญ่ๆอยู่แล้ว ที่สําคัญคือเราต้องให้เรื่องของการเข้าถึงเมืองเกิดขึ้นในพื้นที่ พวกเมืองรอง”

รูปแบบสังคมเมืองในในไทยจะค่อนข้างผิดเพี้ยนไปจากที่อื่น เพราะว่าเมืองรองต่างๆขนาดเล็กมาก เทียบกับที่อื่น เราขาดเมืองที่แบบ อย่างที่เห็นในจีน หรือเกาหลีที่มีเมืองที่เป็น specialized city เมืองนี้เก่งเรื่องรถยนต์ อีกเมืองทําเรื่องเทเลคอม และซัพพลายเชนทั้งหมดจะอยู่อย่างนั้น แล้วเหตุผลที่เมืองพวกนี้โตได้ คือ เขาไม่ได้พึ่งอุปสงค์แค่อยู่ในพื้นที่ แต่เขาสามารถเชื่อมกับโลกได้ และแข่งขันในระดับโลกไปสู่สากลได้

“ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นอีกอันหนึ่งที่จําเป็นในเรื่องของภาพรวมของเรา แล้วก็หนีไม่พ้นของประเทศไทยที่จะให้เกิดขึ้น ก็ต้องมีเรื่องของการที่จะให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการตัวเองได้ เพราะว่าอะไรที่มาจากส่วนกลาง ทําแบบ one size fits all จากส่วนกลาง เราก็รู้ไม่ได้ผลเพราะความแตกต่างของท้องถิ่น พื้นที่ต่างๆที่หลากหลาย คําตอบมันเป็นไปได้ว่ามันมาจากส่วนกลางและมาในรูปแบบเดียว การที่จะให้ท้องถิ่นเมีความสามารถในการบริหารจัดการตัวเองจําเป็น แล้วก็นโยบายก็ต้องออกมาที่เหมาะสมกับพื้นที่” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าระบบการติดตามถ้าทําเรื่องนี้ให้การแข่งขันเป็นไปได้จริง ต้องมีการระบบการติดตาม ประเทศหนึ่งที่ทําเรื่องนี้ได้ดี คือ เวียดนาม ที่มีการคํานวณ ที่เรียก Provincial Competitiveness Index ขีดความสามารถแข่งขันของแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่ ไปสํารวจนักลงทุนทั้งต่างประเทศ และในประเทศว่า กฎระเบียบเรื่องของการทําธุรกิจ ความยากง่ายในการทำธุรกิจ Ease of Doing Business แล้วจัดทําเป็น อันดับ(ranking)ออกมา ซึ่งตัวนี้ก็จะทำให้คนเห็นว่าพยายามมีการแข่งขันในระดับที่เป็นสากลได้

ดร.เศรษฐพุฒิ ปิดท้ายว่า รูปแบบการเติบโตของเรา คงต้องเปลี่ยนแปลงไป ในเชิงที่ท้องถิ่นมากขึ้น แต่เป็นท้องถิ่นที่สากล  จะให้อานิสงส์ในเรื่องของการเติบโตที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนที่ดีขึ้น จะเป็นรูปแบบที่กระจายประโยชน์ของการลงทุนที่กว้างขึ้น ถ้าเราเน้นเรื่องของท้องถิ่นมากขึ้น ทําให้ทั่วถึงมากขึ้น (more inclusive) และที่สําคัญช่วยทําให้การเติบโตของเรา มีความยืดหยุ่นและ resilience มากขึ้น เพราะการเติบโตของเราจะอยู่บนฐานที่กว้างขึ้น ไม่ได้อยู่บนฐานที่แคบ แต่จะอยู่บนฐานที่มีความหลากหลายมากขึ้น

“Globally competitive ที่ผมพูดนั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่อีกอันที่ผมหวังว่าถ้าทําแบบนี้ มันจะเกิดการแข่งขันระหว่างท้องถิ่น บางคนก็จะเริ่มเห็นแล้วท้องถิ่นนี้ทําได้แล้วออกมาดี ท้องถิ่นอื่นคนในท้องถิ่นอื่นก็บอกว่าทําไมไม่ทําอย่างนี้ ผมว่าก็จะช่วยทำให้ยกระดับเรื่องของนโยบายที่จะช่วยเรื่องไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการแข่งขันและก็ชีวิตความเป็นอยู่ของคน แล้วทําให้แข่งขันได้ ก็จะทําให้ยั่งยืน” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight