CEO INSIGHT

‘ปตท.’ ยุค ‘คงกระพัน’ เปิดกว้างรับ ‘พาร์ทเนอร์’ สร้างธุรกิจแกร่ง เติบโตระดับโลกอย่างยั่งยืน

“คงกระพัน” เปิดวิสัยทัศน์ใหม่ “ปตท.” เปิดรับพาร์ทเนอร์ เสริมความแข็งแกร่งธุรกิจ มุ่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ผ่านการดำเนินธุรกิจ Hydrocarbon เป็นหลัก ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมดุล

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. กล่าวถึง ทิศทางกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ (Vision) ใหม่ ของบริษัท ที่ว่า “ปตท.แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD)

ในส่วนของวิสัยทัศน์นั้น ดร.คงกระพัน ระบุว่า ในฐานะที่เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ปตท. จึงต้องทำให้ธุรกิจของบริษัทแข็งแรง และต้องทำให้สังคมไทยแข็งแรงไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

คงกระพัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการเติบโตในประเทศยังมีข้อจำกัดอยู่ในหลาย ๆ ด้าน ทำให้ ปตท. ต้องเน้นการเติบโตในตลาดโลกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ กำไรเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำไรโดยรวมก็มาจากต่างประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงการออกไปเติบโตนอกประเทศ เป็นวิสัยทัศน์ที่สร้างความแข็งแรง และความมั่นคงทางพลังงาน

ในปี 2567 ปตท. มีการปรับเป้าหมายใหม่ นอกจากเน้นเรื่องธุรกิจเดิม อย่าง น้ำมัน และก๊าซ แล้ว ยังจะมุ่งเน้นไปในเรื่อง “ไฮโดรคาร์บอน” (Hydrocarbon) ที่เป็นธุรกิจหลักอีกอย่างหนึ่ง ที่บริษัททำได้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก และต้องปรับตัวพร้อมรับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

Screen Shot 2567 08 21 at 15.34.45

เพราะในเรื่องของความมั่นคงทางพลังงานนั้น ทุกอย่างเชื่อมโยงกันไปหมด ซึ่ง ปตท. เองก็พยายามส่งเสริมในเรื่องดังกล่าว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

พลังงานดั้งเดิมโดยเฉพาะก๊าซ เป็นพลังงาน ที่ถือว่าสะอาดพอควร มีจำนวนมากพอ และขายได้ ที่สำคัญคือมีอยู่ในประเทศจำนวนมาก โดยไทยอาจใช้ก๊าซไปอีกอย่างน้อย 20 ปี เนื่องจากไม่ได้ร่ำรวย และไม่ได้พัฒนาไปมาก จนเหมือนกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน ที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได้ทั้งหมด

อย่างไรก็ดี การจะทำไฮโดรคาร์บอนเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ โดยวิสัยทัศน์ของ ปตท. ในเรื่องนี้คือ ทำควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก

วิสัยทัศน์นี้ต่างจากการทำธุรกิจของ ปตท. เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่ลุยอย่างเต็มที่ในเรื่องการสำรวจ ผลิต และด้านต่าง ๆ แต่วันนี้ต้องมีทรัพยากรที่จะนำมาใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้อยู่ในธุรกิจต่อไปได้

คงกระพัน

ลดสินทรัพย์ เพิ่มผลตอบแทน 

ดร.คงกระพัน บอกด้วยว่า นอกจากเรื่องลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ ปตท. ต้องลด คือ “สินทรัพย์” (Asset) เพราะการที่บริษัทมีสินทรัพย์เป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีเงินลงทุนจำนวนมากเช่นกัน เพราะธุรกิจส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ทำให้ในวันนี้ จำเป็นต้องเริ่มลดสินทรัพย์ที่ไม่สร้างกำไร เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น

ปี 2567 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความสำคัญกับบริษัท เนื่องจากจะมีการทำโครงสร้างต่าง ๆ ใหม่ เพื่อสร้างความมั่นคง โดยจะมีการไล่ดูสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั้งหมดทั้งของใหม่ และของเก่า ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนอยู่ คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้

Screen Shot 2567 08 21 at 15.33.51

จากนั้น ในปีต่อ ๆ ไป ก็จะหันไปมุ่งเน้นในเรื่องการเติบโต ในด้านต่างๆ ทั้งเรื่องของการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มรายได้ ทั้งในส่วนของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ที่ยังมีเงินอยู่จำนวนมาก จะทำให้สามารถพัฒนาการดำเนินงานได้มาก เพื่อให้เข้ามาใน Bottom Line

“การที่เศรษฐกิจในหลายด้านกำลังอยู่ในขาลง ทำให้การลงทุนต้องเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ปตท. จึงเน้นไปในเรื่องของนำเงินมาลงทุนให้ถูก สร้างการลงทุนที่ตรงกับความถนัดของเรา มีการลงทุนที่กระจายออกไปในหลายด้าน  หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนที่มีขนาดใหญ่เสมอไป แต่ต้องเป็นการลงทุนที่มีความสำคัญ

นอกจากนี้ ยังต้องมีการบูรณาการเรื่อง “ความยั่งยืน” (Sustainability) เข้ามาอยู่ในธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจจะไม่ง่าย แต่สามารถทำได้ และตรงกับที่บอกว่า ต้องทำไฮโดรคาร์บอนควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก

คงกระพัน

เปิดกว้างดึงพาร์ทเนอร์เสริมทัพ สร้างธุรกิจแกร่ง

ดร.คงกระพัน ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านเทคโนโลยี และการแข็งขัน ทำให้ ปตท. ต้องหันมาดูว่า บริษัทมีจุดแข็งอะไร และมีจุดเด่นที่สู้กับคู่แข่งได้ไหม่

“เราต้องวิเคราะห์ เมื่อวิเคราะห์เสร็จก็ต้องไปต่อและต้องไปให้เร็ว เรื่องไหนที่สู้ไม่ได้ เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะ เพราะการแข่งขัน เปลี่ยนไป  Dynamic เปลี่ยน เราก็ต้องถอย ซึ่งการถอย ก็ไม่ได้หมายความว่า ต้องเลิกอย่างเดียว แต่เป็นการหาพาร์ทเนอร์ หรือวิธีอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมาย”

ธุรกิจ Upstream and Power จะต้องเร่งขยายแหล่งสำรวจ และผลิตร่วมกับพาร์ทเนอร์ เจรจาหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อทำให้ธุรกิจนี้แข็งแกร่ง และเติบโต มีต้นทุนที่แข่งขันได้

สำหรับธุรกิจ Downstream นั้น ตอนนี้อยู่ในช่วงขาลง  เป้าหมายหลักของ ปตท. คือ หาพาร์ทเนอร์มาร่วมลงทุน เป็นพาร์ทเนอร์ที่ทำให้ธุรกิจเหล่านี้แข็งแรงขึ้น ปตท. ก็อาจมีเงินไปลงทุนใหม่ สร้างกำไรในธุรกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยพาร์ทเนอร์ในตะวันออกกลาง จีน หรือ สหรัฐ ต่างก็มีความแข็งแรงมากขึ้น และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังเป็นตลาดใหญ่ ที่มีความน่าสนใจอยู่

พาร์ทเนอร์ที่เข้ามาจะต้องช่วยเสริมแกร่งให้กับธุรกิจ และเป็นการสร้าง Synergy ร่วมกัน ต้องเป็นพาร์ทเนอร์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่ต้องการ เพราะ ปตท. ไม่ได้หาพาร์ทเนอร์เพราะขาดเงินทุน อีกทั้งยังช่วยเสริมความเชี่ยวชาญของบุคลากรในองค์กร ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ

คงกระพัน

“ปตท. มีแผนลดสัดส่วนการถือหุ้นในกลุ่มธุรกิจโรงกลั่น และปิโตรเคมีลง เนื่องจากเราไม่จำเป็นต้องถือหุ้นเท่าเดิม แต่ต้องการเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับบริษัทลูก โดยพันธมิตรดังกล่าว จะต้องเป็นกลุ่มที่มีความแข็งแกร่ง และมีความเชียวชาญ ในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว และจะใช้ฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศยุโรป และอเมริกา”

ธุรกิจน้ำมันและการค้าปลีกนั้นจะต้องมุ่งหน้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ปรับพอร์ตการลงทุนให้เป็นรูปธรรม มีสินทรัพย์ที่โดดเด่น รวมถึงรักษาการเป็นผู้นำตลาด ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ Non-Hydrocarbon โดยจะประเมินธุรกิจนี้ใน 2 มุม คือ ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ และมีจุดแข็ง ที่สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้น ๆ ได้ มีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง

แนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon 

  • ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV

มุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องมีการควบรวมแบรนด์ต่างๆ ภายใต้กลุ่ม ปตท. และใช้ OR Ecosystem ที่มี Touch Point อยู่ทั่วประเทศให้เป็นประโยชน์

ส่วนโรงประกอบรถ EV ที่ร่วมทุนกับฟอกซ์คอนน์ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อหาทางออก หลังจากสภาพการแข่งขันตลาดรถอีวีรุนแรงมาก โดนค่ายรถ EV จากจีนหลายรายมาตั้งโรงงานผลิตในไทย

  • ธุรกิจ Logistics

เน้นไปเฉพาะธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของ ปตท. และมี Captive Demand อยู่แล้ว โดยยึดหลัก Asset-light และมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแรง

คงกระพัน

  • ธุรกิจ Life Science

จะต้องสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) และสร้าง Goodwill ให้กับสังคม เนื่องจากเป็นธุรกิจใหม่ และแตกต่างจากที่ ปตท.ทำอยู่มาก ดังนั้น จะหาพาร์ทเนอร์ที่มีจุดแข็งเข้ามาร่วมลงทุน

ดร.คงกระพัน  ย้ำว่า ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ยึดมั่นภารกิจสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เป็นที่ยอมรับ และมีมาตรฐานในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งสู่การเติบโตขององค์กรในระดับโลกอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg

Avatar photo