CEO INSIGHT

เปิดเส้นทางสู่ ‘เจ้าแห่งทุน’ : เจริญ สิริวัฒนภักดี ‘ความลี้ลับแห่งทุน’ (จบ)

ความมั่งคั่งของเจริญก้าวขึ้นสู่ระดับ อภิมหาเศรษฐีโลก หรือ บุคคลผู้ครอบครองทรัพย์สินมากกว่า 1.000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป มากว่า 10 ปีแล้ว

forbes
ที่มา : Forbes

ในปี 2561 นิตยสารฟอร์บส์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องจัดทำเนียบอภิมหาเศรษฐีโลก รายงานว่า เจริญครอบครองทรัพย์สิน 17,600 ล้านดอลลาร์ (ราว 559,000 ล้านบาท ) อยู่ในอันดับที่ 65 ของมหาเศรษฐีโลก และ อันดับหนึ่งของไทย

ส่วนปี 2562 สื่อไทยรายงานเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ความมั่งคั่งของเจริญลดลงเล็กน้อย เหลือ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 424,000 ล้านบาท) อยู่อันดับ 87 ของโลก

ความมั่งคั่งของเจริญเพิ่มขึ้นใน อัตราพุ่งทะยาน ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ในห้วงเวลาที่เจริญรุกเข้าครอบงำกิจการทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลเท่าที่สำรวจพบ ระหว่างปี 2550 ถึงปัจจุบัน (2562) กิจการใต้ร่มเงา ทีซีซี กรุ๊ป ใช้เงินลงทุนมากถึง 958,954 ล้านบาท ไล่ซื้อกิจการมูลค่ามหาศาลตั้งแต่ เฟอร์เซอร์ แอนด์ นีฟ (เอฟ&เอ็น )ในสิงคโปร์มูลค่า 330,000 ล้านบาท ไปจนถึงร่วมทุนใน บมจ.อมรินทร์ พรินท์ติ้ง แอนด์พับลิชชิง 850 ล้านบาท โดยมากกว่า 56 % ของการลงทุนนั้น เป็นโครงการของ ไทยเบฟ

TCC

อาณาจักรธุรกิจที่แผ่ขยายออกไปสัมพันธ์กับความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ที่รวบรวมข้อมูลการจัดอันดับ อภิมหาเศรษฐกิจโลกของนิตยสารฟอร์บส์ แสดงว่าปี 2551 เจริญมีทรัพย์สิน 3,900 ล้านดอลลาร์ ปี 2553 ที่ ไทยเบฟ เรือธงหลักของทีซีซี กรุ๊ป เข้าซื้อ บมจ.เสริมสุข ผู้ผลิตเป็ปซี่ขณะนั้น เจ้าของเอสโคล่า ปัจจุบัน มูลค่า 15,403 ล้านบาท ระดับความมั่งคั่งของเจริญ ขยับขึ้นมาอยู่ 4,150 ล้านดอลลาร์

ปี 2556 ที่ชื่อของเจริญดังกระฉ่อนไปทั้งอาเซียน เมื่อไทยเบฟชนะประมูลซื้อ เอฟ& เอ็น กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์มูลค่า 330,000 ล้านบาท ทำสถิติกิจการที่ซื้อมูลค่าสูงสุดในชีวิตของเจริญ มาจนบัดนี้ ปีนั้นอันดับความมั่งคั่งของเจริญทะลุหลักหมื่นล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก ขึ้นมาอยู่ที่ 10,600 ล้านดอลลาร์

จากนั้นเส้นกราฟความมั่งคั่งของเจริญยังชันขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2557 มีการซื้อกิจการมูลค่าระดับหมื่นล้าบาทขึ้นไปถึง 3 ราย โดยไทยเบฟ และ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อันดับความมั่งคั่งของเจริญขยับเพิ่มไปเป็น 11,300 ล้านดอลลาร์ และขยับต่อขึ้นมาถึง 13,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2558

ในปี 2559 ที่ เบอร์ลี่ซื้อกิจการค้าปลีกสมัยใหม่ บิ๊กซี มูลค่า 220,000 ล้านบาท ตามด้วยไทยเบฟเข้าถือใหญ่ใน ซาเบโก ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของเวียดนามมูลค่า 160,000 ล้านบาท และปี 2561 ที่ เจริญประกาศเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์มูลค่าสูงสุดในประเทศไทย วันแบงก์ ค็อก มูลค่า 120,000 ล้านบาท ปีเดียวกันนั้น (2561) นิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า เจริญครอบครองทรัพย์สินมูลค่าทั้งสิ้น 17,600 ล้านดอลลาร์ อยู่ในอันดับ 65 ของโลก และอันดับ 1 ของไทย

Onebangkok 2017render
โครงการวัน แบงค็อก

เมื่อหันมาพิจารณาความมั่งคั่งและความสำเร็จของเจริญ เป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่า เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจากคนๆ หนึ่งที่มีฐานะเกือบศูนย์ ผ่านการศึกษาภาคบังคับ สะสมประสบการณ์การค้า จากการเสิร์ฟหอยทอดให้ลูกค้าในร้านเตี่ย ( ติ่งเลี้ยง แซ่โซว) นับหนึ่งธุรกิจจากกิจการเล็กๆ คอยจัดหาสินค้าส่งโรงกลั่นสุรา เมื่อ 5 ทศวรรษที่แล้ว ก่อนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจแสนล้านบาทในวันนี้

เจริญเริ่มสะสมทุน หลังก้าวขึ้นยืนแถวหน้าในวงการน้ำ เมื่อเข้ามามีบทบาทเต็มใน บริษัทสุรามหาราษฎร์ เจ้าของสัมปทานสุราในปี 2529 เมื่อปักหลักธุรกิจน้ำเมาได้แล้ว ในช่วงปี 2530-2540 เจริญเริ่มตะลุยซื้อทรัพย์สินโดยเฉพาะ อสังหาริมทรัพย์ จนมีฐานะระดับ เจ้าสัวคนหนึ่งของเมืองไทย แต่การลงทุนช่วงเวลานั้น เป็นการซื้อเพื่อเก็บมากกว่าปรับปรุงเพื่อเพิ่มรายได้

กระทั่งหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่เจริญ สูญเสีย แบงก์มหานคร และ บงล. มหาธนกิจ เจริญเริ่มนำทรัพย์สินที่สะสมมาปรับปรุง อาทิเช่น ทุบโรงแรมอิมพีเรียล ในปี 2540 สร้าง โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ขึ้นมาแทน (เปิด2543) ปิดปรับปรุงโรงแรมอิมพีเรียลควีนส์ ปาร์ด ในปี 2557 (ซื้อมาตั้งแต่ปี 2537) เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น แมริออท มาร์ควิส ควีนส์ ปาร์ค แปลงโฉม พันธ์ทิพย์พลาซ่า ในปี 2558 (ซื้อมาปี 2531) เป็นต้น

ทิศทางการซื้อกิจการของเจริญเปลี่ยนเป็น ครอบงำเชิงกลยุทธ์ มากขึ้นหลังปี 2550

ธุรกิจที่ซื้อเข้ามาจะต่อยอดหรือเติมฐานธุรกิจเดิม ไม่ใช่ซื้อสะสมเหมือนช่วงก่อนหน้า เช่นการซื้อ เอฟแอนด์เอ็น ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่ม และอสังหาริมทรัพย์ สิงคโปร์ เข้าถือหุ้นใหญ่ใน ซาเบโก ผู้นำตลาดเบียร์ เวียดนาม และ เมียนมา ซัพพลายส์ ผู้ผลิตวิสกี้รายใหญ่ของเมียนมา ซึ่งเชื่อมต่อกับไทยเบฟ หรือ การซื้อบิ๊กซี เป็นการเติมฐานธุรกิจปลายน้ำให้ ธุรกิจในกลุ่ม เป็นต้น

ไทยเบฟส่งตัวแทนนั่งบอร์ด "ซาเบโก"

การรุกซื้อกิจการในช่วง 10 ปีเศษที่ผ่านมาของเจริญ ทำให้อาณาจักรธุรกิจใต้ร่มเงาทีซีซีกรุ๊ปเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมๆ กับทุนสะสมที่เพิ่มมากขึ้น ทำนอง ยิ่งรุกยิ่งรวย ความสำเร็จของ เจ้าสัวเจริญ ในวันนี้ มีมุมมองหลายแง่มุม มองผ่านคุณสมบัติส่วนตัว สติปัญญา ความอดทน และความสุภาพ คือคุณสมบัติที่ถูก อ้างถึงบ่อยครั้ง

ส่วนมุมนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่า เจริญเติบโตขึ้นภายใต้ ระบบทุนนิยมพวกพ้อง หรือ ระบบที่เกื้อหนุนกันระหว่างนักการเมืองกับนักธุรกิจ เป็นบทสรุปที่ได้รับการยอมรับเพราะการผงาดขึ้นมาในวงการสุราจนได้รับสมญา ราชันน้ำเมานั้น สายสัมพันธ์กับนักการเมือง ข้าราชการ นับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งกับธุรกิจน้ำเมา

ทุกวันนี้หากเข้าไปส่องรายชื่อ กรรมการบริษัทในทีซีซีกรุ๊ป โดยเฉพาะไทยเบฟ จะพบรายชื่อที่สื่อถึงสายสัมพันธ์ได้ดี

แต่ทั้งหลายทั้งปวงแล้ว อาณาจักรทีซีซีกรุ๊ป คงไม่มาไกลถึงขนาดนี้ หาก เจ้าสัวเจริญ ไม่นำผลกำไรมาลงทุนซ้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิต ทุนที่ไม่เคยหยุดนิ่งนำมาซึ่งกำไรและความมั่งคั่ง อันเป็นหลักที่นายทุนเช่นเจ้าสัวเจริญ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง แม้ไม่เคยศึกษาเศรษฐศาสตร์มาเลยก็ตาม

หากมีใครได้ถาม เจ้าสัวเจริญ ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของเขาคืออะไร  คำตอบที่ได้รับคงไม่พ้น มรดกความคิด ที่พ่อตา ( กึ้งจู แซ่จิว ) ส่งมอบมาให้ คือภาษาจีน 4 คำๆ แรก ยิ่ม ความอดทนจะทำให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมาย คำที่สอง เหยียง ความเสียสละจะทำให้พ้นภัย คำที่สาม แจ๋ ความเงียบ สงบ สุขุม ทำให้เกิดปัญญา และ คำที่สี่ ลัก ความร่าเริงจะมีความสุขอายุยืน

Avatar photo