CEO INSIGHT

เปิดเส้นทางสู่ ‘เจ้าแห่งทุน’ : เจริญ สิริวัฒนภักดี ‘เกมการเงินของเจ้าสัว’

การทำดีลซื้อสินทรัพย์และกิจการขยายอาณาจักรธุรกิจ อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ของ“เจริญ” เมื่อคิดรวมทุนที่ต้องจ่ายออกไปแล้ มีมูลค่ามหาศาล จนมีคำถามในวงการธุรกิจเสมอๆว่า เจริญ เอาเงินมาจากไหน  แน่นอนทุนส่วนหนึ่งต้องควักเอง แต่ส่วนใหญ่ “เจริญ” ใช้เครดิตล้วงทุนมาจากตลาดเงินและตลาดทุน    

กรณีบริษัทแสงโสม (บริษัทแม่กลุ่มธุรกิจน้ำเมาขณะนั้น) ตั้งบริษัท แอลเอสพีวี ระดมทุนด้วยการกู้และออกหุ้นกู้ 18,000 ล้านบาท  มารองรับการประมูลโรงกลั่นสุรา ทั้งโรงงานสุราบางยี่ขัน สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม และโรงกลั่นเหล้าสังกัดกรมสรรพสามิต 12 แห่ง ในปี 2542 รวมทั้งชำระภาษีสุรา ที่เคยกล่าวถึงแล้วในตอนที่ 2 (ยึดตลาดน้ำเมา)

คุณเจริญ3 1

ครั้งนั้น “เจริญ” ตั้งบริษัท เฉพาะกิจชื่อ “แอลเอสพีวี” ขึ้นมาช่วงปลายปี 2541 ทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท โดยมี บริษัท แสงโสม และกิจการในเครือร่วมกันถือหุ้น แอลเอสพีวี ทำหน้าที่บริหารจัดการสต็อกเหล้าที่บรรจุขวดหลังปี 2540 

จากนั้นใช้ สต็อกเหล้าซึ่งมีทั้งเหล้าสีและเหล้าขาว ที่โหมผลิตล่วงหน้าไว้ 3 ปี ก่อนเปิดเสรีสุราในปี 2542 (ขยับมาเป็นปี 2543 ภายหลัง) ซึ่งมีปริมาณมากถึง 531.45 ล้านลิตร มาเป็นหลักประกันในการออกหุ้นกู้ และกู้ หรือ Asset  Backed โดยตีมูลค่าหลักประกันไว้ถึง 36,000 ล้านบาท

“เจริญ” ใช้สต็อกเหล้าดังกล่าวมาเป็นหลักประกัน ในการกู้ และออกหุ้นกู้ มูลค่ารวม 18,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น งวด งวดละ 6,000 ล้านบาท ทยอยออกระหว่างปีในปี 2541-2542  โดยแต่ละงวดจะแยกเป็นกู้จากแบงก์พาณิชย์และออกหุ้นกู้ 

เช่น งวดแรก แยกเป็นกู้จากแบงก์พาณิชย์ 4,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์ หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยทั่วไป  4 แบงก์ใหญ่เฉลี่ยบวก 0.75 % ต่อปี ออกหุ้นกู้ 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 10.5% (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ปี 2541 เฉลี่ย 6% ) โดยเงินกู้และหุ้นกู้ทั้ง งวดนั้น ดอกเบี้ยจ่ายรายเดือน ส่วนเงินต้น มีกำหนดชำระคืน ตั้งแต่ต้นปี 2543 -2544

แม้สต็อกเหล้าที่นำมาเป็นหลักประกันมีมูลค่า (36,000 ล้านบาท) มากกว่าเงินกู้ (18,000 ล้านบาท ) ถึงเท่าตัว แต่ที่ปรึกษาการเงินของเจริญต้องการสร้างความมั่นใจให้กับ “เจ้าหนี้” อย่างถึงที่สุด  จึงสร้างกลไกกำกับ เพื่อเสริมความน่าเชื่อถือในหลักประกัน ด้วยการให้บริษัทประกันวินาศภัย 8 แห่งเข้ามารับประกันภัยสต็อกเหล้า ที่ฝากไว้กับ บริษัทเอเชียคลังสินค้า และ บมจ.ทรัพย์ศรีไทยคลังสินค้า

จากนั้นให้บริษัท ไทยเรทติ้ง อิมฟอร์เมชั่น เซอร์วิส หรือ ทริส จัดอันดับความน่าเชื่อถือ หุ้นกู้ที่เจริญออกได้เรทติ้ง(อันดันความสามารถในการชำระหนี้) A- (เอ ลบ) ถือว่าเป็น Investment grade หรือ มีความสามารถในการชำระหนี้ ปานกลางถึงสูง 

นอกจากกลไกควบคุมสต็อกเหล้าที่เป็นหลักประกันดังกล่าวแล้ว ปัจจัยที่ทำให้แผนระดมทุนของเจริญในครั้งนั้น ประสบความสำเร็จคือ ความสามารถในการควบคุมตลาดของ “เจริญ” ให้ผลิตภัณฑ์สุราในกลุ่มแสงโสม สามารถกุมส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ไม่น้อยกว่า 75% 

อีกทั้งสต็อกเหล้าปริมาณมหาศาลสามารถใช้ทำตลาดได้ไม่น้อยกว่า 3 ปี   และอัตราภาษีที่ได้เปรียบเพราะ ภาษีเหล้าหลังเปิดเสรีในปี 2543 สูงกว่า ทั้ง 3 ปัจจัย เป็นอุปสรรคชั้นดีที่กีดกัน ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องคิดหนัก หากต้องการเข้ามาค้าสุราแข่งกับเจริญ

ทริส ให้เหตุผล ที่ให้เรตติ้ง A- หุ้นกู้ “แอลเอสพีวี” ไว้ว่า

  • หนึ่ง ภาวะอุปสงค์ ( ความต้องการของนักดื่ม) ยังสามารถรองรับสินค้าคงคลังได้
  • สอง อุปทาน (คู่แข่งหน้าใหม่ที่จะเข้าตลาด)  ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
  • สาม ระดับภาษีสุราบรรจุขวดที่ใช้เป็นหลักประกัน  ทำให้หลักประกัน (เหล้า) มีสภาพคล่องในตลาดระดับสูง และมีโอกาสน้อยมูลค่าจะลดค่ำลงจากมูลค่าทางบัญชีในงบดุล
  • สี่ กลุ่มแสงโสมเป็นผู้นำตลาดด้วยการวางกลยุทธ์ป้องกันไว้ตั้งแต่ก่อนการเปิดเสรี (2543)  ด้วยการซื้อโรงกลั่นสุราของรัฐ 12 แห่ง  และผลิตสุราบรรจุขวดในระดับที่สูง  และห้ายังวางกลยุทธ์ขยายตลาดสุราพิเศษ ด้วยการสร้างตราแสงโสม

การออกหุ้นกู้และกู้เงินผ่าน บริษัทเฉพาะกิจ แอลเอสพีวีของเจริญเหมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกทั้งฝูง

ประการแรก “เจริญ” สามารถออกจากมุมอับทางการเงิน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจเวลานั้น (ปี 2541) คือปีที่พิษจากวิกฤติต้มยำกุ้งแสดงตัวเต็มที่  เงินกู้เป็นของหายาก แบงก์ที่เหลืออยู่ในระบบ  ขนหัวลุกจากเอ็นพีแอล (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้) ของลูกหนี้ไม่พอร์ตกันโดยถ้วนหน้า  ถ้าไม่มั่นใจ 99.99% ไม่มีทางปล่อยเงินกู้ให้

อีกทั้งเวลานั้น ฐานการเงินของ“เจริญ” บงล.มหาธนกิจ  ถูกปิดปลายปี 2540 และแบงก์มหานครถูกควบรวมต้นปี 2541 หุ้นกู้แอลเอสพีวีจึงเปรียบเหมือนแหล่งทุนสุท้ายในยามนั้น 

ประการถัดมา “เจริญ” ใช้สต็อกเหล้าบรรจุขวดที่โหมผลิต หลังปี 2540 -2543 มาเป็นหลักประกันในการออกหุ้นกู้ และกู้ โดยนำเงิน (กู้) ที่ได้มาชำระภาษีให้กรมสรรพสามิต และเตรียมการสำหรับการประมูลโรงกลั่นเหล้าของกระทรวงอุตสาหกรรม (โรงงานสุราบางยี่ขัน) และโรงงานกลั่นสุราสังกัดกรมสรรพสามิต 12 แห่ง ในปี 2542 โดยวงจรนี้ “เจริญ” ใช้เงินกู้มาประมูลซื้อโรงเหล้าของรัฐมากกว่าทุนตัวเอง   

business spirit01

ประการสุดท้าย หลังชำระคืนหนี้ จากการออกหุ้นกู้ และกู้โดยบริษัทแอลเอสพีวี จบในปี 2544 โดยประมาณ ฐานธุรกิจน้ำเมาของ “เจริญ” เข็มแข็งขึ้นมากจนนำไปสู่การปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำเมาครั้งใหญ่ในปี 2546 พร้อมกับการตั้งบมจ.ไทยเบฟฯ เรือธงแห่งอาณาจักรน้ำเมา ที่เป็นเสาหลักของ ทีซีซีกรุ๊ป มาจนบัดนี้

“เกมการเงินของเจ้าสัว” อีกกรณีที่ชวนให้ทึ่งไม่แพ้กัน  คือ ดีลซื้อบิ๊กซีมูลค่า  2.2 แสนล้านบาท เมื่อปี 2559  ที่บริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น ใช้บริษัทลูก บมจ.เบอร์ลี่ยุคเกอร์ หรือ บีเจซี เป็นหัวหอก ดีลครั้งนั้นเจริญใช้ประโยชน์จากตลาดทุน และตลาดเงินเต็มพิกัด

ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของ บีเจซี ปิดดีล ซื้อหุ้น บิ๊กซี  58.56 มูลค่า 1.23 แสนล้านบาท  จาก Geant International BV  กิจการในกลุ่มกาสิโน  เดือน มีนาคม 2559  “เจริญ” กู้เงินระยะสั้นไม่เกิน 12 เดือน หรือ Bridging loan จากสถาบันการเงินวงเงิน 2.2 แสนล้านบาท มาชำระค่าหุ้น (รวมที่ตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นอื่น)

“เจริญ” ได้ครอบครอง บิ๊กซี สมใจ แต่สิ่งที่ตามมาคือ “หนี้” โดยภาระหนี้ของ บีเจซี ณ ปี 2559  พุ่งขึ้นเป็น 152,234 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 137,259 ล้านบาท หรือ 916% จากปีก่อนหน้า

หนี้ก้อนโตมาพร้อมกับภาระดอกเบี้ยจ่าย ที่เป็นภัยต่อรายได้และเงินปันผลของบีเจซี หากปล่อยทิ้งไว้องค์กรจะอึดอัด และยิ่งทิ้งไว้ไม่จัดการอย่างใดอย่างหนึ่งจะรวนไปทั้งระบบ แผนการปรับโครงสร้างทางการเงิน ด้วยการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้ เพื่อหาแหล่งทุนที่อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ามาทดแทนหนี้เงินกู้เดิม จึงเกิดขึ้น

750x422 819649 1543291915

วันที่  29 มิถุนายน 2559 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นเห็นชอบ แผนเพิ่มทุนจาก 2,4 พันล้านบาทเป็น 4.05พันล้านบาท ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน 2.4 พันล้านหุ้นราคา บาท เสนอขายหุ้น ต่อผู้ถือหุ้นเดิม อัตราส่วน1 ต่อ ราคา 35 บาทต่อหุ้น และออกหุ้นกู้อีก 1.3 แสนล้านบาท

บีเจซี ได้เงินจากขายหุ้นเพิ่มทุน 8.36 หมื่นล้านบาท และทยอยออกหุ้นกู้ ครั้ง รวม 13 ชุด ระหว่างเดือนกันยายน 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2560 ได้เงินรวม 1.22 แสนล้านบาท เงินที่ระดมได้มาทั้งหมด ถูกนำไปใช้คืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นเพื่อลดต้นทุนทางการเงิน  รายงานประจำปี 2560 ของบีเจซีระบุว่า ค่าใช้จ่ายการเงินในงบฯรวม เท่ากับ4,528 ล้านบาท ลดลงลง 13.2% จากปีก่อนหน้าภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงช่วย คลายล็อกการเงินจากกู้เงินมาซื้อบิ๊กซีให้ บีเจซี   

กรณีกู้เงิน 2.2 แสนล้านบาทมา เทคโอเวอร์บิ๊กซี และปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้ที่มีต้นทุนต่ำกว่าเพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่ายในปีเดียวกัน รวมถึงการออกหุ้นกู้และกู้เงิน ของแอลเอสพีวีโดยใช้สต็อกเหล้าเป็นหลักประกัน คือตัวอย่างที่ยืนยันว่าเกมการเงิน ของ”เจ้าสัวเจริญ” นั้นไม่ธรรมดาจริงๆ

Avatar photo