Properties

เทียบนานาชาติคุมการซื้อที่อยู่อาศัย ‘เข้มกว่าไทย’

LTV3

ยังอยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สำหรับมาตรการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประกาศแนวทางเบื้องต้นมาตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2561 ผ่านมาแล้ว 1 สัปดาห์ความคืบหน้า หลังจากธปท.เปิดรับฟังความเห็นผ่านหน้าเว็บไซต์ ของธปท.ที่ www.bot.or.th และได้เชิญภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ มาตรการที่เหมาะสมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา

ฝ่ายเอกชนมีข้อเสนอให้เลื่อนมาตรการคุมคุมสินเชื่อบ้าน ที่บังคับว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 ต้องวางเงินดาวน์ 20% จากปกติที่ขายกันอยู่ด้วยสัญญาเงินดาวน์ 5-10% เท่านั้น และยังคุมเข้มสำหรับการปล่อยสินเชื่อทีอยู่อาศัยที่ราคาเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องวางดาวน์ไม่น้อยกว่า 20% เช่นเดียวกัน

จากเดิมธปท. ระบุไทม์ไลน์ว่า จะประกาศมาตรการนี้อย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2561 และจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2562 ภาคเอกชนขอเลื่อนไปบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2562 แทน

เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ธปท.เพียงแต่รับฟังข้อเสนอของเอกชนไปพิจารณา พร้อมขอเวลาในการตัดสินใจราว 2 สัปดาห์หลังจากนี้

LTV BOT

ก่อนที่ธปท.จะประกาศยืนยันมาตรการอย่างเป็นทางการ มาลองเปรียบเทียบมาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไร ในตลาดอสังหาฯ ของนานาประเทศ ซึ่งเขามีมาตรการที่เข้มข้นกว่าไทยมาก โดยเฉพาะหากดูที่ สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ LTV : Loan To Value ซึ่งของไทยธปท.กำหนดที่ 80% แต่ต่างชาติมีรายละเอียดต่างกัน ดังนี้

  • มาเลเซีย กำหนด LTV ที่ 60-70%
  • เกาหลีใต้ กำหนด LTV ที่ 30-70%
  • ฮ่องกง กำหนด LTV ที่ 30-60%
  • สิงคโปร์ กำหนด LTV ที่ 15-75%
  • อังกฤษ กำหนด LTV ที่ 80%
  • นิวซีแลนด์ กำหนด LTV ที่ 65-80%

LTV BOT2

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเข้มข้น ในการบังคับการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ควบคู่กันไปด้วย คือ

  • มาเลเซียห้ามพัฒนาในบางส่วน บางพื้นที่ๆ มีอุปทานเหลือขายมากๆ
  • สิงคโปร์  เรียกเก็บภาษีผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 ที่เป็นชาวสิงคโปร์แท้ๆ 12% ของราคาที่ซื้อ และการซื้อหลังที่ 3 ขึ้นไป เก็บ 15%
  • ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กีดกันไม่ให้ต่างชาติซื้อบ้าน

นอกจากนี้แต่ละประเทศ ยังมีรายละเอียดกำกับการซื้อที่อยู่อาศัยควบคู่กับมาตรการกำหนด LTV ประกอบด้วย

  • สิงคโปร์ กำหนดให้ต่างชาติซื้อบ้านได้ แต่ต้องเสียภาษี 20% ถ้าเป็นบริษัทมาซื้อต้องเสียภาษี 25% เพื่อป้องกันการเก็งกำไรโดยชาวต่างชาติ
  • มาเลเซีย กำหนดให้ราคาบ้านที่ซื้อได้ต้องเกิน 2 ล้านริงกิต (ประมาณ 16 ล้านบาทไทย) ไม่ใช่ให้ซื้อได้ทุกระดับราคา
  • ออสเตรเลีย ให้ต่างชาติซื้อได้แต่บ้านมือหนึ่ง ห้ามซื้อบ้านมือสอง เพื่อให้การคุ้มครองผู้ซื้อบ้านในประเทศ
  • นิวซีแลนด์ ยกเลิกการให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัย
  • ไต้หวัน ให้ต่างชาติโดยเฉพาะจีนซื้อได้ แต่มีมาตรการ 3-4-5 คือ ซื้อแล้วไม่อาจขายต่อได้ในระยะเวลา 3 ปีแรก ซื้อแล้วไปอยู่อาศัยในไต้หวันได้ไม่เกิน 4 เดือนต่อปี และกู้เงินในไต้หวันซื้อได้ไม่เกิน 50%

Avatar photo