Media

กสทช.ประมูลคลื่น 700 MHz ปี 62 จ่ายค่าตอบแทน ‘ทีวีดิจิทัล’

กสทช.แจงดึงคลื่นฯ 700 MHz  ประมูล หนุนนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” มุ่งสู่เทคโนโลยี 5G  พร้อมปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรทัศน์ จ่ายค่าตอบแทน “ทีวีดิจิทัล” เจ้าของคลื่นฯ  

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าจากการประกาศนโยบาย Thailand 4.0 หรือนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization หรือ Digital Transformation)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์
พ.อ.นที ศุกลรัตน์

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะทำให้เกิด Digital Transformation ก็คือการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสู่ยุคที่ 5 หรือ 5G โดยปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ก็คือทรัพยากรคลื่นความถี่

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้กำหนดให้คลื่นความถี่สำหรับ 5G มี 3 กลุ่มคือ กลุ่มคลื่นความถี่ต่ำ กลุ่มคลื่นความถี่กลาง และกลุ่มคลื่นความถี่สูง โดยกลุ่มความถี่กลางและสูงจะนำมาให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานสูง ในขณะที่การให้บริการในวงกว้างคลอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ต้องใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ โดย ITU กำหนดให้คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นความถี่หลัก

ดังนั้นคลื่นความถี่ 700 MHz จึงเป็นคลื่นความถี่สำคัญที่จะนำมาใช้ในกิจการ 5G  กสทช. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรใช้งาน เพื่อผลักดันการให้บริการ 5G

ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการ “ทีวีดิจิทัล” ทุกรายเป็นผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz เพื่อใช้ออกอากาศ ดังนั้นเพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรใช้สำหรับเทคโนโลยี 5G  กสทช.จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 27 (12/1) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) โดย “เรียกคืนคลื่นความถี่” จากผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล

โดยกฎหมายได้กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย

กสทช. ทีวีดิจิทัล

ดังนั้น กสทช. จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz (อนุกรรมการฯ) มาดำเนินการตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีการให้บริการ 5G โดยทั่วถึง

พ.อ.นที กล่าวว่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ตามขั้นตอนปกติ ต้องรอการเรียกคืนคลื่นความถี่ให้ครบถ้วนหลังปี 2563 และน่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้งานได้อย่างเร็วในปี 2565 ซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐ อนุกรรมการฯ จึงสร้างกระบวนการใหม่เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ได้ภายในปี 2563 เร็วกว่าเดิม 2 ปี  โดยคาดว่าช่วงกลางปี 2562 น่าจะมีการประมูลคลื่นฯ 700 MHz และใช้งาน 5G ได้ภายในปี 2563

อย่างไรก็ตามการเรียกคืนคลื่น 700 MHz  ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลใช้งานอยู่ในปัจจุบัน  จึงต้องกำหนดวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ คือช่องทีวีดิจิทัล รวมถึงการชดใช้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ (ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัล)

“กระบวนการดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นดังกล่าวอยู่ คือ ทีวีดิจิทัล และชดใช้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามนัยที่กฎหมายกำหนด ไม่ใช่การเยียวยาหรือช่วยเหลือกลุ่มโทรทัศน์แต่อย่างใด”

กสทช. ทีวีดิจิทัล

ทีวีดิจิทัลเสนอส่งเงินประมูลคลื่นฯ 700 เข้ากองทุนฯ

พ.อ.นที กล่าวว่าวันนี้ (6 ธ.ค.) คณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ได้ประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตามกฎหมายการเรียกคคืนคลื่นฯ 700 MHz  เพื่อรับฟังความคิดเห็นและหาข้อยุติในระดับอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอต่อ กสทช. ต่อไป

กลุ่มทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz จนสิ้นสุดใบอนุญาตปี 2572 ได้ยื่นข้อเสนอให้มีการจ่ายค่าตอบแทนโดยการนำเงินส่วนหนึ่งจากการประมูลส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนฯ) จำนวนเท่ากับที่ กสทช. ได้เคยนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิทัลส่งเป็นรายได้ของรัฐ

“เจตนาเดิมของกฎหมายคือให้นำเงินประมูลทีวีดิจิทัล ส่งเข้ากองทุนฯ เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนกิจการโทรทัศน์ แต่ กสทช. ได้นำเงินดังกล่าวส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน”

กสทช. ทีวีดิจิทัล

กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์(Mux) ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ ก็เสนอให้มีการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคตามแผนคลื่นความถี่ใหม่ที่ กสทช. ปรับปรุง รวมถึงการชดใช้ค่าเสียโอกาสให้แก่บางรายที่ได้รับผลกระทบในการให้บริการด้วย

ส่วนของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้งาน ก็ได้เสนอให้การประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz คำนึงถึงต้นทุนการให้บริการ ต้นทุนการประมูล และระยะเวลาการจ่ายงวดเงินการประมูลที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระจนเกินไป เนื่องจากถ้าผู้ประกอบกิจการนำเงินส่วนใหญ่มาจ่ายค่าประมูล ก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุน ส่งผลให้การให้บริการ 5G ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลักดันแนวนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ได้รับผลกระทบไปด้วย

กสทช. ทีวีดิจิทัล

ชงจ่ายค่าไลเซ่นส์ 2 งวด-ค่าเช่าโครงข่าย 

ทั้งนี้ การนำคลื่นฯ 700 MHz ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทีวีดิจิทัลมาประมูลบางส่วน สิ่งที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ต้องการค่าตอบแทน จากเงินประมูลที่ กสทช.ได้นำส่งเป็นรายได้รัฐ ซึ่งก่อนการประมูลได้กำหนดไว้แล้วว่า เงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัล ต้องนำส่งกองทุนฯ เพื่อนำกลับมาพัฒนากิจการโทรทัศน์

ผู้ประกอบการจึงต้องการให้ นำเงินประมูลคลื่นฯ 700 MHz ส่งกลับมาที่กองทุนฯ เพื่อนำมาพัฒนากิจการโทรทัศน์  โดยอนุกรรมการฯ จะต้องกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงิน เช่น นำมาสนับสนุนเงินค่าประมูล 2 งวดสุดท้าย, สนับสนุนค่าบริการโครงข่าย(Mux) และโครงข่ายมัสต์แคร์รี่ ตลอดระยะเวลาใบอนุญาตจนถึง ปี 2572 , สนับสนุนการสำรวจเรตติ้งระบบดิจิทัล  การกำหนดค่าตอบแทนจากการเรียกคืนคลื่นฯ ผู้ประกอบการทุกรายต้องได้รับอย่างเท่าเทียม  กรณีหากเป็นการสนับสนุนจ่ายค่าใบอนุญาต 2 งวดสุดท้าย ผู้ประกอบการที่จ่ายไปแล้วก็จะได้รับคืน

“การนำคลื่นฯ 700 MHz ซึ่งเป็นคลื่นฯของทีวีดิจิทัลไปประมูล เงินที่ได้กลับมาควรนำมาปรับโครงสร้างทีวีดิจิทัลทั้งระบบ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นฯ 700 MHz จะมีมูลค่าเท่าไหร่  แต่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจประมูลจากผู้ประกอบการโทรคมฯ”

กสทช. ทีวีดิจิทัล

ช่วง 5 ปีของทีวีดิจิทัลที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จในด้านการเปลี่ยนผ่านที่สมบูรณ์ จากการเรียกคืนคลื่นความถี่ได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน “ทีวีดิจิทัล”ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้ดี แต่การประกอบกิจการทีวีเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เรื่องระยะสั้น และต้องใช้เม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก อีกทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นข้อจำกัดให้อุตสาหกรรมทีวี ที่เป็นสื่อหลักของประเทศต้องได้รับการดูแล ถือเป็นการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรมที่ไม่ได้มุ่งช่วยเหลือใครคนใดคนหนึ่ง

Avatar photo