Media

‘FM’ ยังครองใจคนฟังวิทยุ ‘มิวสิคสตรีมมิ่ง’ มาแรงตามเทคโนโลยี

โครงการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการบริโภคสื่อของไทย ปี 2562 จัดทำโดยสำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสถาบันอาณาบริเวณศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีข้อมูลที่น่าสนใจถึงพฤติกรรมการรับฟังวิทยุของประชาชน

ผลการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ พบว่า มีผู้รับฟังสื่อทางเสียงที่รวมถึงการรับฟังรายการวิทยุ การฟังเพลงออนไลน์ และมิวสิคสตรีมมิ่ง (Music Streaming) จำนวน 55.6% หรือ 5,564 คน ขณะที่ 44.4% ไม่มีการรับฟังสื่อทางเสียง

girl 869213 960 720

พฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุทั่วประเทศ

จากการสำรวจพฤติกรรมการรับฟังรายการวิทยุพบว่า ผู้ฟังสื่อทางเสียงส่วนใหญ่ หรือ 65.7% ยังคงรับสื่อผ่านวิทยุ ขณะที่  34.3% ไม่รับฟังรายการวิทยุ โดยในกลุ่มผู้ที่รับฟังรายการวิทยุ 68.9% ยังนิยมรับฟังจากเครื่องรับวิทยุ ทั้งจากวิทยุในบ้าน วิทยุพกพา หรือวิทยุในรถยนต์ รองลงมา 19.3% รับฟังจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ตามด้วย 7.8% เป็นการรับฟังจากวิทยุที่อยู่ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ และแท็บเล็ต และ  0.3% เป็นการรับฟังผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากดีไวซ์ต่างๆ

ในส่วนของคลื่นที่ใช้รับฟังรายการวิทยุพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่ หรือ 85.9% รับฟังรายการวิทยุจากคลื่น FM ตามด้วยการรับฟังวิทยุออนไลน์ 17.5% และ รับฟังจากคลื่น AM อยู่ที่ 11.2% ส่วนช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้รับฟังวิทยุออนไลน์ คือ การฟังผ่านแอปพลิเคชั่น 65.9% ส่วนการการรับฟังผ่านเว็บไซต์มีเพียง 39.7%

2 9

 

ด้านสถานที่รับฟังรายการวิทยุนั้น ผลสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่ยังนิยมรับฟังรายการวิทยุจากที่บ้าน หรือพี่พักอาศัยในสัดส่วน 46.6% รองลงมาเป็นการรับฟังในขณะเดินทาง หรืออยู่บนรถ 41.7% ส่วนการรับฟังในที่ทำงานมีสัดส่วนเพียง 10.9% และคนส่วนใหญ่รับฟังรายการวิทยุระหว่าง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ในสัดส่วน 37.5% รองลงมาเป็นการรับฟังน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วน 36.9%

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ได้ใช้เวลามากนักไปกับการฟังรายการวิทยุ สะท้อนได้จากสัดส่วนที่มีผู้ฟังวิทยุเกินกว่า 6 ชั่วโมงต่อวันนั้นมีเพียง 3.1% เท่านั้น ขณะที่ช่วงเวลาในการรับฟังรายการวิทยุพบว่า ช่วงเช้าตั้งแต่ 06.01- 09.00 น. เป็นช่วงเวลาที่มีผู้ฟังรายการวิทยุมากที่สุดถึง 33.1% รองลงมาเป็นเวลา 09.01-12.00 น. สัดส่วน 21% ที่เหลือเป็นช่วงเวลา 15.01-18.00 น. สัดส่วน 9.5% และ ช่วงเวลากลางคืน 03.01-06.00 น. มีสัดส่วนผู้ฟังเพียง 1.8% เท่านั้น

สื่อทางเสียง1

 

เมื่อแยกผลการศึกษาประเภทของรายการที่นิยมรับฟัง ตามประเภทรายการที่แต่ละช่วงอายุของผู้ฟังตามเจเนอเรชั่นทั้ง 5 กลุ่มนั้น พบว่า วัย ในช่วงอายุต่างๆ มีผลต่อความนิยมรับฟังประเภทรายการอย่างชัดเจน

Generation G.I. ที่มีอายุ 76 ปีขึ้นไป จะนิยมรับฟังรายการประเภทข่าวมากที่สุด 26.7% รองลงมาเป็นกลุ่มรายการศาสนา 20.8% และรายการสาระ และรายการบันเทิงในสัดส่วนเท่ากันที่ 15.8% โดยที่กลุ่มนี้ให้ความสนใจรับฟังรายการข่าวจราจรน้อยที่สุด เพียง 6.7%

Baby Boomer ที่มีอายุ 57 -75 ปี และ GenX ช่วงอายุ 42 -56 ปี มีความคล้ายคลึงกันที่ นิยมรับฟังรายการข่าวมากที่สุด 26.8% และ 24% รองลงมาเป็นรายการบันเทิง 19.9% และ 22.4% เป็นกลุ่มรายการสาระ

GenY ในช่วงอายุ 24- 41 ปี และ GenX ที่มีอายุน้อยกว่า 23 ปี นิยมรับฟังรายการบันเทิงมากที่สุดในสัดส่วน 28.1% และ 27.9% รายการข่าว มาเป็นอันดับ 2 ในทั้งสองกลุ่ม ตามด้วยรายการสาระ

เจนรับฟัง

ทั้งนี้จะเห็นว่ากลุ่มรายการข่าว ได้รับความนิยมสูงในผู้สูงอายุ และได้รับความนิยมลดลงตามกลุ่มอายุที่ลดลง ส่วนรายการกลุ่มบันเทิงจะได้รับความนิยมในกลุ่มอายุน้อย และรายการศาสนาจะไม่ได้รับความนิยมใน GenY และ GenZ

พฤติกรรมการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น

ในปัจจุบันการฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น ข้อมูลจากการสำรวจแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ที่ฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งมีสัดส่วนสูงถึง 67.4% จากจำนวนผู้ฟังสื่อทางเสียงทั้งหมด โดยมีเพียง 32.6% เท่านั้นที่ไม่มีการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่ง

 

ความก้าวไกลทางเทคโนโลยี ทำให้ช่องทางการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งมีหลากหลายอุปกรณ์มากขึ้น อย่างไรก็ดีอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่ คิดเป็นสัดส่วนถึง 83.7% ตามมาด้วยการรับฟังจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน๊ตบุ๊ก แล็ปท็อป และคอมพิวเตอร์พกพา ในสัดส่วน 13.6% ในขณะที่การรับฟังผ่านทางแท็บเล็ตคิดเป็นสัดส่วน 2.2% และการรับฟังผ่านลำโพงอัจฉริยะ หรือ Smart Speaker มีเพียง 0.5% เท่านั้น

จากการสำรวจพบว่า ผู้ฟังส่วนใหญ่นิยมรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งในบ้านและที่พัก โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงสุด 61% รองลงมาเป็นการรับฟังในช่วงการเดินทาง 23.1% และการรับฟังในที่ทำงาน 13.8% ขณะที่ความถี่ในการรับฟังนั้น ผู้ฟังส่วนใหญ่ หรือ 37.9% รับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งเป็นประจำทุกวัน รองลงมาเป็นการรับฟัง 3-4 วันต่อสัปดาห์ 30.3% รับฟัง 1-2 วันต่อสัปดาห์ 19.6% และ 5-6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 12.2%

ฟังออนไลน์

 

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมของระยะเวลาการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งมีความคล้ายคลึงกับการรับฟังรายการวิทยุ โดยส่วนใหญ่รับฟังมากกว่า 1-2 ชั่วโมงต่อวัน อยู่ที่ 44.1% ตามด้วยการรับฟังน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน ในสัดส่วน 22.5% และการรับฟังมากกว่า 2- 4ชั่วโมงต่อวัน 21.3%

 

ขณะที่ช่วงเวลาในการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งมีความแตกต่างจากการรับฟังวิทยุปกติ กล่าวคือ การรับฟังวิทยุปกติจะเป็นการรับฟังในช่วงเวลาเช้าเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากเป็นการรับฟังรายการที่จัดตามโปรแกรมการออกอากาศในช่วงก่อนเริ่มงานประจำวัน แต่การฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งเป็นการรับฟังในช่วงเวลาหลังเลิกงานเป็นส่วนใหญ่

เมื่อสรุปข้อมูลจากการสำรวจครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การฟังสื่อทางเสียงผ่านออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสามารถเข้าถึงการบริการได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา และสามารถรับฟังได้จากอุปกรณ์พกพาเคลื่อนที่ เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่และแท็บเล็ต โดยการรับฟังเพลงออนไลน์และมิวสิคสตรีมมิ่งมักสะท้อนพฤติกรรมของประชากรอายุน้อยที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอุปกรณ์สื่อสารอยู่แล้วในปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากประชากรจำนวนไม่น้อยของประเทศไทยนั้น เป็นประชากรสูงอายุที่ยากต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การเข้าถึงสื่อผ่านช่องทางดั้งเดิมจึงยังมีความสำคัญอยู่ เช่น การรับฟังวิทยุ AM และ FMผ่านเครื่องรับวิทยุ เป็นต้น

Avatar photo