Marketing Trends

ท่องเที่ยวปี 63 ยัง ‘ฝ่าดงหนาม’ แนะใช้ เทคโนโลยี-ปรับรับนักเที่ยวเปลี่ยน

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านการท่องเที่ยว (Tourism Landscape) จะเห็นชัดขึ้นในปี 2563 ทำให้นักเดินทางทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคน เข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกถึง 416 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 โดยมีประเทศไทยเป็นปลายทางสำคัญ

ข้อมูลดังกล่าว ดูเหมือนว่าจะส่งผลบวกสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีนี้ แต่จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ กลับทำให้สถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในปีนี้ ยังไม่มีสัญญานการฟื้นตัวที่ชัดเจน ในทางกลับกัน หลายฝ่ายต่างคาดการณ์ว่า ภาพรวมปีนี้ จะใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ผ่านมา หรือกล่าวได้ว่าอยู่ในภาวะชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

1 10

หากมองภาพรวมในปี 2562 ตัวเลขจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ประเทศไทยน่าจะมีรายได้รวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.06 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% จากปี 2561 โดยแบ่งเป็น นักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.77 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 4% สร้างรายได้ประมาณ 1.96 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4% เช่นกัน

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหรือตลาดไทยเที่ยวไทย จะอยู่ที่ระดับ 167 ล้านคนครั้ง ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1% และสร้างรายได้มูลค่า1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%

ขณะที่ในปี 2563 นี้ ททท.ตั้งเป้าหมายว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเติบโตในระดับใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ผ่านมา โดยตลาดต่างประเทศคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 40.8 ล้านคน เติบโต 2.5%และสร้างรายได้ประมาณ 2.02 ล้านล้านบาท เติบโต 3% และหากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ปัจจัยลบคลี่คลาย อาจเพิ่มขึ้นได้ถึง 42 ล้านคน

ส่วนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ หรือไทยเที่ยวไทย คาดว่านักท่องเที่ยวชาวไทยจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศประมาณ 172 ล้านคนครั้ง เติบโต 3% เกิดการใช้จ่ายสร้างรายได้หมุนเวียนในประเทศไทยเป็นมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือเติบโต 5% ส่งผลให้เกิดรายได้รวม ประมาณ 3.18 ล้านล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 4%

2 4

“ตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี คือ ตลาดในกลุ่มประเทศใน CLMV, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, เกาหลี, ไต้หวัน, อินเดีย, สเปน, ยุโรปตะวันออก, อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา”นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดการณ์

นอกจากนี้ ยังมีหลายตลาดที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อาทิ จีน, สิงคโปร์ และตะวันออกกลาง ส่วนตลาดที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ได้แก่ ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ยุโรป, สแกนดิเนเวีย, ออสเตรเลีย และละตินอเมริกา

สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ยังได้เปิดเผยยอดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมืองปี 2562 พบว่า นักท่องเที่ยวจีนอยู่ที่ 3,125,705 คน ลดลง 2.07% จากปี 2561 อยู่ที่ 3,191,662 คน, นักท่องเที่ยวเวียดนาม 319,9923 คน ลดลง 1.38% จากปี 2561 อยู่ที่ 324,387 คน, นักท่องเที่ยวอินเดีย 279,171 คน เพิ่มขึ้น 3.65% จากปี 2561 อยู่ที่ 269,331 คน, นักท่องเที่ยวเกาหลี 221,268 คน ลดลง 11.51% จากปี 2561 อยู่ที่ 250,064 คน และ นักท่องเที่ยวญี่ปุน 175,850 คน ลดลง 4.18% จากปี 2561 อยู่ที่ 183,515 คน

ด้านนายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดการณ์ว่า ในปี 2563 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 40.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 2.73% จากปี 2562 นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 39.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.78% จากปี 2561 สร้างรายได้จำนวน 1.93 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.78% จากปี 2561 คาดว่าจะสร้างรายได้ 2.05 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.9% จากปี 2562 ที่มีรายได้ 1.93 ล้านล้านบาท

photograph 4091950 1280

“ปี 2563 นี้ คาดว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยน่าจะยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงเป็นปัญหา” นายชัยรัตน์กล่าว

ในส่วนของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยจะอยู่ที่ 40.5-40.9 ล้านคน ขยายตัวประมาณ 2%-3% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 6 ปี และจะเป็นการเติบโตเฉพาะบางตลาด โดยหลักจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะใกล้อย่างภูมิภาคเอเชีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป โอเชียเนียและตะวันออกกลาง ยังมีแนวโน้มที่ปรับลดลง

ในส่วนของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้อ กอปรกับเทรนด์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเพื่อประสบการณ์ใหม่ๆ มากกว่าการซื้อสินค้า การแข่งขันธุรกิจที่พัก วันพักที่สั้นลง รวมถึงนักท่องเที่ยวหลักส่วนใหญ่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ซึ่งมีผลทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยน่าจะมีมูลค่า 1.97 – 1.99 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% – 2.5% จากปี 2562

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ มีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ไม่ว่าจะเป็น เงินบาทที่แข็งค่า อัตราแลกเปลี่ยน ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวในระดับโลก รวมถึงในประเทศไทย รวมถึงกิจกรรมระดับโลก ที่อาจดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้หันสู่จุดหมายปลายทางอื่น ๆ เช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่ประเทศญี่ปุ่น, การจัดเวิลด์ เอ็กซ์โป 2020 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น

wat phra mahathat 956990 1280

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบเข้ามากระทบท่องเที่ยวไทย จนกล่าวได้ว่าเป็นปีแห่งความท้าทายครั้งใหญ่ แต่ก็ยังพอมีปัจจัยบวกให้เห็น เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาล 16 มาตรการ อาทิ การเพิ่มร้านค้าและจุดคืนภาษี (VAT refund), การขยายเวลาเปิดด่านชายแดนมาเลเซีย และลาว เป็น 24 ชั่วโมง ในช่วงวันหยุด, การขยายเวลามาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง (VOA) รวมถึงมีการขยายการเส้นทางบินใหม่หลายเส้นทาง

จากภาวะตลาดที่มีปัจจัยลบมากกว่าปัจจัยบวก ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ต้องเร่งปรับตัวรับมือ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ให้คำแนะนำว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญให้ผู้ประกอบการต้องนำมาใช้เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์

สำหรับ 5 นวัตกรรมสำคัญและจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2563 ที่น่าสนใจและควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แก่

  • AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) การนำเสนอข้อมูลเชิงเสมือนที่ผสมผสานกับโลกของความเป็นจริง โดย AR และ VR เป็นเทคโนโลยีที่หลายอุตสาหกรรมกำลังค้นหาวิธีใช้งาน ส่วนในวงการท่องเที่ยวได้เริ่มมีการประยุกต์ใช้ AR ทั้งการฉายภาพทิวทัศน์ในระบบ 3 มิติเพื่อให้ผู้บริโภคได้เห็นก่อนนำมาตัดสินใจในการเลือกเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เช่น ร้านอาหาร ที่พัก การนำมาใช้สำรวจการเปลี่ยนแปลงของสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ เป็นต้น

airport

  • บล็อกเชน เทคโนโลยีที่ช่วยสร้างความแม่นยำและปลอดภัยของข้อมูล โดยมีแนวคิดว่าบล็อกเชนอาจนำมาใช้กับการยืนยันตัวตนที่สนามบิน การชำระเงินในต่างประเทศ หรือความโปร่งใสของรีวิวจากนักท่องเที่ยว
  •  Recognition เทคโนโลยีเพื่อการจดจำ ทั้งการจดจำข้อมูลด้วยใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือดวงตา ซึ่งการจดจำข้อมูลของนักท่องเที่ยวนี้จะทำให้การบริการมีศักยภาพที่ดีขึ้น เช่น โรงแรม เลานจ์ หรือสายการบินสามารถใช้ข้อมูลนี้ เพื่อคัดกรองแขกประจำที่สามารถเข้าไปใช้บริการพื้นที่พิเศษ หรืออาจใช้เพื่อตรวจจับผู้โดยสารหรือแขกที่มักจะมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เพื่อให้พนักงานเตรียมรับมือได้ทัน
  • สมาร์ทโฟน จากปัจจุบันนักท่องเที่ยว 45% ใช้สมาร์ทโฟนดำเนินการทุกอย่างที่เกี่ยวกับแผนท่องเที่ยว เพื่อให้กิจกรรมต่างๆมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ทำให้สมาร์ทโฟนเป็นโจทย์ที่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางตอบสนอง เช่น ในระบบสายการบินควรจะมีบริการหรือแพลตฟอร์มที่ช่วยลดความยุ่งยากทางด้านเอกสาร บริการจองที่พักหรือร้านอาหารที่ต้องพัฒนาระบบจองคิว รวมทั้งแอพพลิเคชั่นนำเที่ยวที่ต้องมีการให้ข้อมูลเชิงลึกผ่านภาพ วิดีโอ หรือข้อความ
  • ผู้ช่วยเสมือนอัจฉริยะ ซึ่งจะมีความคล้ายคลึงกับ Siri หรือ Alexa แต่เป็นผู้ช่วยที่ฝึกฝนมาเพื่อช่วยเหลือหรือให้ประสบการณ์เฉพาะเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวว่าสามารถท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกสบาย มีความปลอดภัย และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

เมื่อผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว ต้องเผชิญความท้าทายและฝ่าปัจจัยลบที่เกิดขึ้น นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุน การเจาะตลาดในประเทศที่มีแนวโน้มเที่ยวไทยสูงขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี อินเดีย และลูกค้าจีนที่ยังเป็นกลุ่มหลัก เป็นต้น

Avatar photo