Marketing Trends

10 ข่าวเด่น ‘แวดวงธุรกิจ’ ปี 2562 ดีลซื้อกิจการอาหารเครื่องดื่มสุดคึก

จบปี 2562 พร้อมกับภาพรวมธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และยังไร้สัญญานบวกที่ชัดเจนสำหรับปี 2563 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจรอบปี 2562 กลับคึกคักไม่น้อย โดยเฉพาะการเปิดดีลเทคโอเวอร์ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจากยักษ์ใหญ่หลายราย มาดู 10 ข่าวเด่นในรอบปีที่เราคัดเลือกมาให้แล้ว ดังนี้

0001

1. ยักษ์ใหญ่ไล่เทคโอเวอร์ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม

เริ่มตั้งแต่ต้นปี และถือเป็นข่าวใหญ่ประจำปี มูลค่าดีลสูงที่สุดในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในรอบปี เมื่อกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ โดยบริษัทในเครือ คอฟฟี่ คอนเซ็ปต์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างเอฟแอนด์เอ็น รีเทล และ แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ เข้าซื้อกิจการร้าน “สตาร์บัคส์” ในประเทศไทยที่มีถึง 372 สาขา มูลค่าดีลสูงถึง 1.57 หมื่นล้านบาท

ต่อด้วยยักษ์ใหญ่วงการอาหาร เอ็มเคสุกี้ ที่ปิดดีลกว่า 2,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ “แหลมเจริญ ซีฟู้ด” เพื่อต่อยอดสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจอาหาร และอีกดีลใหญ่ไม่แพ้กันคือ ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ทุ่มงบกว่า 2,000 ล้านบาท เข้าลงทุนในชิคเก้น ไทม์ เจ้าของแฟรนไชส์ร้านอาหารเกาหลี ที่มีไก่เป็นซิกเนเจอร์ แบรนด์ “บอนชอน” ในเมืองไทย

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) ทุ่มงบกว่า 110 ล้านบาท เข้าถือหุ้นพีดีเอส โฮลดิ้ง ในเครือ ใบหยกเจ้าของสัญญาแฟรนไชส์หลัก ร้านคาเฟ่และขนมหวาน “GRAM” และ “PABLO” จากประเทศญี่ปุ่น, บริษัท ฟู้ดแพสชัน เจ้าของร้านอาหารบาร์บีคิว พลาซ่า, สเปรด คิว, จุ่ม แซ่บ ฮัท ที่เข้าซื้อกิจการ “เรดซัน” ร้านอาหารสไตล์เกาหลี เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจร้านอาหารในเครือ

ฝั่งค่ายสิงห์ ก็ไม่น้อยหน้าค่ายช้าง ส่ง ฟู้ด แฟคเตอร์ ที่ประกาศเดินหน้าธุรกิจอาหารเต็มสูบ เข้าซื้อกิจการ “ซานตาเฟ่ สเต็ก” บริษัท เคที เรสทัวรองท์ (KT) เพื่อเรียนรู้การบริหารธุรกิจร้านอาหารที่มีจำนวนสาขามาก สำหรับรองรับการขยายธุรกิจอาหารของ ฟู้ด แฟคเตอร์ในอนาคต

GO

2. ค้าปลีกไทยแห่ลงทุนนอก เวียดนามเนื้อหอม

ปี 2562 นับเป็นปีที่เห็นกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่เมืองไทย ออกไปลงทุนต่างประเทศชัดเจนขึ้น จากเดิมที่มีกลุ่มเซ็นทรัลเพียงรายเดียว ที่ออกไปสร้างชื่อห้างไทยในต่างแดน

สำหรับปีนี้ กลุ่มเซ็นทรัลประกาศทุ่มงบ 8,000 ล้านบาท โดยเป็นงบที่จะใช้ใน 3 ปีนับจากนี้ เพื่อรีโนเวตห้างของเซ็นทรัลในยุโรป ได้แก่ ลารินาเซนเต้ อิตาลี, คาเดเว ในกรุงเบอร์ลิน, โอเบอร์พอลลิงเกอร์ ในมิวนิก และอัลสเตอร์เฮาส์ ในฮัมบูร์ก เยอรมนี และอิลลุม เดนมาร์ก

นอกจากนี้ ยังเดินหน้ารุกตลาดเวียดนาม ซึ่งจะเป็นหัวหอกหลักในการสร้างรายได้ในตลาดอาเซียน โดยในปีนี้ ได้เปิดศูนย์การค้าแห่งใหม่ “GO!” ที่เมืองหมีถ่อ จังหวัดเตี่ยนซาง พร้อมวางเป้าหมายให้เป็นศูนย์การค้าเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง

ตามมาด้วย บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่ปีนี้รุกคืบเปิดสาขาที่ ปอยเปต ประเทศกัมพูชา และเป็นสาขาแรกนอกประเทศไทยของบิ๊กซีด้วย โดยพัฒนาเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท มี คาดว่าในปีแรกจะมีรายได้ประมาณ 250 ล้านบาท และเติบโตเฉลี่ย 5-6% ต่อปี

ห้างแม็คโคร ในเครือซีพี ก็เป็นค้าปลีกอีกรายที่ขยายสาขาในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมี สาขาต่างประเทศ 5 แห่ง ประกอบด้วย กัมพูชา 2 สาขา และอินเดีย 3 สาขา ส่วนปีนี้ได้เปิดสาขาที่ประเทศจีน และจะเปิดสาขาที่ประเทศเมียนมาต่อไป

Crossroads

3. สิงห์เอสเตท กับเมกะโปรเจ็คมัลดีฟส์ 22,000 ล้านบาท

ถือเป็นเมกะโปรเจ็คของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไทย ที่ไปผงาดในต่างประเทศ ด้วยมูลค่าการลงทุนสูงถึงกว่า 22,000 ล้านบาท สำหรับโครงการ “ครอสโร้ดส์” (CROSSROADS) โดยบริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาโครงการแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนครบวงจร ที่ประเทศมัลดีฟส์

โครงการครอสโร้ดส์ ประกอบด้วยหมู่เกาะสร้างใหม่จำนวน 9 เกาะ ภายใต้แนวคิด “หนึ่งเกาะต่อหนึ่งรีสอร์ท” โดยแต่ละเกาะจะนำเสนอประสบการณ์พักผ่อนสไตล์รีสอร์ทแตกต่างไป แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกบนเกาะ 2 เกาะ เริ่มเปิดในปีนี้ครั้งแรก โดยเกาะแรก เป็นที่ตั้งของโรงแรมแบรนด์ดังระดับโลก 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมซาย ลากูน มัลดีฟส์ คูริโอ คอลเล็กชั่น บาย ฮิลตัน และ โรงแรมฮาร์ด ร็อค โฮเทล มัลดีฟส์ ส่วนเกาะที่สองเป็นที่ตั้งของ โรงแรมฮาร์ด ร็อค โฮเทล มัลดีฟส์

สำหรับเฟสที่ 2 ประกอบด้วยการก่อสร้างเกาะใหม่อีก 6 เกาะ คาดว่าจะเปิดได้ทั้งหมดภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

1 5

4.เซ็นทรัล วิลเลจ พิพาท ทอท.ยันวันเปิดบริการวันแรก

การเปิดให้บริการ เซ็นทรัล วิลเลจ โดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ที่วางตำแหน่งเป็นเอาท์เล็ตหรู เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ซึ่งกว่าเซ็นทรัล วิลเลจจะเปิดบริการได้ ก็สะดุดตอชิ้นใหญ่ เมื่อ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ทักท้วงว่า โครงการดังกล่าว รุกล้ำพื้นที่ราชพัสดุ และรุกล้ำพื้นที่สนามบิน โดยทางเข้าเชื่อมโครงการเพื่อการพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต จนมาซึ่งการตั้งแท่งแบริเออร์ ปิดทางเข้าออก

เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ซีพีเอ็น ออกมายืนยันว่า การดำเนินการทุกขั้นตอนของโครงการเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ พร้อมทั้งร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว  ท้ายที่สุด จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม  2562 ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย ดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวางใดๆ ออกไปจากเขตทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 บริเวณทางเข้า-ออกหน้าโครงการเซ็นทรัลฯ และยุติการดำเนินการใดๆ อันเป็นการขัดขวาง รบกวน หรือก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการใช้ประโยชน์ในโครงการดังกล่าว

sale 3701777 1280

5.รัฐออกแรงกระตุ้นอสังหาฯ ลดค่าโอน-จดจำนอง

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือ LTV ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2562 เพื่อป้องกันความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ จนส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึมเซาต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเสียงเรียกร้องจากฝั่งเอกชนเพื่อให้ออกมาตรการช่วยกระตุ้นให้ตลาดฟื้นตัวกลับมา

จากนั้น ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 จึงมีมติอนุมัติมาตรการลดภาระภาษีเพื่อที่อยู่อาศัย โดยลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ  0.01% รวมทั้งลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดิน พร้อมอาคารหรือห้องชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ต่อหน่วย และการจดทะเบียนการโอน และการจดจำนองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคาร สงเคราะห์ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จะสนับสนุนสินเชื่อ ที่อยู่อาศัยในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ และเงื่อนไข ผ่อนปรน ให้แก่ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วยอีกด้วย

แม้ว่าจะมีมาตรการดังกล่าวออกมา แต่คาดว่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมอสังหาริมทรัพย์น้อยมาก เนื่องจากออกมาช่วงไตรมาสที่ 4 แต่ยอดขาย 3 ไตรมาสของภาพรวมตลาดติดลบไปแล้ว จึงต้องจับตาดูว่า มาตรการต่างๆ เหล่านี้จะเป็นสัญญานบวกให้ภาพรวมตลาดกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2563 หรือไม่

สำเพ็ง2

6.ทุนจีนยึด ‘สำเพ็ง’ ขายตัดราคาทั้งออนไลน์-หน้าร้าน

หลังจากเกิดกระแสข่าวแพร่บนโลกออนไลน์ว่า ตลาดขายส่งเก่าแก่ อย่าง “สำเพ็ง” เงียบเหงาที่สุดในรอบ 50 ปี ร้านค้าต้องทยอยปิดตัวเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว เนื่องจากค่าเช่าที่สำเพ็งถือว่าสูงมาก หรือหลักแสนบาทต่อเดือน จนหวั่นเกรงว่าตลาดเก่าแก่อาจต้องสูญสลายหายไป

แต่เรื่องที่น่าตกใจยิ่งกว่า คือ แม้จะมีร้านค้าปิดตัวไป แต่ก็มีรายใหม่เข้ามาเช่าต่อ โดยเฉพาะคนจีนที่เข้ามาเช่าหน้าร้านมากขึ้น จนกล่าวได้ว่า ตอนนี้ร้านค้าในสำเพ็งมีคนจีนเข้ามาเช่ามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเป็นการเข้ามาเช่าเพื่อนำสินค้าจากจีนเข้ามาขายในราคาถูก ทั้งหน้าร้านและขายออนไลน์ ยิ่งทำให้พ่อค้าแม่ค้าคนไทยที่ขายของประเภทเดียวกันอยู่ได้ยากขึ้นไปอีก เพราะขายตัดราคาถูกมาก

ทั้งหมดนี้ สะท้อนได้ว่า ภาพของตลาดสำเพ็งจะเปลี่ยนไปแน่นอน นอกจากจะเงียบเหงาลงที่ไม่ว่าจะเป็นเพราะเศรษฐกิจแย่ หรือหน้าฝนคนไม่เดินก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พ่อค้าแม่ค้าคนจีนที่ทำท่าจะเข้ามายึดทำเลสำเพ็ง เพื่อใช้ชื่อ สำเพ็งที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งค้าส่งขึ้นชื่อ เป็นที่รู้จัก แล้วนำสินค้าจากจีนเข้ามาขายตัดราคา ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ต่อไปจะเหลือพ่อค้าแม่ค้าคนไทยยืนหยัดอยู่ได้มากน้อยขนาดไหน

ศุภชัย เจียรวนนท์

 7.“ศุภชัย เจียรวนนท์” นั่งประธานกรรมการทรู คอร์ปอเรชั่น

นับเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ของ กลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อ ทรู คอร์ปอเรชั่น แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท  เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 รับทราบการลาออกของกรรมการบริษัท 2 ท่าน คือนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2562 พร้อมแต่งตั้ง นายศุภชัย เจียรวนนท์ ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2562

การแต่งตั้งดังกล่าว ส่งผลให้ นายศุภชัย ควบทั้งตำแหน่งเดิมคือ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเมื่อต้นปี 2560 ตามด้วยตำแหน่ง ประธานกรรมการ ทรู คอร์ปอเรชั่น ตามมติล่าสุด และถือเป็นการขึ้นกุมบังเหียนเครือซีพีอย่างชัดเจน

ศุภชัย เจียรวนนท์ เปิดใจว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าว เป็นไปตามที่ได้มีการวางแผนการสืบทอดตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะขณะนี้กลุ่มทรูมีความแข็งแกร่งทั้งด้านการเงิน สินค้าบริการ คุณภาพและความครอบคลุมของเครือข่าย และมีความพร้อมอย่างเต็มที่ที่จะเติบโตและก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

ที่สำคัญคือ การดำรงตำแหน่งทั้ง ประธานคณะกรรมการ กลุ่มทรูฯ และ  ประธานคณะผู้บริหาร ซีพี จะทำให้สามารถสนับสนุนและเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจระหว่างกลุ่มทรูกับธุรกิจในเครือซีพีให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  จะเป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มทรูในอนาคตต่อไป

นพพล2 1

8.เบนซ์ ok 20 หลอกลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์

จากธุรกิจที่เป็นความหวังของแฟรนไชซี ร้าน “โอเค 20” (ok 20) ของนายนพพล บุญโชคยิ่ง หรือที่รู้จักกันในนาม “เบนซ์ ok 20 อายุน้อยร้อยล้าน” เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ok 20 กลายเป็นการทำลายความหวัง เมื่อผู้เสียหายนับ 10 ราย ที่เข้าร้องทุกข์ เบนซ์ ok 20 ข้อหาฉ้อโกง หลอกให้ร่วมลงทุนทำธุรกิจ แต่กลับไม่ได้สินค้าหรือผลตอบแทนตามที่ลงกันไว้ จนเกิดความเสียหาย และมีผู้เสียหายรวมทั้งหมดมากกว่า 50 ราย

สำหรับ นายนพพล บุญโชคยิ่ง หรือ “เบนซ์ เถ้าแก่น้อยร้อยล้าน” จากการทำธุรกิจแฟรนไชส์ร้าน “ok 20” จำหน่ายสินค้าราคา 20 บาททุกอย่าง ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุเพียง 23 ปี มีจำนวนสาขากว่า 500 สาขาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตั้งใจจะขยายสาขาธุรกิจร้าน ok 20 ให้ถึง 1,000 สาขา เหมือนเซเว่นอีเลฟเว่นที่ไปได้ทุกที่ทั่วไทย

นอกจากประเทศไทย ร้าน ok 20 ยังขยายแฟรนไชส์ไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว 60 สาขา แบ่งเป็นประเทศพม่า 30 สาขา ประเทศลาว 30 สาขา

ทีวีดิจิทัล

9.ปิด 7 ช่องทีวีดิจิทัล กสทช.จ่ายชดเชย 2,932 ล้าน

สำนักงาน กสทช. สรุปการคืนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล รวมจำนวน 7 ช่อง ได้แก่

1. บริษัท สปริง 26 จำกัด (หมายเลขช่อง 26 หรือช่อง NOW เดิม) ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 675,764,580.43 บาท

2. บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (หมายเลขช่อง 19 หรือช่อง Spring News) จำนวนเงินค่าชดเชยสุทธิ 500,951,978.91 บาท

3. บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (หมายเลขช่อง 20) ค่าชดเชยสุทธิจำนวน 371,983,430.95 บาท

4. บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด (หมายเลขช่อง 21) เหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 378,054,170.42 บาท

5. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (หมายเลขช่อง 14 หรือช่อง MCOT Family) เหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 163,298,367.32 บาท

6. บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (หมายเลขช่อง 28 หรือ ช่อง 3SD) คงเหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 680,083,695.45 บาท

7. บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด (หมายเลขช่อง 13 หรือ ช่อง 3 Family) เหลือเงินค่าชดเชยสุทธิจำนวน 162,543,837.27 บาท

การคืนใบอนุญาตของ 7 ช่องทีวีดิจิทัลดังกล่าว ส่งผลให้ หลังจากที่ทีวีดิจิตอล 7 ช่องขอคืนใบอนุญาตวันนี้ ส่งผลให้ ช่องฟรีทีวีประเภทธุรกิจ (ช่องเด็ก + ช่องข่าว + ช่อง SD + ช่อง HD) จะเหลือรวมกันเพียง 15 ช่องจากจำนวนเต็ม 24 ช่องที่ได้มีการประมูลใบอนุญาตกันไปตั้งแต่ปี 2556

ทศ 1

10. เซ็นทรัลรีเทลปรับใหญ่ เดินหน้าเข้าตลาดฯ

ถือเป็นหนึ่งข่าวใหญ่ในวงการค้าปลีก เมื่อ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซีอาร์ซี) ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมุ่งระดมทุนจากการเข้าตลาดฯ เพื่อนำมาใช้สำหรับการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

การปรับโครงสร้างของซีอาร์ซี ส่งผลให้เกิดการแปรสภาพจากธุรกิจครอบครัวมาตลอด 72 ปี สู่บริษัทมหาชนเต็มตัว หลังจากเริ่มทยอยปรับโครงสร้างองค์กรมากว่า 3 ปี

ปัจจุบัน ซีอาร์ซี ได้ขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีห้างสรรพสินค้า และร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกรวม 1,922 ร้านค้า ใน 51 จังหวัดทั่วประเทศไทย และมีห้างสรรพสินค้าในประเทศอิตาลี 9 แห่ง และในเวียดนาม 133 ร้านค้าใน 40 จังหวัดของเวียดนาม

ใน 9 เดือนแรกที่ผ่านมา ซีอาร์ซีมีรายได้รวม 159,506 ล้านบาท ขณะที่ปี 2561 มีรายได้รวม 240,297 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 8% ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไปตามเป้าหมาย

Avatar photo