Marketing Trends

‘BAM’ ชู 3 กลยุทธ์บริหารสินทรัพย์ ‘แก้หนี้เสีย-ระบายทรัพย์รอขาย’

BAM ย้ำจุดแข็งผู้นำธุรกิจบริหารสินทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของไทย เปิด 3 ยุทธศาสตร์สร้างโอกาสทางธุรกิจอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพ และทรัพย์สินรอการขาย เดินหน้าระดมทุนเพิ่มเครื่องมือทางการเงินให้หลากหลาย ล่าสุดกำทรัพย์สินรอการขายสุทธิ 21,731.04 ล้านบาท

คุณทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ
ทองอุไร ลิ้มปิติ

นางทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.8% ประกอบกับราคาประเมินที่ดินล่าสุดในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยโดยภาพรวมทั้งประเทศที่ 27.7% ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากการบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ของประเทศไทย

ทั้งนี้ BAM ได้กำหนด 3 ยุทธศาสตร์หลักที่จะสานต่อการเติบโตในอนาคต และเพิ่มความแข็งแกร่งให้องค์กร ได้แก่ 1. การขยายฐานทรัพย์สิน โดยมีการติดตามการขาย NPLs และ NPAs อย่างใกล้ชิด เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายสินทรัพย์ และ คัดเลือกสินทรัพย์ ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถบริหารต้นทุนการได้มาซึ่งสินทรัพย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การที่มีสาขาทั่วประเทศ มีพนักงานที่มีประสบการณ์สูงและมีความเข้าใจในตลาดอย่างดี ทำให้บริษัทสามารถประเมินศักยภาพและราคาทรัพย์ได้แม่นยำ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ลดระยะเวลาการดำเนินงานเพื่อสร้างรายได้ให้เร็วขึ้น ด้วยการให้ความสำคัญกับการเจรจากับลูกหนี้ การปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และการให้ลูกหนี้ผ่อนชำระหนี้ตามกำลังที่มี รวมถึงการให้ความสำคัญกับการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ ตลอดจนการทำตลาดเชิงรุกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เว็บไซต์ และช่องทางโซเชียลมีเดีย และ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาคนเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร

นอกจากนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา BAM ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมจำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท

การเข้าระดมทุนครั้งนี้ ได้วางเป้าหมายจะนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจโดยซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและทรัพย์สินรอการขายในอนาคต ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และ/หรือชำระหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทฯ และ/หรือตั๋วเงินจ่ายที่ถึงกำหนด และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินงาน ทำให้บริษัทสามารถระดมทุนและเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบสถาบันการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านผลการดำเนินงานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาท มีสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปี มีเครือข่ายทั่วประเทศมากที่สุดรวม 26 แห่ง มีทีมงานประสบการณ์สูง และปัจจัยที่สำคัญคือ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์มีโอกาสในทุกภาวะเศรษฐกิจ โดยในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทสามารถเลือกซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้ในต้นทุนที่เหมาะสม และในช่วงภาวะเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ลูกหนี้ของบริษัทก็มีศักยภาพในการชำระหนี้ และลูกค้ามีกำลังซื้อทรัพย์สินรอการขาย เป็นการสร้างรายได้ให้กับบริษัทอย่างต่อเนื่องในทุกภาวะเศรษฐกิจ

นับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทได้ปิดบัญชีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้ (NPLs) ซึ่งคำนวณจากมูลค่าต้นทุนการซื้อไปแล้วเป็นจำนวน 90,562.65 ล้านบาท โดยสามารถเรียกเก็บเงินสดได้จำนวน 122,931.74 ล้านบาท โดยในปี 2561 BAM มีกำไรสุทธิรวมที่ 5,202.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.58 จากปี 2560

ขณะที่ในปี 2561 บริษัทมีเงินสดรับจากธุรกิจ NPLs และ NPAs รวม 16,569.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,515.74 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.59% มีกำไรสุทธิรวม 5,202.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 4,500.82 หรือเพิ่มขึ้น 15.58% ซึ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 มีเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้สุทธิ (NPLs) จำนวน 74,482.33 ล้านบาท ซึ่งหลักประกันของลูกหนี้ดังกล่าวมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน 187,875.26 ล้านบาท และมีทรัพย์สินรอการขายสุทธิ (NPAs) 21,731.04 ล้านบาท โดยมีมูลค่าอิงตามราคาประเมิน1 50,287.17 ล้านบาท

Avatar photo