Marketing Trends

ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแมลง ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

เบทาโกรจับมือมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแมลงจริงจัง เปิดโรงเรือนต้นแบบศึกษาวิจัยแมลงกินขยะอินทรีย์ เพื่อขจัดขยะจากโรงงานแปรรูปอาหาร ต่อยอดเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงผลิตอาหารสัตว์

3Z5A3763 1re

นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกร ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิด “โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม” แห่งแรกของประเทศไทย เพื่อเพาะเลี้ยงแมลงกินขยะอินทรีย์ (Black Soldier Fly) สำหรับขจัดขยะอินทรีย์ สร้างนวัตกรรมอุตสาหกรรมแมลง และพัฒนาเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่หมวดแมลงอุตสาหกรรม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โครงการดังกล่าว เป็นการดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีองค์ความรู้สูงทางด้านแมลง เนื่องจากกระบวนการผลิตในฟาร์ม โรงงานต่างๆ ของ เบทาโกร มีขยะอินทรีย์ซึ่งใช้วิธีกำจัดด้วยการฝังกลบ สามารถนำมาให้ตัวหนอนแมลงกำจัดได้ นอกจากช่วยควบคุมสิ่งแวดล้อมแล้ว จะต่อยอดผลิตเป็นแหล่งโปรตีนสูง เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ และพัฒนาประโยชน์ด้านอื่นในอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้ถือเป็นครั้งแรกของไทยในการนำ Black Soldier Fly มาเลี้ยงนับล้านๆ ตัว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ถือเป็น Circular Economy หรือการดำเนินธุรกิจหมุนเวียนด้วยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้กลับไปเป็นทรัพยากรที่มีค่าในกระบวนการผลิต ซึ่งคาดว่าจะขยายผลไปสร้างโรงเรือน ทั่วประเทศต่อไป

3Z5A3769 1re

สำหรับ Black Soldier Fly เป็นแมลงดีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่นำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช มีวงจรชีวิตเพียง 1 เดือน เมื่อออกไข่เกิดเป็นตัวหนอนจะกินขยะอินทรีย์ มูลสุกร ช่วยลดปริมาณขยะ (สัดส่วน: การขจัดขยะอินทรีย์ 1 กิโลกรัม ใช้หนอนอายุ 5 วัน จำนวน 1,000 ตัว ในเวลา 18-20 วัน) ช่วงเป็นตัวดักแด้ก่อนเจริญเติบโตเป็นแมลงเต็มวัยเป็นช่วงที่มีมูลค่าทางโปรตีนสูง นำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ได้ ส่วนมูลนำไปทำเป็นปุ๋ย นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาถึงส่วนประกอบของดักแด้ซึ่งมีสารประกอบบางอย่างที่สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าต่อได้

โรงเรือนต้นแบบวิจัยและผลิตแมลงอุตสาหกรรม เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยกองทุนเพื่อสนับสนุนการลงทุนเชิงพาณิชย์ ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2560 ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562 มีกำลังการผลิตตัวหนอนแมลงกินขยะอินทรีย์ 3,000,000 ตัวต่อเดือน เมื่อใช้โรงเรือนเต็มกำลังการผลิตจะผลิตตัวหนอนได้ถึง 6,000,000 ตัวต่อเดือน

Avatar photo